ปรมัตถ์แห่งการพลีสดุดีอาชูรอ: ค่ำคืนที่ 5 มุฮัรรอม ปี 1441 (ตอนที่ 2)

108

ปรมัตถ์แห่งการพลี สดุดีอาชูรอ version ๖๒ มัจญลิสอิมามฮูเซน (อ.)
ค่ำที่ ๕ มุฮัรรอม ฮ.ศ. ๑๔๔๑ (๔ กันยายน ๒๕๖๒) บรรยายโดย ฮุจญตุลอิสลาม ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี
ถอดบทความโดย วราภรณ์(ซัยหนับ) บินตี นาบาวี ค้นคว้าฮะดิษโดย เชคมูฮัมหมัดเบเฮสตี้ ธำรงทรัพย์


🌍 “กัรบาลาอฺ” สนามรบแห่งเอชกฺ ​( عشق )

‘เอชกฺ’​( عشق ) คือ จุดเริ่มของการปฏิวัติและการต่อสู้ในกัรบาลาอฺ แต่การจะไปให้ถึงซึ่งความรักนี้ มนุษย์จำต้องพัฒนาตนเองให้มีเอชกฺในศาสนาเพิ่มขึ้นไปด้วย

จริงๆแล้ว บริบทของ ‘เอชกฺ’ มีรีวายัตมากมาย ซึ่งหากมีเตาฟีก จะค่อยๆทยอยนำมาเสนอ อินชาอัลลอฮ์

อนึ่ง สำหรับมนุษย์ที่พร้อมจะพัฒนาตัวตน เพื่อไปให้ถึงซึ่งความรักแบบเอชกฺ เพียงหนึ่งฮะดิษ หนึ่งริวายัตที่ยืนยันว่ากัรบาลาอฺ คือ สนามรบแห่งเอชกฺ ซึ่งหากไม่มีเอชกฺ แน่นอนว่า ทุกคนไม่สามารถผ่านสมรภูมิแห่งความรักนี้ได้

ตามที่บอกไปแล้วว่า ‘เอชกฺ’ คือ ความรักที่เหนือเหตุผลและสติปัญญา ดังนี้แล้ว จึงมีริวายัตบทหนึ่งได้อรรถาธิบายถึงความยิ่งใหญ่และความสำคัญเกี่ยวกับริวายัตอันนี้ ซึ่งรายงานโดยท่านอิมามบากิร(อ)

หมายเหตุ : อิมามบากิร(อ) ไม่ได้กล่าวฮะดิษโดยตรง แต่ท่าน คือ รอวีย์(ผู้รายงาน) ว่า ฮะดิษนี้มาจากท่านอิมามอะลี(อ)

🌍 ฮะดิษท่านอิมามอะลี(อ)

รายงานบันทึกว่า ประมาณ 20 ปีก่อนเกิดเหตุการณ์กัรบาลาอฺ เป็นห้วงที่ท่านอิมามอะลี(อ) ปกครองเมืองกูฟะฮ์ ซึ่งจริงๆแล้ว กูฟะฮ์-กัรบาลาอฺ ไม่ได้ห่างไกลมากนัก

ทว่าในวันที่ท่านอิมามอะลี(อ)กับผู้ติดตาม(ศอฮะบะฮ์)ไปตรวจราชการยังเมืองต่างๆนั้น มีอยู่เส้นทางหนึ่งที่ท่านอิมาอะลี(อ) ต้องผ่านแผ่นดินกัรบาลาอฺ และเมื่อกองคาราวานของท่านอิมามอะลี(อ)เข้าไปถึงเขตแห่งกัรบาลาอฺ ท่านอิมามก็ได้หยุดการเดินทาง

เมื่อท่านอิมามบากิร(อ)รายงานถึงบริบทนี้ จึงเล่าต่อว่า ตามริวายัต น้ำตาของท่านอะลี(อ) คลอเบ้า จากนั้นน้ำตาที่มาจากใบหน้าอันเศร้าหมองก็ไหลออกมา

ฝ่ายบรรดาศออฮาบะฮ์ที่ติดตาม จึงถามว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมท่านหยุด ณ สถานที่แห่งนี้…ทำไมท่านน้ำตาคลอเบ้า…ทำไมน้ำตาท่านจึงหลั่งออกมาเช่นนี้

นี่คือ ฮะดิษว่าด้วยน้ำตาที่หลั่งออกมาก่อนเหตุการณ์กัรบาลาอฺ ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เราผู้อยู่หลังเหตุการณ์จะร้องไห้และหลั่งน้ำตาออกมา เพราะบรรดาบรรพชน ยุคก่อนบรรดานบี รวมทั้งบรรดาวะลีฟุฎอลา”ولی فضلی” (บรรดาผู้ประเสริฐ) ที่อยู่ในยุคก่อนหน้านี้ ก็หลั่งน้ำตาก่อนเหตุการณ์จะเกิดขึ้น ให้กับท่านอิมามฮูเซน(อ)และบรรดามิตรสหายของท่านอิมามฮูเซน(อ)มาก่อนหน้าแล้วเช่นกัน

ความจริงแล้ว ในฮะดิษนี้ ท่านอิมามอะลี(อ) ได้บอกเรื่องราวต่างๆอย่างมากมาย ซึ่งเนื้อหาทั้งหมดมีความสำคัญเป็นอย่างมาก แต่เราตัดยกมาเพียงประโยคเดียว นั่นก็คือ เรื่องราวที่เกี่ยวกับเหตุการณ์กัรบาลาอฺว่า ทำไมน้ำตาจึงคลอเบ้า (ฮะดิษบทนี้ ศึกษาได้จากหนังสือบิฮารุลอันวารเล่มที่41 หน้าที่ 295)

หมายเหตุ : ฮะดิษเกี่ยวกับเรื่องนี้ อิมามบากิร(อ) กล่าวว่า
وقال الباقر 7 : خرج علي يسير بالناس حتى إذا كان بكربلاء على ميلين أو ميل تقدم بين أيديهم حتى طاف بمكان يقال لها المقدفان ، فقال : قتل فيها مائتا نبي ومائتا سبط كلهم شهداء ، ومناخ ركاب ومصارع عشاق شهداء ، لا يسبقهم من كان قبلهم ولا يلحقهم من بعدهم .

ท่านอิมามอะลี(อ)ได้พรรณนาว่า ณ แผ่นดินแห่งนี้ บรรดานบีเคยถูกสังหารเป็นร้อยๆท่าน รวมทั้งบรรดาซอลิฮีนก็เคยถูกสังหาร แต่เหตุการณ์สุดท้ายของมันนั้น จะเป็น “مصارع شهداء” (มะศอริอุ ชุฮาดา) ซึ่งรหัสยะนี้ ท่านอิมาอะลี(อ) กล่าวถึงเหตุการณ์อาชูรอนั่นเอง

อนึ่งหัวใจหลักที่สำคัญและยิ่งใหญ่นั้น มันจะกลายเป็นทุ่งสังหารอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทุ่งสังหารที่ยิ่งใหญ่ หรือการฆาตกรรมที่แสนหฤโหดนั้น ท่านอิมามอะลี(อ)ได้ให้คุณสมบัติกับบุคคลที่จะถูกสังหารในวันอาชูรอในแผ่นดินแห่งกัรบาลาอฺนั้นความว่า
“مصارع عشاق شهداء”
(มะศอริอุ อุชชากฺ ชุฮาดา) แผ่นดินนี้จะเป็นทุ่งสังหารของอุชชากฺ ชุฮาดา“عشاق شهداء”

คำว่า “عشاق” (อุชชากฺ)ในซีฟัตมุบาละเฆาะ ให้ความหมาย คุณลักษณะที่บ่งชี้ถึงความมากกว่า เช่น คนที่มีความรู้ทั่วๆไป เราเรียกว่า อาเล็ม แต่ถ้าคนที่มีความรู้มากและรู้จริง จะเรียกว่า “อุลามาอฺ”

ในการชี้ว่า “อุลามาอฺ คือผู้รู้” ทว่าทั้งนี้ ต้องทำความเข้าใจด้วยว่า คำว่า อาเล็มกับอุลามาอฺในเรื่องของความรู้ แม้จะใช้รากศัพท์อันเดียวกัน แต่ความหมายแตกต่างกันมาก อีกทั้งรูปลักษณ์ของศัพท์ก็ไม่เหมือนกันด้วย ซึ่งคนที่เรียนภาษาอาหรับหรือนักเรียนศาสนาจะเข้าใจในความหมายนี้ดี

🔴 ขั้นตอน “ความรักในศาสนา”

เนื่องจาก “ความรักในศาสนา” มีระดับขั้นตอนของมัน ซึ่งสูงสุดในศาสนา อิมามอะลี(อ) ใช้คำว่า อุชชากฺ ชุฮาดา“عشاق شهداء”

ซึ่ง คำว่า “عشاق” (อุชชากฺ) ก็มาจากรากศัพท์ของ คำว่า “عشق” (เอชกฺ)

➡️ ‘เอชกฺ’(عشق) คือ ความรักที่เรากำลังอรรถาธิบายอยู่ เพื่อให้รู้ว่า คนที่เริ่มมีเอชกฺ หมายถึง คนที่มีความรักประเภทที่สอง ซึ่งอยู่ในขั้นที่สูงกว่าฮุบแล้ว เบื้องต้น จะเรียกเขาว่า อาชิก

➡️‘อาชิก’ คือ ผู้ที่มีความรักแบบเอชกฺ แสดงถึงเขาเป็นคนที่มีความรักที่สูงกว่าฮุบ

บริบทนี้เพื่อชี้ว่า เหตุการณ์แห่งกัรบาลาอฺ ในวันอาชูรอนั้น ไม่ใช่วีรกรรมของ ‘อาชิก’ แต่เป็นวีรกรรมของ ‘อุชชากฺ’

➡️ ‘อุชชากฺ’ (عشاق) คือ คนที่มีเอชกฺ(عشق) และมีอาชิกอย่างสมบูรณ์ ดังนั้น เพื่อชี้ว่า บรรดาชูฮาดา(บรรดาชะฮีด)ที่เป็น ‘อุชชากฺ’ เขาจะมีความรักที่ไปถึง ‘เอชกฺ’ ขั้นสูงสุด

ด้วยเหตุผลนี้ ท่านอิมาอะลี(อ) จึงกล่าวว่า ณ ที่แห่งนี้จะเป็น “มะศอริอุ อุชชากฺ ชูฮาดา” (مصارع عشاق شهداء) คือ ทุ่งสังหารสำหรับพวกเขา

นี่คือ ความหมายของประโยคที่ว่าด้วย “เอชกฺในศาสนา”

🌍 “กัรบาลาอฺ” ศูนย์รวม “นิยามแห่งความรัก”

เหตุการณ์ในกัรบาลาอฺ ถ้าจะแปลให้เข้าใจง่าย ก็คือ “สมรภูมิของอาชิกกฺ” ที่ไม่ใช่อาชิกกฺเบื้องต้น แต่เป็นอาชิกที่พัฒนาเอชกฺของเขา จนไปถึงอุชชากฺ อุปมาเสมือนคนอาเล็มที่พัฒนาความรู้ของเขา จนกลายเป็นอุลามาอฺ นั่นเอง

สนามแห่งความรักในกัรบาลาอฺก็เช่นเดียวกัน เพราะวีรกรรมอันนี้เป็นของวีรชนที่มีเอชกฺอย่างสมบูรณ์ ตามที่เราได้อรรถาธิบายว่า กัรบาลาอฺ คือ สนามแห่งความรักขั้นสูงสุด

จริงอยู่ เราร้องไห้ เราหลั่งน้ำตา เราเจ็บปวด แต่นัยยะหนึ่งของความเจ็บปวด ก็คือ ทำให้เราเกิดความซาบซึ้งในความรักของวีรชนแห่งกัรบาลาอฺที่มีต่อศาสนา

ดังนั้นแล้ว ขอให้พวกเราทุกคนพึงสร้างความคุ้นเคย คำว่า ‘เอชกฺ’ เพื่อทำความเข้าใจเรื่องราวแห่งกัรบาลาอฺ

อนึ่งความรักแบบ ‘เอชกฺ’ นั้น มีฮะดิษอย่างมากมาย ทว่าในมัจญลิซนี้ เราขอนำ เสนอฮะดิษที่เกี่ยวกับคำว่า ‘เอชกฺ’ 2-3 ฮะดิษ เพื่อเสริมความรู้ให้กับพวกเรา ซึ่งได้บอกไปแล้วว่า แม้แต่อัลลอฮ์(ซบ)ก็ใช้คำนี้กับบ่าวผู้ศรัทธาที่สูงสุด หรือ บ่าวที่แท้จริงของพระองค์

🔴 ฮะดิษกุดซี “ความรักแบบเอชกฺ” รายงานโดยท่านอิมามอะลี(อ)

ฮะดิษกุดซี (حدیث قدسی) คือ ฮะดิษของอัลลอฮ์ ที่เป็นพระดำรัสของอัลลอฮ์ แต่ให้เอาลิยาอฺของพระองค์รายงานแทน เช่น ผ่านนบี และนบีผ่านอิมาม ต่ออิมาม เรียงลำดับกัน
ความจริงแล้ว แทบจะกล่าวได้ว่า ผมยกฮะดิษกุดซีนำเสนอในที่สาธารณะน้อยมาก อัลฮัมดุลิลลาฮ์ ทว่าวันนี้อัลฮัมดุลิลลาฮฺ ด้วยบะรอกัตของอาชูรอ ด้วยบะรอกัตของท่านอิมามฮูเซน(อ)และบรรดาชูฮาดา จึงมีโอกาสได้นำเสนอฮะดิษกุดซีบทนี้(พระดำรัสของอัลลอฮ์ที่ไม่ใช่กรุอ่าน) มาแปลให้พี่น้องได้รับรู้ เพื่อให้พี่น้องจะก่อเกิดความคุ้นเคยกับคำว่า ‘เอชกฺ’

🔻 ฮะดิษกุดซี ฮะดิษบทนี้อัลลอฮ์(ซบ) ทรงตรัสว่า

قال الله :مَن طَلَبَنی وَجَدَنی، مَن وَجَدَنی عَرَفَنی وَ مَن عَرَفَنی اَحَبَّنی وَ مَن اَحَبَّنی عَشَقَنی وَ مَن عَشَقَنی عَشَقتَهُ وَ مَن عَشَقَتَهُ قَتَلتَهُ وَ مَن قَتَلتَهُ فَعَلی دِیَتَهُ وَ مَن عَلی دِیَتَهُ فَاِنّا دِیَتُهُ
ประโยคแรก
“مَن طَلَبَنی وَجَدَنی”
(มันฏะละบะนี วะญะดะนี) ใครก็ตามที่แสวงหาฉัน
“مَن وَجَدَنی”
(วะญะดะนี) เขาก็จะพบฉัน
คำอธิบาย : เราต่างหากที่นอกจากไม่พบอัลลอฮ์แล้ว แต่ก็ยังสงสัยในพระองค์ว่ามีจริงหรือไม่
“أَعُوْذُ بِاللهِ”
(ขออัลลอฮฺคุ้มครองเรา) ให้ห่างไกลจากสิ่งนี้ เพราะบางครั้งในความสงสัยที่เข้ามายังจิตวิญญาณของพวกเรานั้น จริงๆแล้วเรายังไม่ได้หาและไม่เคยที่จะแสวงหาอัลลอฮ์มากกว่า

ทีนี้กลับมายังฮะดิษบทนี้ โดยประโยคแรก อัลลอฮ์ยืนยันว่า
“مَن طَلَبَنی وَجَدَنی”

ความว่า ใครก็ตามที่แสวงหาฉัน เขาก็จะพบฉัน
ประโยคต่อมา คือ

“وَمَن وَجَدَنی عَرَفَنی وَ مَن عَرَفَنی”

(วะมันวะญะดะนี อะรอฟะนี วะมันอะรอฟานี) และใครก็ตามเมื่อหาฉัน และเมื่อเขาพบฉัน เขาก็จะรู้จักฉัน

คำอธิบาย : คนที่จะมีมะรีฟัตต่ออัลลอฮ์อย่างแท้จริง คือ คนที่พบอัลลอฮ์แล้ว

ขณะที่พวกเรา ปากบอกว่านับถืออัลลอฮ์ แต่การนับถืออัลลอฮ์ของพวกเรานั้น ยังอยู่ในลักษณะคนตาบอดคลำช้างอยู่ ซึ่งสืบเนื่องจากพวกเราไม่เคยแสวงหาพระองค์อย่างจริงจัง

ดังนั้น ด้วยกับประโยค
“وَمَن وَجَدَنی عَرَفَنی”

(วะมันวะญะดะนี อะรอฟะนี) และใครก็ตามที่เจอฉัน เขาก็จะรู้จักฉัน

ประโยคต่อมา
“وَ مَن عَرَفَنی اَحَبَّنی”
(วะมันอะรอฟะนี อะฮับบะนี) และใครก็ตามที่รู้จักฉัน เขาก็จะรักฉัน

คำอธิบาย : เมื่อศึกษาจากตัวบทข้างต้น เห็นได้ชัดว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่มนุษย์จะมีความรักต่ออัลลอฮ์(ซบ) แต่การจะไปถึงสิ่งเหล่านี้ได้สำเร็จนั้น ก็ยังมีช่องทางของมันอยู่ กล่าวคือ มนุษย์ต้องมีมะรีฟัตก่อน และในฮะดิษกุดซีนี้ อัลลอฮ์ ตรัสว่า ต้อง “عَرَفَنی” (อารอฟะนี)ก่อน คือ ต้องรู้จักฉันก่อน ถึงจะรักฉันได้

ตัวบทต่อไป คือ ประโยค
“وَ مَن اَحَبَّنی عَشَقَنی”

(วะมัน อะฮับบะนี อาเชกกอนี) และใครก็ตามที่มีความรัก ในแบบอะฮับบะ และอะเชกอนี ความว่า เมื่อรักอัลลอฮ์แล้ว เขาก็จะมีเอชกฺกับอัลลอฮ์

นัยยะข้างต้น ต้องการจะบอกว่า ฮุบกับเอชกฺไม่เหมือนกัน มนุษย์ไม่สามารถที่จะมีเอชกฺกับอัลลอฮ์ได้ จนกว่าจะรักอัลลอฮ์แบบฮุบก่อน คือ ฮุบแล้วก็เอชกฺ

ข้อสังเกตุ : ประโยคข้างต้น หากพิจารณาตัวบท จะเห็นว่า อัลลอฮ์เอาความรักกับอาชิกกฺมาอยู่ใกล้กันแล้ว ซึ่งก่อนจะมาถึงอาชิกกฺ เราได้อธิบายไปแล้วว่า ต้องมีฮุบก่อน

ดังนั้น นัยยะของประโยคนี้ “وَ مَن اَحَبَّنی عَشَقَنی” ชี้ไปที่ “ใครที่ฮุบ(รักทั่วไป)ต่ออัลลอฮ์แล้ว เขาก็จะอาชิกกฺต่อพระองค์ด้วย”

ประโยคต่อมา
“وَ مَن عَشَقَنی عَشَقتَهُ”
(วะมันอาชากอนี อาชากฺตะฮู) และใครก็ตามที่อาชิกต่อฉัน(หมายถึงอัลลอฮ์) เขาก็คือ อาชิกฺตะฮู ด้วย

ทว่าด้วยกับประโยคนี้ จำเป็นต้องย้อนกลับไปสักเล็กน้อย ซึ่งตามที่อธิบายไปว่า การรักอัลลอฮ์แบบเอชกฺนั้น นิยามของมันคือ รักแบบไม่มีเหตุผล รวมทั้งรักแบบเหนือเหตุผลและสติปัญญา

ดังนั้น เมื่อรักอัลลอฮ์แล้ว เขาก็จะมีเอชกฺกับอัลลอฮ์ ตรงนี้ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ฮุบกับเอชกฺไม่เหมือนกัน เพื่อชี้ว่า มนุษย์ไม่สามารถที่จะมีเอชกฺกับอัลลอฮ์ได้ จนกว่าจะรักอัลลอฮ์แบบฮุบก่อน ฮุบแล้วก็เอชกฺ

ดังนั้น เมื่อเขาฮุบต่ออัลลอฮ์ คือ “ฮับบะ”แล้ว เขาก็จะเอชกฺต่ออัลลอฮ์ นั่นก็คือ เขามีเอชกฺต่ออัลลอฮ์ ดั่งประโยค

“وَ مَن عَشَقَنی عَشَقتَهُ”
(วะมันอาชากอนี อาชิกฺตะฮู)
และใครที่มีเอชกฺกับฉัน ฉันก็จะเอชกฺกับเขา

บทสรุป ฮะดิษกุดซีบทนี้ คือ หัวใจหลักที่ชี้ถึงเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้น เช่น เรื่องไลลากับมัจญนูน(لیلا مجنون) และ เรื่องฟัรฮอดกับชีรีน (فرحاد و شیرین)

🌍 “วรรณกรรม” รหัสยะแห่งความรัก

‘ไลลากับมัจญนูน’(لیلا مجنون) คือ วรรณกรรมรักคลาสสิกของโลกมุสลิม เป็นวรรณกรรมของอารีฟที่เป็นชาวอาหรับ ที่เขียนโดยใช้ภาษาอาหรับ

ส่วน ‘ฟัรฮอดกับชีรีน’ (فرحاد و شیرین) คือ วรรณกรรมของอารีฟที่เป็นชาวเปอร์เซีย ที่เขียนโดยใช้ภาษาเปอร์เซีย

ความจริงแล้ว เรื่อง ‘ฟัรฮอดกับชีรีน’ กับ ‘ไลลากับมัจญนูน’ คือเรื่องเดียวกัน ทว่าในเนื้อเรื่องภาคภาษาเปอร์เซีย ฟัรฮอดเป็นผู้ชาย ส่วนชีรีนเป็นผู้หญิง ส่วนในภาคภาษาอาหรับ มัจญนูนเป็นผู้ชาย ส่วนไลลาเป็นผู้หญิง โดยในเนื้อเรื่องต้องการโยงว่า มาจากเอชกฺ นั่นก็คือ รักที่เหนือเหตุผลและสติปัญญานั่นเอง

ดังนั้น เมื่อ “وَ مَن عَشَقَنی عَشَقتَهُ”
(วะมันอาชากอนี อาชิกฺตะฮู)
ความว่า และใครก็ตามที่อาชิกต่อฉัน ฉันก็จะอาชิกต่อเขา

อนึ่ง เรื่องนี้ไม่ใช่นวนิยายแนวทั่วไป แต่เป็นเรื่องที่อารีฟรจนาขึ้นมา เพื่อสร้างรูปธรรมให้เราเข้าใจ รหัสยะความรักระหว่างมนุษย์ที่มีต่ออัลลอฮ โดยอุปมา อัลลอฮ์คือไลลา (หญิงสาวผู้เลิอโฉม) ส่วนผู้ศรัทธาอุปมา คือ มัจญนูน (หนุ่มผู้คลั่งรัก หลงใหลในตัว ไลลา)

และอุปมานี้ ได้อรรถาธิบาย คำว่า เอชกฺคือ ความรักที่ไม่มีเหตุผล เหนือสติปัญญา และเป็นความรักในระดับที่เกิดขึ้นกับใครแล้ว เขาจะไม่คำนึงถึงอื่นใดอีกแล้ว

วรรณกรรมในเนื้อเรื่อง พรรณนาถึง พฤติกรรมของมัจญนูน คือ ผู้ที่รักและหลุ่มหลงในไลลา ดั่งคนบ้า ไม่ว่าจะทำอะไร จะเดินเหิน นั่ง นอน หรือเปิดปิดตา ก็จะคร่ำครวญเรียกหาแต่ไลลา…ไลลา… ไลลา

วันหนึ่ง มัจญนูนไปนมาซในมัสยิด ขณะที่เดินไปอาบน้ำละหมาดก็พร่ำเพ้อถึงไลลาๆ เดินไปละหมาดก็ก้าวฉับๆไปโดยไม่สนใจใคร ซึ่งเรื่องนี้ทั้งพี่น้องอะฮ์ลิลซุนนะฮ์ ทั้งพี่น้องชีอะฮ์ รวมทั้งพี่น้องชาวดะอฺวะฮ์ก็มีความสุขที่ได้เล่าเรื่องนี้

ด้วยความที่มัจญนูนพร่ำเพ้อแต่ไลลา…ไลลา…ไลลา จึงเดินตัดหน้า ตัดแถวคนอื่นๆที่กำลังยืนละหมาดอยู่
ครั้นเมื่อเสร็จกิจ มัจญนูนก็ถูกผู้คนที่โดนตัดหน้า กล่าวตำหนิว่า “เจ้าเป็นผู้ศรัทธาได้อย่างไร เดินตัดหน้าผู้คนกำลังละหมาด ไม่รู้หรืออย่างไรว่า เขาเหล่านั้นกำลังเข้าเฝ้ากราบสักการะอัลลอฮ์(ซบ)อยู่

มัจญนูน ตอบว่า “ท่านยืนเข้าเฝ้าเบื้องพระพักตร์อัลลอฮ์(ซบ) เหตุใดท่านจึงยังเห็นฉันเดินตัดหน้า แต่สำหรับฉันนั้น เมื่อคิดถึงไลลา ฉันเดินตัดหน้าท่านโดยฉันไม่เห็นว่าท่านกำลังยืนละหมาด”

บทสรุป วรรณกรรมนี้ ได้อุปมาความรักที่มีต่ออัลลอฮ์ กล่าวคือ ความรักของมัจญนูนที่มีต่อไลลานั้น ได้ปิดหูปิดตาของเขา แม้จะมีคนยืนละหมาดหรือมีกิจกรรมใดๆ ก็ไม่อาจดึงความสนใจเขาไปได้ เพราะห้วงขณะนั้น ผัสสะทั้งหลายของมัจญนูน ถูกผนึกไปด้วย ใบหน้าและความถวิลหาต่อไลลา แต่ผู้คนที่กล่าวอ้างว่า กำลังเข้าเฝ้าอัลลอฮ์ คร่ำครวญในรักที่มีต่อพระองค์ นั้นกลับมองเห็นมัจญนูนเดินตัดหน้าพวกเขา”

“وَ مَن عَشَقَنی عَشَقتَهُ”
(วะมันอาชากอนี อาชิกฺตะฮู)
ความว่า และใครก็ตามที่มีเอชกฺต่อฉัน ฉันก็จะเอชกฺกับเขา

คำอธิบาย : ประโยคนี้ ที่เราใช้คำทับศัพท์ คำว่า เอชกฺ เนื่องจากหลายๆคนอาจจะไม่ค่อยได้ยินมาก่อน เพราะภาษานี้ใช้ในหมู่ของบรรดาเอาลียาอฺ อุรอฟา(บรรดาอารีฟ) โดยเบื้องต้น เอชกฺ คือ ความรักที่พวกเขาใช้อุปมากัน

ทว่าความรักที่สำคัญและยิ่งใหญ่ คือ

“وَ مَن عَشَقَتَهُ قَتَلتَهُ”

(วะมันอาชิกอตะฮู กอตัลตะฮู) อัลลอฮ์บอกว่า “ใครก็ตามที่ฉันเอชกฺหรืออาชิกกฺต่อเขาแล้ว ฉันจะฆ่าเขา”

คำถาม : งงหรือไม่กับประโยค “(วะมันอาชิกอตะฮู) ใครที่อัลลอฮ์รักเขาอย่างแท้จริง และรักอย่างหลงใหลด้วย (กอตัลตะฮู) พระองค์ก็จะฆ่าเขา”

แน่นอน มนุษย์ย่อมมีข้อกังขาว่า อัลลอฮ์จะฆ่าเขาทำไม? ในเมื่อเขารักสุดๆแล้ว เหตุใดต้องฆ่า หรือ ถ้าใครอัลลอฮ์รักแล้ว ทำไมอัลลอฮ์จะฆ่าเขา

คำตอบก็คือ
“وَ مَن قَتَلتَهُ فَعَلی دِیَتَهُ”

(วะมันกอตัลตะฮู ฟะอะลัยยาดิยะตะฮุ) ใครก็ตามแต่ที่ฉันฆ่าเขา ฉันมีหน้าที่จะต้องจ่าย ‘ดียะฮ์’ กับเขา

คำว่า ‘ดียะฮ์’ (دیة) คือ ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าปรับชดใช้การฆ่าชีวิตผู้อื่น

🔴 ชะรีอัตอิสลาม : กรณีฆ่าคนตาย

เงื่อนไขสำคัญของความผิดฐานฆ่าคนตายในชะรีอัตอิสลาม มีคำสั่งดังนี้

1.กรณีทายาทของผู้ตายยอมความไม่เอาโทษ
2.กรณีทายาทของผู้ตาย ไม่ยอมความ

● 1.กรณีทายาทของผู้ตายยอมความไม่เอาโทษ

ทายาทในที่นี้หมายถึง อาจเป็นลูกหรือภรรยา เพราะทายาทมีสิทธิ์อภัยไม่เอาโทษ ซึ่งคำสั่งใช้ในชะรีอัตอิสลามจะต่างกับกฏหมายอื่นๆ นั่นแสดงว่า โทษประหารชีวิตไม่เกิดกับผู้ฆ่าแล้ว แต่ทั้งนี้ผู้ฆ่าต้องจ่าย ‘ดียะฮ์'(دیة)แปลว่าค่าสินไหมทดแทนการฆ่า หรือค่าปรับชดใช้การฆ่าชีวิตผู้อื่น

อนึ่ง ในชะรีอัตอิสลาม ถ้าทายาทของผู้ตายยอมที่จะรับ ‘ดียะฮ์’ ฝ่ายผู้ฆ่าก็ไม่ต้องถูกประหารชีวิต แต่ทั้งนี้ผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นศาล หรือใครก็ตาม บุคคลเหล่านั้นไม่มีสิทธิสั่งให้ปรับ เว้นแต่ทายาทของผู้ตายเท่านั้นที่สั่งได้

● 2.กรณีทายาทของผู้ตาย ไม่ยอมความ

บทลงโทษในชะรีอัตอิสลาม ก็คือ ผู้ฆ่าก็ต้องถูกประหารชีวิตให้ตายตกตามกัน และเมื่อใดที่ผู้ฆ่าถูกประหารชีวิตไปแล้ว เขาก็ไม่ต้องจ่ายค่า’ดียะฮ์’

บทสรุป ความจริงแล้ว ชะรีอัตอิสลามกรณีฆ่าคนตายข้างต้นนี้ มาจากฮะดิษของท่านอิมามอะลี(อ) และอะฮ์ลุลเบต ได้บัญญัติเงื่อนดังนี้
กรณีทายาทของผู้ตาย ไม่ยอมความ ผู้ฆ่าต้องตายตกตามกัน
กรณีทายาทของผู้ตายยอมยกโทษให้ ผู้ฆ่าต้องจ่ายดียะฮ์

🔴 ปรัชญาความยิ่งใหญ่และความสูงส่งของคำว่า ‘เอชกฺ’

ขอย้อนกลับเข้าเรื่อง ‘ดียะฮ์'(دیة)เมื่ออัลลอฮ(ซบ)ตรัสว่า

“ใครก็ตามที่ฉันฆ่าเขา ฉันก็ต้องจ่ายดียะฮ์ให้กับเขา ถือเป็นหน้าที่ที่ฉันต้องจ่ายดียะฮ์ให้กับเขา และใครก็ตามที่มีดียะฮ์เหนือเขา หมายถึง เขาถูกอัลลอฮ(ซบ)ฆ่า” ส่วนจะฆ่าแบบไหนนั้นเราไม่ขอลงในรายละเอียด

ดังนั้น ใครก็ตามที่เขามีดียะฮ์อยู่กับฉัน ในที่นี้ คำว่า ฉันหมายอัลลอฮ์ได้ฆ่าเขาแล้ว ตามด้วยประโยคต่อมา

“وَ مَن عَلی دِیَتَهُ”

(วะมันอะลัยยา ดียะตะฮู) และใครก็ตาม ที่ฉันมีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายดียะฮ์(สินไหมทดแทน)ให้กับเขา

“فَاِنّا دِیَتُهُ”

(ฟะอินนา ดียะตุฮฺ) ฉันคือสินไหมอันนั้น

คำอธิบาย : “ใครที่ฉันฆ่าฉัน เขาได้ฉัน” รหัสยะ คือ ฉัน(อัลลอฮ์​ คือ สินไหม) เพื่อชี้ว่า…
“คนที่ฮุบอัลลอฮ์ เขาจะพัฒนาไปสู่เอชกฺ
ขั้นตอนต่อมา คนที่เอชกฺอัลลอฮ์ อัลลอฮ์จะมีเอชกฺกับเขา
ขั้นตอนที่สูงขึ้นมา คนที่อัลลอฮ์มีเอชกฺกับเขา อัลลอฮ์จะฆ่าเขา และคนที่อัลลอฮ์ฆ่าเขา เขาจะได้อัลลอฮ์เป็นสินไหมทดแทน”

นี่คือ ปรัชญาความยิ่งใหญ่และความสูงส่งของคำว่า ‘เอชกฺ’

ดังนั้น คนที่ผ่านขั้นตอนแห่งเอชกฺ พึงรู้เถิดว่า “รางวัลของเขาคืออัลลอฮ์”

อนึ่งต้องทำความเข้าใจด้วยว่า รางวัลของเขาไม่ใช่สวรรค์ ไม่ใช่ลำธาร หรือน้ำดื่ม นางฟ้า เทวดา แห่งสรวงสวรรค์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ทั้งหมด

🔴 คนที่ผ่านขั้นตอนแห่งเอชกฺ “รางวัลของเขาคืออัลลอฮ์”

แท้จริงแล้ว คนที่ผ่านขั้นตอนแห่ง ‘เอชกฺ’ รางวัลของเขาคืออัลลอฮ์
ประโยค “เขาได้อัลลอฮ์” ซึ่งคนที่จะได้อัลลอฮ์ ก็คือ คนที่อัลลอฮ์อาชิกกฺเขา และคนที่อัลลอฮ์จะอาชิกกฺเขา นั่นแสดงถึง เขาต้องอาชิกกฺกับอัลลอฮ(ซบ)ก่อน ซึ่งบริบทนี้หมายความว่า “เขาไม่มองเห็นสิ่งใดนอกจากอัลลอฮ์” โดย ณ ตรงนี้ อย่าได้อุปมาถึงความสะดวกสบายในโลกนี้ เช่น ทรัพย์สินเงินทอง มันไม่ใช่ เพราะมันต่ำต้อยเกินกว่าที่เราจะยกมาเป็นตัวอย่าง

ทว่าปรัชญาของประโยค “เขาไม่มองเห็นสิ่งใดนอกจากอัลลอฮ์” นี้หมายถึง เขาไม่มองเห็นอันตราย ไม่มองเห็นความหวาดกลัว ไม่มองเห็นความทุกข์ทรมานจากการอดน้ำ รวมไปถึงลูกถูกฆ่า ลูกถูกเชือด เด็กเล็กคนแก่ถูกฆ่า ถูกเชือด ถูกสับเป็นชิ้นๆ กล่าวคือ เขาก็ไม่ได้ยี่หระกับสิ่งต่างๆเหล่านั้น เว้นแต่ความสวยงาม

หากจะกล่าวโดยสรุป จะเห็นได้ว่า ทุกอย่างที่เขาทำไปเพราะเขาเอชกฺในอัลลอฮ์ และต้องการที่จะให้เอกองค์อัลลอฮ์(ซบ)เห็นว่า ทุกอย่างที่ทำไปแบบนั้น เป้าหมายเพื่อจะมอบความรักให้อัลลอฮ์ เพื่อจะเอาเอชกฺจากอัลลอฮ์(ซบ) พวกเขาทำได้ทุกอย่าง ดั่งเรื่องราวการมอบความรักของ ‘ญูน’ ที่อาจารย์รอฟีอี ยกตัวอย่างนั่นเอง

ในเหตุการณ์กัรบาลาอฺ รีวายัตรายงานว่า ‘ญูน’ ถอดเสื้อ แต่หากทุกคนศึกษาในสมรภูมิรบอื่น เท่าที่เป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นกองทัพโรม หรือกองทัพใดก็ตาม จะพบว่า บรรดานักรบ บรรดาแม่ทัพนายกอง ทั้งหมดใส่เสื้อเกราะ ซึ่งนอกจากจะสวมเสื้อเกราะอย่างดีแล้ว พวกเขายังมีทหารคุ้มกันอีกชั้นหนึ่ง

ทว่า กรณีของ ‘ญูน’ นั้น อย่าว่าแต่จะใส่เสื้อเกราะเลย แม้แต่เสื้อ ‘ญูน’ ก็ปฏิเสธที่จะใส่ เมื่อถูกถามถึงเหตุผลว่า ทำไม ‘ญูน’ ไม่ใส่เสื้อเข้าสู่สมรภูมิรบ คำตอบที่ได้มานั้น สวยงามยิ่ง

เมื่อคมดาบกับเนื้อ ปะทะกันแล้ว ‘ญูน’ รู้สึกดีกว่า หนำใจกว่า ปลาบปลื้มและน่าภาคภูมิใจกว่า

คำถาม : ‘ญูน’ทำเช่นนั้นทำไม
คำตอบ : ‘ญูน’ทำเพื่อจะพิสูจน์เอชกฺที่มีต่ออัลลอฮ์
คำอธิบาย : ‘ญูน’ ต้องการให้เห็นว่า ความเจ็บปวดจากคมดาบที่เข้ามาเชือดเฉือนบนเนื้อหนังมังสานั้นไม่มีอะไร ‘ญูน’ ไม่ได้ยี่หระกับมัน

บทสรุป การได้มอบความรักในรูปแบบของวีรชนแห่งกัรบาลาอฺคือ บทเรียนความรักขั้นสูงสุดที่มีต่ออัลลอฮ์ และด้วยกับบริบทนี้ อิมามอะลี(อ) จึงบอกว่า ณ ที่แห่งนี้ หรือ สถานที่นี้ คือ “مصارع” (มะศอริอุ)
จะเป็นทุ่งสังหาร “عشاق شهداء” (อุชชากฺ ชุฮาดา) ของบรรดาชูฮาดาที่เป็นอาชิกกฺอย่างแท้จริงต่ออัลลอฮ์(ซบ) ซึ่งข้อพิสูจน์นั้น ศึกษาได้จากความโหดร้ายทารุณทุกอย่างที่เกิดขึ้นทั้งหมดเหล่านั้น ได้กลายมันเป็นความสวยงาม ดั่งคำปราศรัยที่ท่านหญิงซัยหนับ(สลามุลลอฮฯ)ได้โต้ตอบกับอุบัยดิลลาฮฺ อิบนิซิยาด(ลน)นั่นเอง

🌍 มุศิบัต

●ย้อนรอยโศกนาฏกรรมลูกหลานศาสดาอิสลาม ตอนที่ 1

เมื่อกองคาราวานอะฮ์ลุลเบต(อ) ถูกต้อนเข้าไปในท้องพระโรงของ อุบัยดิลลาฮฺ อิบนิซิยาด(ลน) ซึ่งลูกหลานของท่านอิมามฮูเซน(อ) ก็คือ ลูกหลานของท่านนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ)

วันนั้น กองคาราวานอะฮ์ลุลเบต(อ) ลูกหลานท่านศาสดา ในสภาพที่เด็กผู้หญิงและสตรีถูกล่ามโซ่ตรวน ส่วนลูกหลานที่เป็นบุรุษ และอัศฮาบนั้น อยู่ในสภาพที่ศีรษะของพวกเขา ถูกเสียบไว้ที่ปลายหอก และที่โหดเหี้ยมยิ่งกว่านั้น แม้กระทั่งศีรษะของอะลีอัสกัร เด็กทารกวัยหกเดือน ก็ถูกเสียบที่ปลายหอกด้วย

ดังนั้น ด้วยกับบริบทนี้ ลองปิดตาแล้วจินตนาการว่า สภาพขบวนเชลยที่เป็นเด็กผู้หญิงและสตรี ที่มาพร้อมกับศรีษะที่เสียบอยู่ปลายหอกของอิมามฮูเซน(อ) บรรดาลูกหลานและบรรดาอัศฮาบ กำลังถูกต้อนตามทางแคบๆของเมืองกูฟะฮ์ พวกเขาถูกกระทำอย่างป่าเถื่อนที่สุด ด้วยการล่ามโซ่ที่รอบต้นคอ ข้อมือและข้อเท้า

ส่วนผู้หญิงถูกนำขึ้นขี่บนหลังอูฐโดยปราศจากกูบ เชือกและโซ่ถูกผูกเข้าต่อเชื่อมกันโดยล่ามมือของผู้หญิงไว้กับต้นคอของเด็กอีกชั้นหนึ่ง

และตลอดเส้นทางของการเดินทาง ที่ต้องถูกลาก ถูกทุบตี จนกระทั่งมาถึง ณ ท้องพระโรงของอุบัยดิลลาฮฺ อิบนิซิยาด(ลน)

ถามว่า พวกเขาทนได้อย่างไรกับบรรยากาศที่น่าสะพึงกลัว และ ในช่วงเวลาที่กำลังเจ็บปวดทุกข์ทรมานต่อการสูญเสีย พวกเขาอยู่กันได้อย่างไร อีกทั้งพวกเขาทุกข์ทรมานขนาดไหนหลังจากถูกทุบตีอย่างโหดร้าย ! ยาอัลลอฮฺ

ทีนี้กลับมายังยุคสมัยของเรา มีอุลามาอฺท่านหนึ่งถูกเชิญให้กล่าวมุศิบัตในเดือนมุฮัรรอม และขณะที่อูลามาอฺท่านนั้นเริ่มมุศิบัตเรื่องนี้ ท่านกลับกล่าวได้เพียงประโยคเดียวว่า

“دخل زینب علی ابن زیاد”

ความว่า เมื่อท่านหญิงซัยหนับ(สลามุลลอฮฯ) ถูกนำเข้ามา ณ ท้องพระโรง เพื่อจะพบกับ อุบัยดิลลาฮฺ อิบนิซิยาด(ลน)

ทว่าเมื่อถึงเหตุการณ์นี้ อูลามาอฺท่านนั้น ก็ได้แต่ร้องไห้ จนไม่สามารถจะกล่าวมุศิบัตในคืนนั้นต่อไปได้

ลูกศิษย์เห็นเช่นนั้น จึงถามว่า ทำไมท่านร้องไห้หนักถึงขนาดนี้

อุลามาอฺท่านนั้น ตอบว่า เพราะว่าพวกเจ้า ไม่รู้จักท่านหญิงซัยหนับ(สลามุลลอฮฯ)อย่างแท้จริง พวกเจ้าจึงร้องไม่ออก แล้วพรรณนาว่า

“พวกเจ้ารู้หรือไม่ ท่านหญิงซัยหนับ( สลามมุลลอฮฯ) คือ เอาลียาอฺของอัลลอฮ์ที่เป็นสตรี”

“พวกเจ้ารู้หรือไม่ ท่านหญิงซัยหนับ( สลามมุลลอฮฯ) คือ หญิงสาวที่ได้รับการปกป้องอย่างสูงสุดจากพ่อ และพี่ชายทั้งสอง”

“พวกเจ้ารู้หรือไม่ ในห้วงที่ ท่านหญิงซัยหนับ( สลามมุลลอฮฯ) อยู่มะดีนะฮ์ หากจะไปซิยารัตกุโบร์ ท่านหญิงจะไม่ได้รับอนุญาตจากท่านอิมามอะลี(อ)ให้ออกไป จนกว่าอิมามฮูเซน(อ) อิมามฮาซัน(อ) ท่านอับบาสและชายหนุ่มของบนีฮาชิม จะเข้ามารายล้อมอยู่โดยรอบ ล้อมหน้าล้อมหลัง แม้กระทั่งมดก็ไม่ให้ไต่ ไรก็ไม่ให้ตอม”

“พวกเจ้ารู้หรือไม่ ท่านอิมามอะลี(อ) ยังกำชับด้วยว่า หากไปซิยารัตในตอนกลางคืน ให้บรรดาลูกชายของท่าน หรี่ตะเกียงส่องทาง เพื่ออย่าให้ใคร ได้เห็นใบหน้าลูกสาวของท่าน”

นี่คือบริบทของ “เจ้าหญิงแห่งมะดีนะฮ์” ที่ชี้ให้เห็นว่า ความบริสุทธิ์ของท่านหญิงซัยหนับ(สลามุลลอฮฯ) ได้รับการปกป้องถึงขนาดนี้

ทว่าในวันนี้ เจ้าหญิงแห่งมะดีนะฮ์ กำลังถูกต้อนให้เดินเข้าไป ในสภาพที่เป็นเชลยศึกจากมนุษย์ที่มีความชั่วช้า มีความเหี้ยมโหดและป่าเถื่อนที่สุดคนหนึ่ง ชื่อ อุบัยดิลลาฮฺ อิบนิซิยาด(ลน)

ในสภาพที่มันเพิ่มความเจ็บปวดรวดร้าว โดยการให้ท่านหญิงและกองคาราวานของท่าน เดินไปพร้อมๆ กับศีรษะของบุคคลที่รักและเทิดทูน

อุบัยดิลลาฮฺ อิบนิซิยาด(ลน) คือ มนุษย์ที่กินเหล้า ทำซีนา นั่งอยู่บนบัลลังก์

ในขณะที่สตรีผู้สูงส่งในอิสลาม ต้องตกอยู่ในสภาพของเชลยศึกต่อหน้าทรราชย์ผู้ฉ้อฉลอย่าง อุบัยดิลลาฮฺ อิบนิซิยาด(ลน)

ด้วยเหตุนี้ อูลามาอฺ ท่านนั้น จึงกล่าวกับลูกศิษย์ว่า “เจ้าจะไม่ให้ฉันร้องไห้ได้อย่างไร เพราะสูงสุดของความดี ต้องอยู่เบื้องล่างของสูงสุดแห่งความชั่ว” จากนั้น อุลามาอฺท่านนั้น จึงกล่าวว่า ฉันขอมุศิบัตเพียงแค่นี้

ทีนี้ เรามาย้อนรอยโศกนาฏกรรมลูกหลานศาสดาอิสลามกันอีกครั้งหนึ่ง

รีวายัตบันทึกว่า ท่านหญิงซัยหนับ(สลามุลลอฮฯ) ยืนอยู่ในสภาพของเชลยศึก ต่อหน้า“فاسق” (ผู้ละเมิด) “منافق” (ผู้กลับกลอก) “کافر” (ผู้ปฏิเสธ)

ฝ่ายอุบัยดิลลาฮฺ อิบนิซิยาด(ลน) เมื่อเห็นอะฮ์ลุลเบตเข้าไปในสภาพที่เด็กๆถูกทุบตี ตลอดเส้นทาง และบนใบหน้าของเด็กๆ หลายคนล้วนมีร่องรอยการถูกตบ อีกทั้งศีรษะของบรรดาลูกหลานท่านศาสดาถูกเสียบอยู่ปลายหอก

อุบัยดิลลาฮฺ อิบนิซิยาด(ลน) เปล่งเสียงตะโกนออกมาอย่างเมามาย และหลงลำพองในชัยชนะของตน ด้วยการถามท่านหญิงซัยหนับ(สลามุลลอฮฯ)ว่า ตอนนี้พวกเจ้าเป็นเชลยศึกของข้าแล้ว

“كَيْفَ رَأَيْتِ صُنْعَ اللَّهِ بِأَخِيكِ وَ أَهْلِ بَيْتِكِ”

เจ้าเห็นเป็นอย่างไรบ้าง ในสภาพต่างๆที่อัลลอฮ์ได้ทำกับพี่ชายของเจ้าและครอบครัวของพวกเจ้านั้นต่ำต้อย

ท่านหญิงซัยหนับ (สลามุลลอฮฯ) ได้เงยหน้า ด้วยความองอาจและกล้าหาญ แล้วกล่าวประโยคสั้นๆ ซึ่งประโยคนี้ คือ “วาทกรรมวรรคทองจนถึงวันกิยามะฮ์” ที่จะให้บรรดาอาชิกกฺทั้งหลาย จะได้เข้าใจปรัชญาแห่งกัรบาลาอฺว่า

“مَا رَأَيْتُ إِلَّا جَمِيلًا”
(มารออัยตุ อิลลาญามีลา)

“ฉันไม่เห็นสิ่งใดเลย นอกจากความสวยงาม

🌍 มุศิบัต : ย้อนรอยโศกนาฏกรรมลูกหลานศาสดาอิสลามตอนที่ 2

🔴 ความภาคภูมิใจของท่านหญิงซัยหนับ( สลามุลลอฮฯ)
การเป็นเชลยศึก คือ ความภาคภูมิใจของท่านหญิงซัยหนับ( สลามุลลอฮฯ) และท่านหญิงก็ได้กล่าวตอบอีกว่า

هَؤُلَاءِ قَوْمٌ كَتَبَ اللَّهُ عَلَيْهِمُ الْقَتْلَ فَبَرَزُوا إِلَى مَضَاجِعِهِمْ ،
وَ سَيَجْمَعُ اللَّهُ بَيْنَكَ وَ بَيْنَهُمْ فَتُحَاجُّ وَ تُخَاصَمُ ، فَانْظُرْ لِمَنِ الْفَلْجُ يَوْمَئِذٍ.
“บุคคลเหล่านั้นคือกลุ่มชนที่พระผู้เป็นเจ้าทรงลิขิตการเป็นชะฮีดไว้แล้ว พวกเขาจึงไปปรากฏตัวที่สถานที่พลีชีพของพวกเขา และในไม่ช้าพระผู้เป็นเจ้าจะทรงเรียกรวมระหว่างเจ้าและพวกเขา โดยที่เจ้าจะต้องถูกสอบสวนและถูกพิพากษา แล้ววันนั้นเจ้าจงรอดูเถิดว่าชัยชนะจะเป็นของใคร”

ไม่เพียงเท่านั้น ท่านหญิงซัยหนับ( สลามุลลอฮฯ) ได้ตอบอย่างสวยงามอีกว่า ฉันได้เห็นเด็กๆ และบรรดาสตรีเป็นเชลยศึก อีกทั้งมีศีรษะของบรรดาผู้ชายของพวกเราถูกเสียบอยู่ที่ปลายหอก ในสภาพต่างๆที่เกิดขึ้นเหล่านี้ ก็เพื่อปกป้องศาสนาของอัลลอฮ์(ซบ)

ชัดแจ้ง ท่านหญิงซัยหนับ( สลามุลลอฮฯ)ได้ฉีกหน้า และบทขยี้ใบหน้าอันตะกับโบรฺของ อุบัยดิลลาฮฺ อิบนิซิยาด(ลน) และขณะที่ท่านหญิงกล่าววาทกรรมต่อมา ความว่า

“พวกเจ้าได้ดูหมิ่นเหยียดหยาม ลดเกียรติพวกเราลงไปได้ตามอำเภอใจ ไม่มีใครคอยปกป้องในนามของพวกเรา และเจ้าเห็นว่าเราอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้ ไร้ญาติขาดมิตร ไม่มีใครกล้าโต้แย้งในการกระทำของเจ้าที่ได้ทำกับเรา โอ้ เจ้าทรราช ฉันขอเตือนเจ้าว่า ชัยชนะของเจ้ามิได้จีรังยังยืน”

อุบัยดิลลาฮฺ อิบนิซิยาด(ลน) สั่นสะท้านและเริ่มรู้แล้วว่า ถ้าปล่อยให้ท่านหญิงซัยหนับ( สลามุลลอฮฯ)พูดต่อไป ต้องมีคนจำนวนมากคล้อยตามท่านหญิงแน่นอน มันจึงสั่งให้ท่านหญิงหยุด แต่ท่านหญิงซัยหนับ( สลามุลลอฮฯ) ก็ยังไม่หยุด โดยในตอนแรกมันไม่รู้ว่า จะหยุดท่านหญิงอย่างไร เพื่อไม่ให้พูดต่อไป

ต่อมาความคิดอันชั่วช้า จึงเข้ามาในกะโหลกของมัน ในมือของมันมีไม้คฑาหนึ่งอัน ขนาดไม่สั้นไม่ยาวมาก มันรู้แล้วว่า จะหยุดท่านหญิงซัยหนับ(สลามุลลอฮฯ) อย่างไร

ความคิดชั่วช้าของมันผุดขึ้นมา มันจึงเอาไม้คฑาฟาดไปยังศรีษะที่อยู่ในถาดต่อหน้ามัน และมันได้เอาไม้คฑาทิ่มไปที่ริมฝีปากของศีรษะที่ไม่มีเรือนร่าง มันทิ่มไป มันฟาดไปยังศีรษะของท่านอิมามฮูเซน(อ)

และเมื่อท่านหญิงซัยหนับ(สลามุลลอฮฯ) เห็นมันทิ่มหน้าอิมามฮูเซน(อ) ท่านหญิงตกใจและพูดอะไรไม่ออก

ฝ่ายอุบัยดิลลาฮฺ อิบนิซิยาด(ลน) ทรราชย์ผู้ชั่วช้า ก็ยิ่งทิ่มหน้าและฟาดศรีษะของท่านอิมามฮูเซน(อ)ซ้ำแล้วซ้ำอีก มันกระทำต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อจะแก้แค้นคำพูดของท่านหญิงซัยหนับ(สลามุลลอฮฯ)

จนกระทั่ง ศอฮาบะฮ์ของท่านรอซูลุลลอฮ(ศ็อลฯ) คนหนึ่งที่ได้กลายเป็นบริวารของมันไปแล้ว ทนดูไม่ได้ จึงลุกขึ้นยืน แล้วกล่าวว่า ยาอะมีรุลมุมินีน โอ้ !!! อิบนิซิยาด…หยุดเถิด…หยุดการกระทำแบบนี้เถิด

มันหันมาถามว่า ทำไม ?

ศอฮาบะฮคนนั้นก็บอก “วัลลอฮิ แก้มนี้ที่เจ้ากำลังฟาด ริมฝีปากนี้ที่เจ้ากำลังทิ่มอยู่นั้น ณ ที่มะดีนะฮ์ ไม่ว่าจะเป็นแก้มซ้าย หรือแก้มขวาที่เจ้ากำลังฟาด รวมทั้งริมฝีปากนี้ที่เจ้ากำลังทิ่มอยู่นั้น ฉันเคยเห็นท่านรอซูลุลลอฮ(ศ็อลฯ) จูบอยู่เสมอ”

โอ้ !!! อิบนิซิยาด เจ้ากำลังทุบตีไปยังจุดต่างๆ ที่เป็นจุดของท่านรอซูลุลลอฮ(ศ็อลฯ)จูบ โอ้ หยุดได้แล้ว ”

จริงอยู่ในยุคสมัยของท่านรอซูลุลลอฮ(ศ็อลฯ) อาจมีคนสงสัยว่า เมื่อท่านนบีเจอกับอิมามฮูเซน(อ) เหตุใดท่านนบีต้องจูบไปที่แก้มซ้ายขวา จูบที่ริมฝีปาก ของท่านอิมามฮูเซน (อ)ซ้ำแล้วซ้ำอีกทุกครั้งไป

ทว่าในวันนี้ หลังจากเหตุการณ์กัรบาลาอฺ อนุชนรุ่นหลัง คงได้เข้าใจแล้วว่า ที่มะดีนะฮ์ ทำไมท่านรอซูลุลลอฮ(ศ็อลฯ)จึงจูบที่ปากของท่านอิมามฮูเซน(อ.)บ่อยครั้ง

วันนี้ เรารู้แล้วว่า ท่านรอซูลุลลอฮ(ศ็อลฯ) จูบไปที่ปากของอิมามฮูเซน(อ) ตะบัรรุกไปยังปากของท่านอิมามฮูเซน(อ)ให้เกียรติกับริมฝีปากของท่านอิมามฮูเซน(อ) ปากที่ยอมที่จะแห้งผาก ยอมให้เลือดไหล เพื่อที่จะให้พวกเรานั้นได้ดื่มน้ำจากสระน้ำอัล-เกาษัร ….

และเหตุการณ์ในวันนี้อีกเช่นกัน หลังจากเหตุการณ์กัรบาลาอฺ ท่านรอซูลุลลอฮ(ศ็อลฯ) คงรับรู้แล้วว่า ริมฝีปากที่ท่านจูบ จะต้องเจ็บปวด เพราะแม้แต่ร่างที่ไร้วิญญาณก็ยังถูกทุบตี
ถึงกระนั้น ท่านหญิงซัยหนับ(สลามุลลอฮฯ) ก็ยังมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น การถูกลดเกียรติ ความทุกข์ทรมาน ความต่ำต้อย การถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม เพื่ออิสลาม คือ ความสวยงาม

แท้จริงแล้ว ไม่มีใครมองเห็นแบบนี้ ไม่มีใคร มองเห็นความสวยงามในความทุกข์ยาก ที่กระทำไปเพื่ออัลลอฮ์ได้ เว้นแต่เขาจะต้องเป็นอาชิกกฺ ซึ่งเราได้บอกไปแล้วว่า ขบวนการกัรบาลาอฺ คือ ขบวนการแห่งอาชิกกฺที่สูงสุด

ทว่าอาชิกกฺที่สูงสุด ที่เผชิญกับความเศร้า ความทุกข์ทรมาน ความเจ็บปวดรวดร้าว ที่หนักกว่าท่านหญิงซัยหนับ(สลามุลลอฮฯ) นับเป็นทวีคูณ คือ อิมามฮูเซน(อ)

อิมามฮูเซน(อ) คือ คนที่เห็นลูกหลานของตนเองถูกฆ่า

อิมามฮูเซน(อ) คือ คนที่เห็นท่านอับบาส น้องชายของตนเองถูกตัดแขน

อิมามฮูเซน(อ) คือ คนที่เห็นลูกชายของตนเองด้วยวัย 6 เดือนถูกยิงด้วยธนูสามแฉก ปักที่คอหอย

อิมามฮูเซน(อ) คือ คนที่รับรู้สภาพของบรรดาสตรีและเด็กๆ ในครอบครัวของท่าน กำลังได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส แต่ท่านก็พร้อมที่จะยอมรับสิ่งต่างๆเหล่านี้ทั้งหมด

นี่คือ อาชิกกฺที่สูงสุดของอิมามฮูเซน(อ)

อนึ่ง วาทกรรมอันยิ่งใหญ่ที่อิมามฮูเซน(อ) มอบไว้ ณ แผ่นดินกัรบาลาอฺ พี่น้อง !!! รีวายัต บันทึกว่า ตอนที่ท่านถูกยิงด้วยธนูและถูกทุบด้วยท่อนเหล็ก ซึ่งขณะที่ท่านตกลงมาจากหลังม้านั้น เรือนร่างของท่านเต็มไปด้วยดอกธนู ไม่ว่าท่านจะตกท่าไหน ไม่ว่าจะเอาหน้าลง เอาหลังลง หรือเอาข้างลง ซึ่งหากจะกล่าว บริบทการตกจากหลังม้า ลองจินตนาการตามไปเลย คนที่ถูกยิงด้วยธนูนับร้อยดอก อุปมา เสมือนกับเม่น กำลังตกจากหลังม้า

ถามว่า เขาจะเอาอะไรไปกระแทก แน่นอนแต่ละดอกของธนูนั้น ก็จะยิ่งกระแทกเข้าไปในเรือนร่างของเขา ใช่แล้ว !!! ในสภาพที่ธนูติดอยู่กับลำตัว เหมือนกับตัวเม่น

เมื่ออิมามฮูเซน(อ) ตกลงจากม้า ด้วยสภาพตามร่างกายเต็มไปด้วยดอกธนูราวกับตัวเม่น แต่อิมามฮูเซน(อ) ก็พยายามที่จะลุกขึ้นมาอีก ท่านยังคงเอาดาบปักไว้บนดินแล้วยืนอย่างตระหง่าน

ขณะที่อิมามฮูเซน(อ) เกือบจะหมดเรี่ยวหมดแรงทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว แต่รอวีย์ ท่านหนึ่งได้บันทึกว่า ในตอนที่อิมามฮูเซน(อ) ยืนขึ้นนั้น ท่านอยู่ในสภาพที่เห็นเหตุการณ์โศกนาฏกรรมทั้งหมด เริ่มด้วยลูกน้อยถูกยิงด้วยธนูสามแฉกปักที่คอหอย ตามมาด้วยลูกรักถูกหอกพุ่งตกจากหลังม้า น้องชายถูกตัดแขนขาด ตัวตนของท่านถูกยิงด้วยธนูตกจากหลังม้า

ทว่าอิมามฮูเซน(อ) ลุกขึ้นมายืนแล้วกระซิบด้วยเสียงอันแผ่วเบาว่า
“الهی رِضاً بِرِِضِاکَ، صََبراً عَلی قَضائِک”
(อิลาฮี ริฎอล บิรินฎิกะ ซอบรอน อะลา กอฎออิก)
โอ้พระเจ้าของข้าฯ โอ้ยาอัลลอฮ์ ฉันพึงพอใจในสิ่งที่พระองค์ทรงกำหนด

ไม่ว่าพระองค์จะทรงกำหนดอย่างไร แม้ให้ลูกหลานอดน้ำ ให้พี่ชาย น้องชาย ถูกตัดแขนขา ให้อะลีอัสกัสถูกยิงด้วยธนู หรือให้เผชิญกับอะไรก็ตาม

“ฉัน ‘ริฎอ’ (رضا) ฉันพึงพอใจ ในสิ่งที่พระองค์ทรงกำหนด “
อิมามฮูเซน(อ) กล่าวด้วยเสียงแผ่วเบาและอ่อนล้า
“تسليما لامرك”
(ตัสลีมัน ลิอัมริก)
หากไม่ใช่อาชิกกฺ แน่นอน มนุษย์ไม่สามารถกล่าวคำพูดต่างๆเหล่านี้ได้ แต่หลังจากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น “تسليما لامرك” (ตัสลีมัน ลิอัมริก)

ท่านอิมามฮูเซน(อ) คือ ผู้ที่ได้มอบตน มอบทุกสิ่งทุกอย่างที่พระองค์ทรงกำหนด ที่เป็นวีรกรรมว่าสิ่งนี้จะต้องเกิดขึ้น แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ‘ตัสลิม’(تسلیم) ฉันยินดีมอบสิ่งต่างๆเหล่านี้และขอยืนยันเป็นครั้งสุดท้ายว่า

“لا معبود سواك”
(ลามะบูดดฺซิวากฺ)
ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ควรแก่การเคารพภักดี เว้นแต่พระองค์เท่านั้น จนวินาทีสุดท้ายของชีวิต หลังจากทุกสิ่งทุกอย่างผ่านมาทั้งหมดแล้ว ความรักของอิมามฮูเซน(อ)ที่มีต่อศาสนา ที่มีต่ออัลลอฮ์(ซบ) ก็มิได้เสื่อมคลาย และมิได้ลดลงเลย

لاحول ولا قوة الا بالله العلي العظيم
ۗ وَسَيَعْلَمُ الَّذِينَ ظَلَمُوا أَيَّ مُنقَلَبٍ يَنقَلِبُونَ
إِنَّا لِلّهِ وَإِنَّـا إِلَيْهِ رَاجِعونَ
اَلسَّلامُ عَلَى الْحُسَیْنِ وَ عَلى عَلِىِّ بْنِ الْحُسَیْنِ وَ عَلى اَوْلادِ الْحُسَیْنِ عَلى اَصْحابِ الْحُسَیْنِ
اللهم صل علی محمد وآل محمد وعجل فرجهم

เรียบเรียงโดย Wanyamilah S.