ปรมัตถ์แห่งการพลี สดุดีอาชูรอ version ๖๒ มัจญลิสอิมามฮูเซน (อ.) บทที่ ๓/๑
ค่ำที่ ๕ มุฮัรรอม ฮ.ศ. ๑๔๔๑ (๔ กันยายน ๒๕๖๒)บรรยายโดย ฮุจญตุลอิสลาม ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี
ถอดบทความโดย วราภรณ์(ซัยหนับ) บินตี นาบาวี
อัลฮัมดุลิลลาฮ์ ก่อนอื่นขอชุโกรในเนี๊ยะมัตและเตาฟีกแห่งเดือนมูฮัรรอมุลฮารอม เดือนที่ยิ่งใหญ่ที่เอกองค์อัลลอฮ์(ซบ)ได้ประทานให้กับพวกเราทุกๆคน ได้รับเตาฟีกและประสบความสำเร็จในการเข้าร่วมรำลึกถึงวีรกรรมอันยิ่งใหญ่นี้
🌍 วจนะท่านอิมามอะลี (อ.) เกี่ยวกับวีรกรรมแห่งกัรบาลาอฺ
ท่านอิมามอะลี(อ) กล่าวว่า หลังจากวีรกรรมแห่งกัรบาลาอฺ วีรกรรมแห่งอาชูรอนี้แล้ว จะไม่มีวีรกรรมใดมาเทียบเคียงหรือเสมอเหมือนได้ ทั้งก่อนหน้านี้ และ หลังจากนี้ไปจนถึงวันกิยามัต ก็จะไม่มีวีรกรรมใดๆที่จะเทียบเคียงกับวีรกรรมแห่งกัรบาลาอฺได้
อย่างไรก็ดี ถ้าจะมีวีรกรรมใดเกิดขึ้น หากเป็นวีรกรรมที่ดี นั่นหมายความว่า วีรกรรมนั้น ได้ลอกเลียนแบบมาจากวีรกรรมแห่งกัรบาลาอฺ แต่ทั้งนี้ขอย้ำอีกครั้งว่า ถึงแม้วีรกรรมนั้นจะยิ่งใหญ่ขนาดไหน ก็ไม่มีวันเสมอเหมือนวีรกรรมแห่งกัรบาลาอฺ
ความจริง เกี่ยวกับเรื่องนี้ เราได้อรรถาธิบายไปแล้วใน ๒ มัจญลิสที่ผ่านมาว่า วีรกรรมแห่งกัรบาลาอฺ ไม่ใช่วีรกรรมแห่งชะรีอัตเพียงอย่างเดียว แต่เป็นวีรกรรมแห่งความรัก
ทว่า ‘ชะรีอัต’ คือ บันไดหนึ่งเพื่อจะก้าวไปสู่ความรักที่สมบูรณ์ ซึ่งสูงสุดในศาสนา ไม่ว่าจะเป็นอิหม่าน,ตักวา หรือศรัทธาอะไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ล้วน คือ บันไดที่จะไปถึงจุดสูงสุดของการนับถือศาสนานั่นเอง
🔴 จุดสูงสุดของการนับถือศาสนา คือ ความรัก
จุดสูงสุดของการนับถือศาสนา ก็คือ การไปถึงซึ่งความรัก แต่ในความรักก็มีระดับขั้นความเข้มข้นที่แตกต่างกัน ซึ่งมาตรวัดความเข้มข้นนั้น เบื้องต้นเริ่มจากการมีความรักในศาสนาแบบฮุบ ( حب ) เมื่อมนุษย์รักมากยิ่งขึ้น เขาก็จะพัฒนาจากฮุบขึ้นมาเป็นความรักแบบเอชกฺ( عشق ) และพัฒนาความเข้มข้นจนไปถึงขั้นสูงสุดของศาสนา ที่เรียกว่า ความรักแบบมะวัดดะฮ์ ( مودة )
เบื้องต้น รักแบบฮุบ ( حب )➡️ พัฒนาเป็นความรักแบบเอชกฺ( عشق )➡️ พัฒนาไปถึงขั้นสูงสุดของศาสนา คือ ความรักแบบมะวัดดะฮ์ ( مودة )
ดังนั้น ด้วยกับบริบทนี้ ขอให้พี่น้องเหล่าศรัทธาชนทำความคุ้นเคย และทำความรู้จักกับความรักแบบเอชกฺ( عشق ) เป็นความรักขั้นที่ ๒ ซึ่งคนที่มีความรักขั้นนี้ เขาจะเรียกว่า ‘อาชิก’ และสุดท้ายความเข้มข้นของ ‘อาชิก’ และของเอชกฺก็จะนำมนุษย์เข้าสู่มะวัดดะฮ์
กรณี ‘มะวัดดะฮ์’ ( مودة )เราได้อรรถาธิบายไปแล้วในมัจญลิสบทที่ ๒ ว่า ในทางภาษา ไม่มีนิยามที่ดีที่สุดที่จะให้คำจำกัดความ คำว่า ‘มะวัดดะฮ์’ได้ แต่ทั้งนี้สามารถศึกษา‘มะวัดดะฮ์’ เพียงช่องทางเดียวเท่านั้น นั่นก็คือ ‘วีรกรรมแห่งกัรบาลาอฺ’
แน่นอนว่า เมื่อเราดูวีรกรรมแล้ว เราก็จะเข้าใจคำว่า ‘เอชกฺ’ และ ‘มะวัดดะฮ์’ ตรงนี้ต้องการชี้ว่า ศาสนานี้เริ่มด้วยความรัก
จริงๆแล้วในอัลกุรอานมีมากมายที่อัลลอฮ์(ซบ) เชิญชวนมนุษย์เข้าสู่ความรัก แต่ความรักที่พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานสั่งใช้นั้น พระองค์ทรงใช้บันไดแรกของมัน คือให้มนุษย์มีฮุบก่อน และเมื่อมนุษย์มีฮุบอย่างแท้จริงแล้ว เขาก็จะค่อยพัฒนาไปเป็นเอชกฺ และจุดสุดท้ายของความรักนี้ ก็คือ มะวัดดะฮ์
ทีนี้ เรามาศึกษาอัลกุรอานที่เปิดอ่านในมัจญลิสนี้ จริงๆแล้วโองการว่าด้วยความรักมีหลายโองการ แต่วันนี้ขอเลือกอธิบาย 1-2 โองการเพื่อให้ทุกคนทำความเข้าใจ ซึ่งสูงสุดของศาสนาคือ การนับถืออย่างมีความรักในศาสนา ดังนั้น อะไรก็ตาม หากเกิดเป็นความรักแล้วอะไรก็หยุดยั้งเขาไม่ได้
🔻 ตัวอย่าง การคลุมฮิญาบด้วยความรัก
สมมุติ สตรีของเรา รักที่จะคลุมฮิญาบ เบื้องต้นฮิญาบเป็นหน้าที่ทางศาสนา (เป็นชะรีอัต ) แต่ถ้าเขาคลุมด้วยความรักแล้ว นั่นแสดงถึง เขาพร้อมที่จะต่อสู้กับสิ่งกีดขวางทั้งหมด
นี่คือ การเข้าใจความรักทางศาสนาในรูปแบบการมีความรักในฮิญาบ ไม่ใช่คลุมฮิญาบตามหน้าที่ จริงอยู่ในเบื้องต้นต้องคลุมตามหน้าที่ แต่การคลุมตามหน้าที่นั้น ยังไม่แน่นอนว่า เมื่อถูกทดสอบแล้วจะปลิวหรือยังอยู่ แต่เมื่อใดที่ความรักในฮิญาบเกิดขึ้นแล้ว อะไรก็เปลี่ยนแปลงเขาไม่ได้
ความจริงแล้ว บททดสอบประเด็นฮิญาบนั้น เรามีเรื่องเล่าหลายต่อหลายเรื่อง เช่น บางคนยอมไม่ทำงาน ยอมปฏิเสธเงินเดือน หมื่น-สองหมื่น หรือหากมีคนเสนอเงินเดือนสูง(จะเท่าไหร่ก็แล้วแต่) หากมีการตั้งเงื่อนไขว่า การจะได้เงินเดือนขนาดนั้นต้องปลดฮิญาบแต่เมื่อใดที่เขาก็พร้อมที่จะหันหลังให้เงินเดือนก้อนนั้น เพื่อรักษาฮิญาบ นั่นแสดงว่า ความรักในฮิญาบของเขาเกิดขึ้นแล้ว
🔻 ตัวอย่าง การนมาซด้วยความรัก
สมมุติ คนที่นมาซ เราคงไม่ต้องพูดถึงคนที่ขาดนมาซฟัรฎู เพราะคนประเภทนี้ดูต่ำต้อยเกินไปที่จะเอามาสาธยายประเด็นความรักในหนทางของศาสนา แต่เราจะชี้ไปที่ คนที่นมาซตะฮัจญุด เมื่อความรักเกิดขึ้นกับนมาซตะฮัจญุดแล้ว อะไรก็เปลี่ยนแปลงเขาไม่ได้ อะไรก็มากีดขวางเขาไม่ได้
แม้นจริงอยู่การนมาซตะฮัจญุดไม่ได้เป็นวาญิบ ซึ่งเราเคยเห็นท่านอิมามโคมัยนี(รฎ) ในห้วงอยู่บนเตียงผ่าตัด ถึงขั้นแขนขาของท่านเกือบจะขยับไม่ได้ แต่เพราะความรักในตะฮัจญุดของท่านนั้นเกิดขึ้นแล้ว ครั้นเมื่อถึงเวลานมาซตะฮัจญุดของท่าน ท่านก็นอนนมาซตะฮัจญุดบนเตียง ตรงนี้เพื่อจะชี้ว่า อะไรก็ขวางความรักนี้ไม่ได้
หากจะกล่าวโดยสรุป วิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ “ความรักทางศาสนา” จะครอบคลุมทุกอย่าง ทั้งความยุติธรรม,ความเมตตา การรักการบริจาค หรืออะไรก็ตาม หากเกิดความรักในคำสั่งสอนของศาสนาแล้ว อะไรก็เปลี่ยนแปลงเขาไม่ได้
🔴 สถานภาพและความประเสริฐของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์-อัซซะรอ(สลามุลลอฮฯ)
🔻 ตัวอย่าง การบริจาคด้วยความรัก
จริงๆแล้ว พวกเราเป็นกันมากที่บางครั้งถ้าบริจาค หรือบางครั้งถ้ามีส่วนร่วมในด้านอื่นๆก็ทำตามหน้าที่เพียงเท่านั้น แต่พึงรู้เถิดว่า การบริจาคหรือการมีส่วนร่วมเพื่อทำตามหน้าที่นั้นไม่สามารถยืนหยัดอยู่กับเราตลอดไปได้
ทว่า เมื่อใดเรามีความรัก มีความพึงพอใจ หรือมาด้วยหัวใจในการบริจาค หรือ การช่วยเหลือคนอื่น หรือมีความรักในความยุติธรรมแล้ว ชีวิตก็เปี่ยมด้วยความสุข และหลังจากนั้นอะไรๆก็มาเปลี่ยนแปลงเราไม่ได้ เพราะการทำในสิ่งที่รักจะทำให้เราทุ่มเทความเป็นเราทั้งหมดให้กับสิ่งนั้น ไม่ว่าหัวใจ กำลัง เวลา สติปัญญา ความรู้ ความสามารถ รวมทั้งเงินทอง
ซึ่งแท้จริงแล้ว ปรัชญา“การบริจาคด้วยความรัก” สัจธรรมนี้ ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์-อัซซะฮฺรอ(สลามุลลอฮฯ) คือ แบบอย่างที่สูงสุดของการบริจาค ซึ่งทุกคนสามารถศึกษาได้จากเรื่องราวของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์-อัซซะรอ(สลามุลลอฮฯ) เมื่อครั้งที่ท่านหญิงได้บริจาคอาหารแก่ผู้ยากไร้ เด็กกำพร้า และเชลยศึก
จริงๆแล้วในห้วงนั้น ครอบครัวของท่านหญิงมีความทุกข์เข็ญและขาดแคลนอย่างหนัก ซึ่งแม้แต่อาหารที่จะเข้าปากอยู่แล้ว แต่ทั้งท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(สลามุลลอฮฯ) ทั้งอิมามอะลี(อ) อิมามฮะซัน(อ)และอิมามฮูเซน(อ) ได้เสียสละอาหารทั้งหมดเพื่อให้คนอื่นได้กิน ในขณะที่พวกท่านเองกลับไม่มีอาหารที่จะละศีลอดเป็นเวลาสามคืนติดต่อกัน
สมมติ หากเป็นเราที่ต้องเลือกระหว่าง เราจะกินเองหรือเราจะบริจาคให้ผู้อื่น ซึ่งถ้าเราบริจาคแปลว่า สภาวะในวันนั้นเราไม่ได้กินในมื้อนั้นด้วย
ทว่ากรณีครอบครัวท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(สลามุลลอฮฯ)ด้วยกับจุดสูงสุดของการนับถือศาสนาของพวกท่าน คือ ความรัก จึงทำให้เราได้เห็นเสี้ยวหนึ่งของความรักในด้านการบริจาคของพวกท่าน
โดยในโองการนี้ อัลกุรอาน เอาคำว่า รักมาใช้ ซึ่งเมื่อคนที่รับบริจาคจากตระกูลนี้ (หมายถึง จากท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(สลามุลลอฮฯ)และ จากอิมามอะลี(อ))
พวกเขาจึงถามว่า จะให้ขอบคุณและกล่าวตอบแทนอะไรได้บ้างในการบริจาคครั้งนี้ อันได้รับการตีแผ่ไว้ในซูเราะฮ์ อัดดะฮ์ริ (อัล-อินซาน)
🔻 ซูเราะฮ์อัล-อินซาน โองการ 9
——————
إِنَّمَا نُطْعِمُكُمْ لِوَجْهِ اللَّهِ لَا نُرِيدُ مِنكُمْ جَزَاءً وَلَا شُكُورًا
(พวกเขากล่าวว่า) แท้จริงเราให้อาหารแก่พวกท่าน โดยหวังความโปรดปรานของอัลลอฮฺ เรามิได้หวังการตอบแทนและการขอบคุณจากพวกท่านแต่ประการใด
คำอธิบาย : ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(สลามุลลอฮฯ) ตอบว่า “نُطْعِمُكُمْ لِوَجْهِ اللَّهِ” (นุฏอิมุกุม ลีวัจฮิลลาฮฺ) เราบริจาคเพื่อพระพักตร์ของอัลลอฮ์(ซบ)
“لَا نُرِيدُ مِنكُمْ جَزَاءً وَلَا شُكُورًا”
(ลานุรีดุมินกุม ญะซาอัน วะลาชุกูรอ) มิได้หวังการตอบแทนและการขอบคุณจากพวกท่านแต่ประการใด
คำถาม : ทำไมท่านหญิงตอบเช่นนี้
คำตอบ : อายะฮ์ก่อนหน้านี้ในซูเราะฮ์อินซานตอบว่า
🔻 ซูเราะฮ์อัลอินซาน โองการ 8
——————
“وَيُطْعِمُونَ الطَّعَامَ عَلَىٰ حُبِّهِ مِسْكِينًا وَيَتِيمًا وَأَسِيرًا”
และพวกเขาให้อาหารเนื่องด้วยความรักต่อพระองค์ แก่คนยากจน เด็กกำพร้าและเชลยศึก
คำอธิบาย : อัลลอฮ์(ซบ) ทรงตรัสว่า
“وَيُطْعِمُونَ الطَّعَامَ عَلَىٰ حُبِّهِ”
(วะยุฏอิมู นัฏฏออามา อะลา ฮุบบิฮี) และพวกเขาได้บริจาคอาหาร
คำว่า “عَلَىٰ حُبِّهِ” (อะลา ฮุบบิฮี) อะเล็มอุลามาอฺนขั้นสูงสุดทางด้านการตัฟซีร กล่าวว่า “อะลาฮุบบิฮี” นี้ แปลว่า ด้วยความรักในการบริจาค
ความหมายข้างต้น บ่งบอกถึง ศาสนานี้ต้องนับถือด้วยความรัก คือ ต้องสร้างความรักให้เกิดขึ้นก่อน ซึ่งแน่นอนว่า ก่อนที่ความรักในคำสั่งสอนจะเกิดขึ้น เราต้องปฏิบัติตามคำสั่งสอนและปฏิบัติตามชะรีอัตก่อน
ทีนี้มาศึกษาความรักขั้นพื้นฐาน สมมติว่า เมื่อผู้ใดมีความรักในเรื่องนมาซฟัรฎูประจำวันก็เช่นกัน อะไรก็หยุดเขาไม่ได้ แม้เขาจะป่วย ถึงขั้นอาบน้ำละหมาดไม่ได้ เขาก็จะทำตะยัมมุมแทน หรือหากเขายืนไม่ได้เขาก็จะนั่ง คือ เขาจะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้นมาซฟัรฎูนั่นเอง
จริงอยู่การยกตัวอย่าง นมาซฟัรฎู อาจมีความรู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ จริงๆแล้วต้องยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจที่ลึกซึ้งกว่า นั่นก็คือ การนมาซซุนนะฮ์ หรือ นมาซมุสตะฮับ
คำว่า ‘มุสตะฮับ’ แปลว่า สิ่งที่ทำแล้วอัลลอฮ์รัก หรือ สิ่งที่เรียกร้องความรักจากอัลลอฮ์(ซบ)
อินชาอัลลอฮฺ ในมัจญลิสมูฮัรรอมปีนี้ ขอให้ทุกคนสัมผัสกับความรักของศาสนาให้ได้ ตามที่กล่าวไปแล้วว่า “จุดสูงสุดของศาสนานั้นเริ่มต้นที่ความรัก” ดั่งโองการที่เราได้อ่านตอนเปิดมัจญลิส
🔻 ซูเราะฮ์อัล อิมรอน โองการที่ 31
——————
قُلْ إِن كُنتُمْ تُحِبُّونَ اللَّهَ فَاتَّبِعُونِي يُحْبِبْكُمُ اللَّهُ وَيَغْفِرْ لَكُمْ ذُنُوبَكُمْ ۗ وَاللَّهُ غَفُورٌ رَّحِيمٌ
จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) ว่า หากพวกท่านรักอัลลอฮ์ ก็จงปฏิบัติตามฉัน อัลลอฮ์ก็จะทรงรักพวกท่าน และจะทรงอภัยให้แก่พวกท่านซึ่งโทษทั้งหลายของพวกท่าน และอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ
หมายเหตุ : โองการข้างต้น คือ โองการที่ท่านซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี อ่านตอนเปิดมัจญลิซ
🔴 วิถีแห่งผู้ศรัทธา
🔻 ซูเราะฮ์อัล อิมรอน โองการที่ 31
——————
قُلْ إِن كُنتُمْ تُحِبُّونَ اللَّهَ فَاتَّبِعُونِي
(กุลอินกุนตุม ตุฮิบบู นัลลอฮุ ฟัตตะบีอูวนี ) ความว่า จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) ว่า หากพวกท่านรักอัลลอฮ์ ก็จงปฏิบัติตามฉัน
คำอธิบาย : อัลลอฮ์(ซบ)ทรงตรัสกับท่านนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ)ว่า “قُلْ” จงประกาศให้พวกเขาทราบ (บอกให้สาวกของท่านได้รับรู้)
การที่อัลลอฮ์(ซบ) ให้นบีพูด ก็คือพระองค์พูด แต่ในโองการพระองค์ให้นบีพูดแทนพระองค์
“إِن كُنتُمْ تُحِبُّونَ اللَّهَ فَاتَّبِعُونِي”
(อินกุนตุม ตุฮิบบู นัลลอ ฮาฟัตตะบิอูนี) มูฮัมมัด บอกพวกเขาว่า ถ้าพวกเจ้ารักอัลลอฮ์จริง จงปฏิบัติตามฉัน
คำอธิบาย : เป็นการพิสูจน์ความรักของเจ้าที่มีต่ออัลลอฮ์ ด้วยการปฏิบัติตามฉัน ซึ่งคำว่า “ซุนนะฮ์” หมายถึง การปฏิบัติตามนบีมุฮัมมัด(ศ็อลฯ)
ดังนั้น ถ้าเจ้ายังปฏิบัติตามนบีไม่ได้ หรือ ยังไม่สามารถที่จะปฏิบัติตามคำสั่งสอนของนบีได้ คำตอบก็จะออกมาเป็นมุมกลับ นั่นแสดงว่า เจ้ายังไม่ได้รักอัลลอฮ์ แต่ถ้าเจ้ารักอัลลอฮ์อย่างแท้จริง แน่นอนเจ้าสามารถปฏิบัติตามฉันได้
เฉกเช่นกัน เมื่อเรารักอัลลอฮ์ อัลลอฮ์ก็จะรักเรา และคนที่อัลลอฮ์รักนั้น แน่นอนไม่มีอะไรที่ต้องเป็นห่วงอีกแล้ว แต่ปัญหาคือ เราทำให้อัลลอฮ์รักแล้วหรือยัง การดำเนินชีวิตของเราตรงตามที่อัลลอฮ์(ซบ)สั่งใช้แล้วหรือไม่ เรากดขี่ข่มเหงรังแกเพื่อนมนุษย์หรือไม่
หากถามว่า การกดขี่ข่มเหงรังแกเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ อัลลอฮ์รักไหม แน่นอนทุกคนตอบได้ว่าพระองค์ไม่มีวันรัก ดังนั้นแล้ว ถ้าจะใช้มาตรวัดว่า เรามีความรักต่ออัลลอฮ์แล้วหรือยัง เราต้องวัดในทุกๆเรื่องของชีวิต เราปฏิบัติตามคำสั่งของพระองค์ดีแค่ไหน หากเราได้คำตอบว่า เรารักอัลลอฮ์อย่างแท้จริง มั่นใจได้เลยว่า
“يُحْبِبْكُمُ اللَّهُ”
(ยุฮฺ บิบกุมุลลอฮ์) อัลลอฮ์ตรัสว่า ฉันก็รักพวกเจ้า
คำอธิบาย : เมื่ออัลลอฮ์รักเราแล้ว แน่นอนมรรคผลจากการรักของอัลลอฮ์นั้น มีมากมายมหาศาล และที่ยิ่งกว่าในโองการนี้ ยังบอกอีกว่า ถ้าอัลลอฮ์รักเราแล้ว
وَيَغْفِرْ لَكُمْ ذُنُوبَكُمْ ۗ
(วะยัฆ ฟิรละกุม ซุนูบะกุม) และพระองค์จะทรงอภัยในความผิดบาปต่างๆแก่พวกเจ้า
“وَاللَّهُ غَفُورٌ رَّحِيمٌ”
(วัลลอฮุ ฆอฟู รุรรอฮีม) และให้รู้เถิดว่า พระองค์นั้น เป็นผู้ทรงอภัยยิ่ง ผู้ทรงเมตตายิ่ง
นี่คือ ความรักเบื้องต้น ที่ยกจากโองการหนึ่งที่มีอยู่ในอัลกุรอานที่อธิบายถึงความสำคัญในเรื่องความรัก
เพื่อชี้ว่า การปฏิบัติภารกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สำคัญในศาสนาก็เช่นเดียวกัน เบื้องต้นต้องการความรักในอัลลอฮ์ และต้องการความรักจากอัลลอฮ์มายังเรา
หมายเหตุ : โองการข้างต้น คือ อยู่ในซูเราะฮ์อัล อิมรอน โองการที่ 31
—————–
قُلْ إِن كُنتُمْ تُحِبُّونَ اللَّهَ فَاتَّبِعُونِي يُحْبِبْكُمُ اللَّهُ وَيَغْفِرْ لَكُمْ ذُنُوبَكُمْ ۗ وَاللَّهُ غَفُورٌ رَّحِيمٌ
จงกล่าวเถิด(มุฮัมมัด) ว่า หากพวกท่านรักอัลลอฮ์ ก็จงปฏิบัติตามฉัน อัลลอฮ์ก็จะทรงรักพวกท่าน และจะทรงอภัยให้แก่พวกท่านซึ่งโทษทั้งหลายของพวกท่าน และอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ
สำหรับพี่น้องที่สนใจ เพื่อจะท่องจำและทบทวนตัฟซีรตัวตนอยู่ตลอดเวลา อาทิ
– เรามีความรักต่อศาสนาแล้วหรือยัง
– เรามีความรักต่ออัลลอฮ์แล้วหรือยัง
-เรามีความรักต่อท่านนบีแล้วหรือยัง
– เรามีความรักต่ออะฮ์ลุลเบตแล้วหรือยัง
อนึ่ง เพื่อให้เห็นถึงอานุภาพของความรัก โดยเฉพาะอานุภาพของคนที่รักอัลลอฮ์ และอัลลอฮ์รักเขา จะขออธิบายสั้นๆอีกสักหนึ่งโองการ
🔻 ซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 54
——————
يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا مَن يَرْتَدَّ مِنكُمْ عَن دِينِهِ فَسَوْفَ يَأْتِي اللَّهُ بِقَوْمٍ يُحِبُّهُمْ وَيُحِبُّونَهُ أَذِلَّةٍ عَلَى الْمُؤْمِنِينَ أَعِزَّةٍ عَلَى الْكَافِرِينَ يُجَاهِدُونَ فِي سَبِيلِ اللَّهِ وَلَا يَخَافُونَ لَوْمَةَ لَائِمٍ ۚ ذَٰلِكَ فَضْلُ اللَّهِ يُؤْتِيهِ مَن يَشَاءُ ۚ وَاللَّهُ وَاسِعٌ عَلِيمٌ
บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! ผู้ใดในหมู่พวกเจ้ากลับออกจากศาสนาของพวกเขาไป อัลลอฮ์ ก็จะทรงนำมาซึ่งพวกหนึ่ง ที่พระองค์ทรงรักพวกเขาและพวกเขาก็รักพระองค์ เป็นผู้นอบน้อมถ่อมตนต่อบรรดามุมิน แต่แข็งกร้าว(เด็ดเดี่ยว)ต่อบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา พวกเขาจะเสียสละและต่อสู้ในทางของอัลลอฮ์ และไม่กลัวการตำหนิของผู้ตำหนิคนใด นั่นคือความโปรดปรานของอัลลอฮ์ ซึ่งพระองค์จะทรงประทานมันแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงกว้างขวาง ผู้ทรงรอบรู้
คำอธิบาย : เราจะไม่ขอตัฟซีร แต่จะยกในสิ่งเอกองค์อัลลอฮ์(ซบ)ได้ตรัสกับบรรดาผู้ศรัทธา ว่า
“أَعُوْذُ بِاللهِ مِنَ الشَّيْطَانِ الرَّجِيْمِ”
ข้าฯขอความคุ้มครองจากอัลลอฮฺ ผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้ ให้พ้นจากชัยฏอนมารร้ายที่ถูกสาปแช่ง
“يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا”
โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย
“مَن يَرْتَدَّ مِنكُمْ عَن دِينِهِ”
(มัยยัร ตัดดะ มินกุม อันดีนิฮี) ผู้ใดในหมู่พวกเจ้าหันเท้ากลับออกจากศาสนา ถ้าตามรากศัพท์เดิม หมายถึง ใครก็ตามที่มุรตัด ซึ่ง คำว่า “มุรตัด”ตรงนี้ไม่ได้แปลว่า การลาออกจากศาสนาไปเป็นกาเฟร
ทว่า ‘มุรตัด’ในที่นี้ หมายถึง มุรตัดจากคำสั่งสอน คือ ‘หันเท้ากลับ’ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งสอน ถอยหลัง รวมทั้งยอมแพ้ หรือ ถ้าพวกเจ้าอ่อนแอ ท้อถอย ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งศาสนาแล้ว
ประโยคต่อมา
“فَسَوْفَ يَأْتِي اللَّهُ بِقَوْمٍ”
(ฟะเซา ฟะยะตีลลาฮฺ บิเกามิน) อัลลอฮ์(ซบ)ไม่ได้ตกใจ อัลลอฮ์ไม่ได้เป็นห่วงหรือกังวลในเรื่องนี้ เพราะทันทีที่พวกเจ้าหันกลับ พระองค์จะทดแทนพวกเจ้าด้วยประชาชาติอื่น
ดังนั้น พึงสังวรณ์ อย่านึกว่า เรามีบุญคุณต่อศาสนา ไม่ว่า เราจะเผยแพร่ เราจะตับลีฆ เราจะบริจาค หรือเราจะทำอะไรก็ตาม ต้องตระหนักและท่องไว้อย่างเดียวว่า เราไม่มีบุญคุณอะไรต่อศาสนาเลย แต่ศาสนาต่างหากที่มีบุญคุณกับเรา
ข้อสังเกตุ : การพิจารณาประโยค เมื่ออัลลอฮ์ตรัสว่า ถ้าพวกเจ้าเปลี่ยนแปลง เราก็เปลี่ยนประชาชาติใหม่ ซึ่งประชาชาติในโองการนี้ หมายถึงชาวอิหร่าน ทว่าในภาพรวม หมายถึงทุกคน
เป้าหมายจะชี้ว่า ที่อัลลอฮ(ซบ) เจาะจงหมายถึง ประชาชาติอิหร่าน ซึ่งประชาชาติเหล่านี้ที่พระองค์จะสร้างมาทดแทนนั้น คุณลักษณะเบื้องต้นของพวกเขา คือ
“يُحِبُّهُمْ وَيُحِبُّونَهُ”
(ยุฮิบบุฮุม วะยุฮิบนะฮฺ)
สำหรับพวกเขา ที่อัลลอฮรักพวกเขา และพวกเขาก็รักอัลลอฮ์นั้น ด้วยกับคุณลักษณะบุคลิกภาพที่สำคัญและยิ่งใหญ่ ซึ่งบริบทนี้ชี้ไปที่ประชาชาติใหม่ที่อัลลอฮ์ทรงสร้างมาทดแทนนั้นเป็นเพราะพวกเขาเริ่มต้นกันด้วยความรัก
ดังนั้น เมื่อพวกเขาเป็นกลุ่มชนที่รักอัลลอฮ์ และเป็นกลุ่มชนที่อัลลอฮ์รัก ต่อมาพระองค์จึงอรรถาธิบายคุณลักษณะอื่นๆของพวกเขา ที่มีอยู่ในโองการที่ 54 ซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ตามมา
🌍 คุณลักษณะ ‘กลุ่มชน’ ที่รักอัลลอฮ์และอัลลอฮ์รักพวกเขา
ประการที่ ๑. พวกเขาเป็นผู้นอบน้อมถ่อมตนต่อบรรดาผู้ศรัทธา
ประการที่ ๒. พวกเขาเป็นผู้แข็งกร้าวและเด็ดเดี่ยวต่อบรรดาพวกกาเฟร(ผู้ปฏิเสธศรัทธา)
ประการที่ ๓ พวกเขา คือ ผู้เสียสละและต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์เป็นเนืองนิจ
ประการที่ ๔ พวกเขาไม่กลัวการตำหนิจากผู้ใดทั้งสิ้น
หมายเหตุ : คุณลักษณะของผู้ศรัทธามีมาก แต่กรณี ๔ ประการนี้ ต้องการบอกถึง ความสำคัญของผู้ศรัทธาที่ถูกระบุในโองการที่ ๕๔ ซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์
▪️➡️ ประการที่ ๑. พวกเขาเป็นผู้นอบน้อมถ่อมตนต่อบรรดาผู้ศรัทธา
“أَذِلَّةٍ عَلَى الْمُؤْمِنِينَ”
พวกเขาเป็น (อะซิลละติน อะลัลมุมินีน) คนที่รักอัลลอฮ์และอัลลอฮ์รักเขานั้น เขาเป็นคนที่นอบน้อมถ่อมตนต่อผู้ศรัทธา
คำอธิบาย : คนเราจะยิ่งใหญ่ขนาดไหน จะอยู่ในวงตระกูลที่ร่ำรวย หรือจะอยู่ในสายตระกูลใดก็ตาม สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่มาตรวัดความยิ่งใหญ่ เพราะในทัศนะของอัลลอฮ(ซบ) ความยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง คือ “อะซิลละติน อะลัลมุมินีน” เขาจะต้องนอบน้อมถ่อมตน
เพราะ คำว่า “أَذِلَّةٍ” ถ้าแปลในความหมายเดิมของมัน หมายความว่า สำหรับมุมินนั้น เขามีโอกาส หรือพร้อมที่จะอัปยศด้วย ดังนั้น ในอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นใคร เขาไม่มีสิทธิ์อ้างว่า เราเป็นใคร ยิ่งใหญ่อย่างนั้น อย่างนี้
บทสรุป คำว่า “أَذِلَّةٍ” แปลว่า นอบน้อมถ่อมตน และความหมายโดยรวมของ “อะซิลละติน อะลัลมุมินีน” ก็คือ คุณลักษณะหนึ่งของคนที่นับถือศาสนา ที่เขารักอัลลอฮ์และอัลลอฮ์ก็รักพวกเขา
▪️➡️ ประการที่ ๒. พวกเขาเป็นผู้แข็งกร้าว และเด็ดเดี่ยวต่อบรรดาพวกกาเฟร(ผู้ปฏิเสธศรัทธา)
“أَعِزَّةٍ عَلَى الْكَافِرِينَ”
คำอธิบาย : “อะอิซซะติน อะลัลกาฟิรีน” พวกเขา คือ แข็งกร้าวและเด็ดเดี่ยวกับบรรดาพวกกาเฟร เขาไม่มีวันยอม ไม่ว่าใครจะข่มขู่ จะเข่นฆ่า หรือจะอะไรก็ตาม พวกเขาไม่ยอมจะสิโรราบให้อย่างเด็ดขาด
คำถาม : ทำไมพวกเขาถึงยืนหยัดและเข้มแข็งแบบนี้ได้
คำตอบ : เพราะเขารักอัลลอฮ์ ด้วยเหตุผลนี้ อัลลอฮ์จึงรักเขา เมื่ออัลลอฮ์รักเขา อัลลอฮ์จึงนำทางเขาไปในทางที่ถูกต้อง
นี่คุณลักษณะประการที่ ๒ หลังจากที่พวกเขามีความรักในศาสนา
▪️➡️ ประการที่ ๓ พวกเขา คือ ผู้เสียสละและต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์เป็นเนืองนิจ
“يُجَاهِدُونَ فِي سَبِيلِ اللَّهِ”
คำอธิบาย : หลังจากนั้น พวกเขา คือ “ยูญา ฮิดู นะฟี ซะบีลิลลาฮฺ” และบุคคลประเภทนี้จะญิฮาด(ต่อสู้)เป็นเนืองนิจ(ตลอดเวลา)ในหนทางของอัลลอฮ์ ซึ่งชี้ถึง คนที่รักอัลลอฮ์ และอัลลอฮ์รักเขานั้น เขาคือ นักต่อสู้อย่างแท้จริง
ในทางกลับกัน คนที่ขี้ขลาดหวาดหลัว ไม่กล้าเสียสละ ไม่กล้าต่อสู้ บุคคลประเภทนี้ คือ คนที่ยังไม่ได้รักอัลลอฮ์ เมื่อเขายังไม่ได้รักอัลลอฮ์ อัลลอฮ์ก็ไม่รักเขา
ดังนั้น เมื่ออัลลอฮ์ไม่รักเขา เขาก็ไม่มีความกล้าหาญ และไม่มีจิตสำนึกพอที่เสียสละ และต่อสู้ในหนทางของพระองค์ แต่เมื่อใดที่เขาพัฒนาตัวตนไปเป็นบุคคลที่รักอัลลอฮ์สำเร็จ อัลลอฮ์ก็จะรักเขา แน่นอนเขาสามารถที่จะ “ยูญา ฮิดู นะฟี ซะบีลิลลาฮฺ” (ต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์ตลอดเวลา)
คำว่า “ตลอดเวลา” ภาษาอาหรับ มาจากคำว่า “يُجَاهِدُو” ซึ่งหากเป็นภาษาฟาร์ซี นักเรียนศาสนา เรียกว่า
“فل مضارع استمراری”
(เฟล มูฎอเรียะ อิสติมรอรี) แปลว่า มีคนทำ และกำลังทำอยู่อย่างต่อเนื่อง และยังไม่จบ หรือถ้าจะแปลเป็นภาษาอังกฤษ ก็คือ Future continuous tense (กระทำอยู่ตลอดเวลา)
ทีนี้ มาดูความหมาย คําว่า ‘มุญาฮิดีน’ ภาษาอาหรับ แปลว่า ความพยายาม การต่อสู้ งานหนัก เหน็ดเหนื่อย
คำว่า ‘มุญาฮิด’ แปลว่า ผู้ต่อสู้ ผู้ต่อสู้เพื่ออิสรภาพหรือนักรบ
คำว่า มุญาฮิดีน เป็นคำพหูพจน์ของมุญาฮิด คือ ผู้ต่อสู้หรือนักรบหลายคน
ด้วยเหตุนี้ คำว่า “มุญาฮิดีน” จึงเกี่ยวข้องกับคำว่าญิฮาด
คำว่า ‘ญิฮาด’ เป็นการกระทำมุญาฮิด (หรือมุญาฮิดีน) คือ ผู้กระทำ ผู้ต่อสู้ในศาสนา
หากจะกล่าวโดยสรุป คำว่า ‘มูญาฮีดีน’ จึงหมายถึง การต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์อย่างต่อเนื่องไม่มีวันหยุด เพื่อชี้ว่า มุญาฮีดีนที่แท้จริง ไม่ว่าเขาจะจับหรือขยับทำเรื่องอะไร ตลอดเวลาของเขา คือ การต่อสู้ในหนทางของศาสนา
🔻 ตัวอย่าง การเป็นมุญาฮีดีนที่แท้จริง
ทุกการขยับ ทุกการเคลื่อนไหวของเขา คือ การต่อสู้ในศาสนา เช่น ถ้าเขาจับโทรศัพท์ขึ้นมา เขาก็จะใช้ประโยชน์จากการเล่นเฟสบุก หรือไลน์ ในการต่อสู้เพื่อศาสนา
ในการย้ำเตือนว่า ถ้าจะเล่นโซเชียล เขาก็เล่นเพื่อการต่อสู้ในเรื่องศาสนา ไม่ใช่วันๆทำในสิ่งที่ไร้สาระ เช่น บางคนโพสต์ว่า วันนี้กินข้าวไม่ลง บางคนลูกร้องก็โพสต์ในเฟสบุค โดยเฉพาะชีอะฮ์เรา ดูแล้วน่าสงสาร บางครั้งบางคนโพสต์เรื่องที่เป็นบาป ซึ่งจริงๆแล้ว ไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับใครเลย
เพราะความหมายของ
“يُجَاهِدُونَ فِي سَبِيلِ اللَّهِ”
คือ ทุกการขยับ ทุกการเคลื่อนไหวของเขา คือ การต่อสู้ในศาสนาอย่างเนืองนิจ
🔻 ตัวอย่าง : การญิฮาดในหนทางของศาสนา
คนกวาดลานมัสยิด เก็บขยะ ล้างแก้ว ล้างถ้วยล้างจาน พ่อครัว แม่ครัวที่ทำน้ำชา ทำกับข้าว นั่นก็คือการญิฮาดในหนทางของอัลลอฮ์ เพื่ออำนวยความสะดวก เพื่อบริการให้ผู้คนที่มาร่วมในมัจญลิสได้มีอาหารและน้ำชากิน รวมทั้งทุกการเคลื่อนไหวของเขาดำเนินไป ก็เพื่อญิฮาดในหนทางของศาสนาอย่างเนืองนิจ
🌍 คุณลักษณะ ‘กลุ่มชน’ ที่รักอัลลอฮ์และอัลลอฮ์รักพวกเขา
▪️➡️ ประการที่ ๔ เขาไม่กลัวการตำหนิจากผู้ใดทั้งสิ้น
“وَلَا يَخَافُونَ لَوْمَةَ لَائِمٍ” ۚ
(วะลา ยาฆอฟูน เลามะตา ลาอิม) ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจด้วยว่า นี่คือ คุณลักษณะอันสุดท้ายที่มีอยู่ในโองการที่ ๕๔ ซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์
ทว่าความจริงแล้ว คุณลักษณะผู้ศรัทธาในศาสนามิใช่มีเพียงแค่นี้ แต่ทั้งนี้ที่ยกโองการข้างต้นมานั้น คือ คุณลักษณะที่เอกองค์อัลลอฮ์(ซบ)เกริ่นนำ ซึ่งนัยยะนี้ ชี้ว่าโองการนี้ต้องมีความสำคัญมาก
ดังนั้นแล้ว พระองค์จึงยกมาเป็น case study เกี่ยวกับบุคคลที่มีความรักต่ออัลลอฮ์ และอัลลอฮ์รักเขาแล้วนั้น ให้ศึกษาคุณลักษณะหลักๆที่พระองค์ยกมาเหล่านี้เอาไว้
อนึ่ง เพื่อให้รู้ว่า การต่อสู้และการปฏิบัติภารกิจทางศาสนาของเขานั้น เขาไม่เคยสนใจ และไม่เคยกลัวคำพูดของผู้คนที่คอยตำหนิติฉินนินทา ตัดสินโน่นนี่นั้นว่า ไม่ดี หรือ หากมีคนไม่ชอบไม่พอใจ เขาก็ไม่ได้สนใจหรือกังวลใจกับสิ่งต่างๆเหล่านี้
ทว่าเขาจะทำหน้าที่ของเขาตามศาสนา ซึ่งดูจากคำว่า “لَائِمٍ” ۚ (ลาอิน)คือ ผู้ตำหนิ ผู้ติฉินนินทา ส่วน…
“وَلَا يَخَافُونَ لَوْمَةَ لَائِمٍ” ۚ
(วะลายะคอฟูน เลามะตะ ลาอิน) เขาไม่เคยกลัวคำติฉินนินทาของพวกติฉินนินทาทั้งหลาย
นี่คือคุณลักษณะของผู้มีศาสนา ซึ่งโองการนี้พูดถึงผู้ศรัทธาที่มีความรักในศาสนาแล้ว นัยยะคือ กำลังพูดถึงประชาชาติใหม่ที่มีคุณลักษณะเหล่านี้นั่นเอง
ประโยคต่อมา คือ
“ذَٰلِكَ فَضْلُ اللَّهِ”
(ซาลิกะ ฟัฎลุลลอฮฺ) นั่นคือ ความดีพิเศษจากอัลลอฮ์(ซบ)
คำอธิบาย : ไม่ใช่ทุกคนที่พระองค์ จะมอบความดีหรือความโปรดปรานอันนี้ แน่นอน การจะได้ซึ่งความดีพิเศษนั้น พวกเขาต้องทำอะไรหลายๆอย่างที่พิเศษเช่นกัน พระองค์จึงได้มอบให้กับเขา เพราะประโยคต่อมายืนยันว่า
“يُؤْتِيهِ مَن يَشَاءُ” ۚ
(ยุตีฮี มัยยะชาอฺ) อัลลอฮ์(ซบ)จะให้ความดีพิเศษนี้ สำหรับบุคคลที่พระองค์ทรงประสงค์เท่านั้น
คำอธิบาย : ความดีอันนี้ไม่ได้กับทุกคน จริงอยู่ทุกคนได้กินข้าว แต่สำหรับฟัฎลฺ(ความโปรดปรานหรือความดี)นี้พระองค์จะให้กับคนที่พระองค์ทรงประสงค์เท่านั้น
“وَاللَّهُ وَاسِعٌ عَلِيمٌ”
(วัลลอฮุวาสิอุ อะลีม) และอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้ อย่างกว้างขวางไพศาลยิ่ง
คำอธิบาย : การนับถือศาสนาที่ไปถึงจุดสูงส่งของจุดสูงสุดของมันนั้น ไม่ใช่แค่มีอิหม่าน แน่นอนว่า การมีอิหม่านเป็นคุณลักษณะเบื้องต้น แต่ทั้งนี้จะต้องให้อิหม่านนั้นนำพาเราไปถึงความรักด้วย
เมื่อใดที่เราถึงความรัก ซึ่งในอัลกุรอานใช้คำว่า ‘รัก’ แต่รักในความหมายนี้เป็นเพียงเบื้องต้นเท่านั้น เพราะ คำว่า ‘ฮุบ’( حب ) คือ ความรักเบื้องต้น
คำว่า ‘ฮุบ’( حب )แม้เป็นเพียงความรักเบื้องต้น แต่ความลึกซึ้งสามารถทำให้เป็นได้ถึงขนาดนี้
🔴 ความรักในศาสนา
อัลลอฮ(ซบ) ตรัสว่า ‘เอชกฺ’( عشق )คือ ความรักที่สูงกว่า ‘ฮุบ’ ( حب )
หากสังเกตุในสิ่งที่ได้อธิบายทั้งหมดในกุรอานทั้ง 2 อายะฮ์นี้ ใช้คำว่า ‘ฮุบ’ ชัดแจ้งในอัลกุรอานไม่มีคำว่า ‘เอชกฺ’เลย
ทว่า คำว่า ‘เอชกฺ’( عشق )จะไปปรากฏในฮะดิษ และในริวายัตของบรรดาอะฮ์ลุลเบต(อ) โดยอัลลอฮ์(ซบ) ได้ตรัส คำว่า ‘เอชกฺ’ และบรรดาอะฮ์ลุลเบตก็กล่าวคำว่า ‘เอชกฺ’ นั่นก็คือ รักที่สูงไปกว่านั้น
ดังนั้น วีรกรรมแห่งกัรบาลาอฺ หากใช้ คำว่า ฮุบ’ ( حب )เพียงอย่างเดียวนั้น แน่นอน ถือว่ายังไม่เพียงพอ
แม้คำจำกัดความ ‘ความรัก’ ในภาษาไทย จะแปลว่า รักทั้งหมด แต่เหตุการณ์ที่กัรบาลาอฺ ความรักแบบ ‘ฮุบ’ ( حب ) อย่างเดียวนั้น ยังไม่พอ ตรงนี้บ่งบอกถึง การมีความรักแบบ ‘ฮุบ’ อย่างเดียวไม่สามารถที่จะนำไปสู่วีรกรรมแห่งกัรบาลาอฺได้ เพราะมาตรวัด ค่าขั้นต่ำที่สุดของวีรกรรมแห่งกัรบาลาอฺนั้น ต้องมี ‘เอชกฺ’
ในวีรกรรมแห่งกัรบาลาอฺ มีฮะดิษที่เกี่ยวกับคำว่า ‘เอชกฺ’( عشق )เป็นจำนวนมาก แน่นอนหากไม่มีฮะดิษ เราอาจจะไม่กล้านำเสนอ แต่เมื่อค้นคว้าเข้าไปแล้ว กลับยิ่งพบปรัชญาแห่งความรักในด้านลึกเข้าไปอีก
อินชาอัลลอฮ์ มูฮัรรอมปีนี้ เราจะบรรยายเนื้อหาทางด้านประวัติศาสตร์ให้น้อยลง แต่จะเข้าไปด้านลึกของกัรบาลาอฺบ้าง เพราะจริงๆแล้ว เรื่องการต่อสู้กับการกดขี่ของทรราชย์ ต่อสู้ยะซีด(ลน.) คือด้านประวัติศาสตร์
ทว่าหากจะเข้าถึงปรัชญาด้านลึกที่ว่า วีรกรรมอันนี้ ทำไมจึงยิ่งใหญ่และเป็นอมตะ เราต้องศึกษารากเหง้าของมันว่ามาจากไหน
คำว่า ‘รากเหง้า’ เมื่อมองทางด้านภาษานั้น หากใช้คำว่า ‘รัก’ โดยไม่มีคำจำกัดความนั้น แน่นอนย่อมไม่เข้าใจปรัชญาในด้านลึก ซึ่งจริงๆแล้ว คำว่า ‘รากเหง้าของมัน’ ในที่นี้ มาจากคำว่า ‘เอชกฺ’ ( عشق )นั่นเอง
اللهم صل علی محمد وآل محمد وعجل فرجهم
เรียบเรียงโดย : Wanyamilah S.