ปรมัตถ์แห่งการพลี สดุดีอาชูรอ version ๖๒ มัจญลิสอิมามฮูเซน (อ.)
ค่ำที่ ๖ มุฮัรรอม ฮ.ศ. ๑๔๔๑ (๕ กันยายน ๒๕๖๒)
บรรยายโดย ฮุจญตุลอิสลาม ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี
ถอดบทความโดย กัสมา พีรูซอะลี ค้นคว้าฮะดิษโดย เชคมูฮัมหมัดเบเฮสตี้ ธำรงทรัพย์
ก่อนอื่นขอชุโกรในเนี้ยะมัตและเตาฟิกที่เราได้รับในเดือนมุฮัรรอมมุลฮารอม ซึ่งในค่ำคืนนี้ได้เข้าสู่ค่ำคืนที่ 6 อัลฮัมดุลิลละฮ์ ถือว่าเราได้ผ่านครึ่งทางกันแล้ว กับการรำลึกถึงกองคาราวานที่เรียกว่า “กองคาราวานแห่งการรำลึก”
🌍 สูงสุดของการไว้อาลัยในความเศร้า
ขอย้ำเตือนว่า ในเรื่องวันเวลา ยิ่งเข้าใกล้วันอาชูรอ มากเท่าไหร่ การไว้ทุกข์ การไว้อาลัย ในความโศกเศร้าของพวกเรานั้น ยิ่งต้องเพิ่มความเข้มข้นให้มากขึ้น จนกระทั่งถึงวันอาชูรอ
นี่คือ จุดสูงสุดของการไว้อาลัยในความเศร้า
แท้จริงแล้ว “จุดสูงสุดของการไว้อาลัยในความเศร้า” คือ คำสั่งเสียที่มาจากบรรดาอะอิมมะฮ์ (อ) และด้วยกับคำสั่งเสียเหล่านี้ มีองค์คุณต่อพวกเราอย่างใหญ่หลวง ดังนี้แล้ว ท่านอิมามญะฟัร อัศ-ศอดิก (อ) จึงได้กล่าวไว้ในริวายัตบทหนึ่งความว่า
“نفس المهموم لظلمنا تسبيح وهمه لنا عبادة”
(นัฟซุลมะฮมูม ลิซุลมีนา ตัสบีฮุน วะ ฮัมมุฮู ลานา อิบาดะฮฺ)
ความว่า ลมหายใจที่ผ่านมาจากความโศกเศร้า ของ เจ้าของลมหายใจ ที่มีต่อการรำลึกถึงเรา(อะฮฺลุลเบต) หรือ สำหรับการรำลึกถึงการกดขี่ ที่ได้เกิดขึ้นกับพวกเรานั้น พึงรู้เถิดว่า ลมหายใจของบุคคลผู้นั้น คือ “ตัสเบี๊ยะฮฺ” (تسبيح )
🔴 ลมหายใจแห่งความเศร้าคือ “ตัสเบี๊ยะฮฺ” (تسبيح )
ด้วยกับ “ตัสเบี๊ยะฮฺ” (تسبيح ) คือ การซิกรุลลอฮ์ หรือการรำลึกถึงเอกองค์อัลลอฮฺ(ซบ) ดังนั้น เพียงเรามีความเศร้า ลมหายใจของเรานั้น ก็จะเป็น “ตัสเบี๊ยะฮฺ” ซึ่งลมหายใจแห่งความเศร้าของเรานั้น เหมือนกับการกล่าว…
“سبحان الله ، والحمد لله ، ولا إله إلا الله ، والله أكبر “
(ซุบฮานัลลอฮฺ วัลฮัมดุลิลลาฮ์ วะลาอิลาฮาอิลลัลลอฮฺ วัลลอฮูอักบัร) และเสมือนกับ “ตัสเบี๊ยะฮฺ”อื่นๆ และคนที่อยู่ในความเศร้า ส่งผลทำให้ลมหายใจของเขา คือ ตัสเบี๊ยะฮฺ เพราะในความเศร้าของเขา คือ ผลบุญเหลือคณานับที่เอกองค์อัลลอฮ์ (ซบ) จะมอบให้กับเขา และเขาจะเห็นผลของมันในวันกิยามะฮ์
🔴 ความเศร้าที่มีต่ออะฮ์ลุลบัยต์ คือ อิบาดะฮ์ (عبادة)
“وهمه لنا عبادة”
(วะฮัมมุฮู ลานา อิบะดะฮ์)
ท่านอิมามญะฟัร อัศ-ศอดิก (อ) ยังกล่าวอีกว่า และความเศร้าของเขา ซึ่งความเศร้าอันนี้ คือ “ตัวแห่งความเศร้า” ในที่นี้มิได้หมายถึง ลมหายใจ แต่ชี้ถึง ตัวของความเศร้าของเขาที่มีต่อเรา (อะฮ์ลุลบัยต์) นั้นเป็นอิบาดะฮ์
รีวายัตนี้ชี้แจง อย่างเห็นได้ชัดว่า การไว้ทุกข์ไว้อาลัย ที่เรากำลังทำกันอยู่ในเดือนมุฮัรรอมนั้น เป็นตัสเบี๊ยะฮฺ และเป็นอิบาดะฮ์
คำว่า “อิบาดะฮ์” คือ การแสดงออกถึงความเป็นบ่าวและความต้องการ ณ เบื้องพระพักตร์ของเอกองค์อัลลอฮ(ซบ) ด้วยความนอบน้อมถ่อมตนและการยอมจำนนขั้นสูงสุด ในการระวังรักษาการกระทำต่าง ๆ ที่เป็นคำสั่งของพระองค์
นี่คือความสำคัญของการรำลึกถึงอะฮ์ลุลบัยต์ (อ) และโดยเฉพาะเรื่องราวที่พิเศษที่สุดสำหรับอะฮ์ลุลบัยต์ และสำหรับทุกคนที่มีความรักต่ออะฮ์ลุลบัยต์(อ) ก็คือ เรื่องของท่านอิมามฮูเซน (อ) รวมทั้งเอาลาด และอัศฮาบของท่านนั่นเอง
ดังนั้น จึงขอเน้นเตือนกันอีกครั้งหนึ่งว่า เวลาในแต่ละวันที่จะผ่านไป พึงระวังมัดระวัง อย่าให้วิถีการดำเนินชีวิตของเราอยู่กับสิ่งที่ไร้สาระ ด้วยการละเว้น และหลีกห่างจากสิ่งต่างๆที่ไม่ใช่ความเศร้า แม้แต่การพูดคุย ที่จะทำให้เราลืมว่ าเราอยู่ในเดือนมุฮัรรอม โดยเฉพาะในช่วง 10 วันแรกของมุฮัรรอม
อินชาอัลลอฮ์ ถ้าพี่น้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ก็จะได้รับมรรคผลอย่างมากมาย เพราะความโศกเศร้าอันนี้ มีคุณค่ามหาศาล
อนึ่งหากจะยกประเด็น ลมหายใจเป็นอิบาดัตหรือ ลมหายใจที่เป็นตัสเบี๊ยะฮฺนั้น จริงๆแล้วเราพบเพียงเรื่องเดียวก่อนหน้านี้ คือ ในเดือนรอมฎอน บุคคลนั้นจะต้องถือศีลอด การนอนของเขาก็เป็นอิบาดะฮ์ ลมหายใจของเขาก็เป็นตัสเบี๊ยะฮ์
เฉกเช่นเดียวกัน หากเราอยู่ในความเศร้าให้กับอิมามฮูเซน(อ) ผลบุญของเราก็เหมือนกับผลบุญของคนที่ถือศีลอด
ดังนี้แล้ว การปฏิบัติในเบื้องต้น จะขอฝากทุกคน ให้พยายามย้ำเตือนตัวตน และพยายามตักเตือนซึ่งกันและกัน เพราะการพูดคุยที่จะนำมาซึ่งเสียงหัวเราะ ควรที่จะหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาด อินชาอัลลอฮฺ เพื่อว่าในวันกียามัต พวกเราทุกๆคน จะฟื้นคืนชีพ ในนามของผู้ที่รำลึกถึงท่านอิมามฮูเซน(อ)
🔴 ปรัชญาความรักในวีรกรรมแห่งกัรบาลาอฺ
อนึ่งมุมมองความรักในวีรกรรมแห่งกัรบาลาอฺ เหตุผลที่วีรกรรมนี้ยิ่งใหญ่ สูงส่ง และเป็นอมตะ เพราะมันเป็นวีรกรรมที่เกิดมาจากความรัก และเป็นความรักประเภทที่สูงสุดในความรัก
ดังนั้น เราจะมาขยายเนื้อหาเรื่องราวความรักในกัรบาลาอฺกันต่อ เพื่อทุกคนจะได้เข้าใจในกัรบาลาอฺได้ละเอียดขึ้นว่า มีความรักอะไรบ้าง ซึ่งหากว่าเราอรรถาธิบายไม่ครบในทุกแง่มุม บางครั้งหลายๆคนอาจจะเข้าใจผิดได้ เพราะกัรบาลาอฺไม่ได้บอกกล่าว แค่เรื่องราวความรักแห่งการต่อสู้ เรื่องฟันดาบ เรื่องการนองเลือด เพียงเท่านั้น
ทว่าสิ่งต่างๆ ที่จะนำไปสู่การนองเลือด หรือจะทำอะไรได้ทั้งหมด ที่ดูแล้วรุนแรงและน่าหวาดกลัวเหล่านั้น แท้จริงแล้วมาจากความรักอื่นๆเข้ามาสมทบด้วย ซึ่งเกิดจากผลของความรักคนอื่นๆ ที่บุคคลนั้นมี ซึ่งการมีมากในกัรบาลาอฺ ไม่ใช่เพียงความรักที่จะพลี หรือความรักที่จะหลั่งเลือดเพียงอย่างเดียว
ในทางกลับกัน ตามที่ได้ฟังกันมา พบว่า มีผู้คนจำนวนมาก เมื่อได้ยินการพลีชีพของฮิซบุลลอฮฺในเลบานอน และการพลีชีพของพี่น้องเราในอิหร่าน คนนั้นได้เป็นชะฮีด คนนี้ได้เป็นชะฮีด เขาก็อยากจะเป็นชะฮีดด้วย แต่ความจริงแล้ว เขารู้หรือไม่ว่า การจะได้เป็นชะฮีดนั้น มันไม่ได้เป็นกันง่ายๆ เพราะยังมีความรักอื่นๆ ที่จะต้องทำให้มันเกิดขึ้นด้วย
บทสรุป เมื่อความรักอื่นๆ เกิดขึ้นกับใครแล้ว ความรักเหล่านั้นก็จะเกิดเป็นอานิสงส์ ทำให้คนๆนั้นเป็นชะฮีดได้ ดังนั้น ปราศจากความรักอื่นๆ ไม่มีใครสามารถเป็นชะฮีดได้
อนึ่งในสิ่งที่ทุกคนจะต้องรู้ การจะได้เป็นชะฮีดนั้น อัลลอฮ์ เป็นผู้เลือก เพื่อชี้ว่า การจะเลือกให้ใครเป็นชะฮีด ระดับไหนนั้น อยู่ที่อัลลอฮ์ และอยู่ที่เราด้วยว่า เรามีความรักกี่ประเภท เพราะในกัรบาลาอฺ มีความรัก ประเภทอื่นๆด้วย
ดังนั้น เราจะต้องศึกษา หาความรู้ เพื่อให้เรามีสิ่งนั้นด้วย เผื่อว่าเราจะได้เป็นชะฮีด เหมือนกับบรรดาวีรชนแห่งกัรบาลาอฺ
🌍 ปรัชญาความรักในกัรบาลาอฺ
สิ่งหนึ่งที่บรรดาอะเล็มอุลามาอฺ สายอิรฟาน สายคุรอฟาอฺ ให้ความสำคัญ ก็คือความรักที่เกิดขึ้นกับสิ่งอื่นๆ ที่นำไปสู่ความรักอันยิ่งใหญ่ที่กัรบาลาอฺ เพื่อชี้ว่า บรรดาวีรชนที่กัรบาลาอฺ โดยมีท่านอิมามฮุเซน อ. เป็นหัวหน้านั้น พวกเขามีความรักอยู่หลายประเภทด้วยกัน ซึ่งเราอาจจะอธิบายไม่ได้ทั้งหมดในมัจญลิซเดียว แต่เราจะยกตัวอย่างเพียงบางประเภท เพื่อให้ทุกคนไปทำความเข้าใจและไปปรับใช้ นำไปศึกษา นำไปค้นคว้า ในเรื่องอื่นๆ
◾➡️ ประการที่ 1 ความรักในการรำลึกถึงอัลลอฮ์(ซบ)
สิ่งสำคัญที่สุด คือ ความรักในการ รำลึกถึงอัลลอฮ์(ซบ) ซึ่งภาษาอาหรับ คือ การซิกรุลลอฮ
นี่คือ หนึ่งในความรักของเอาลาด อัศฮาบ หรือวีรชนแห่งกัรบาลาอฺ เพราะพวกเขารักในการที่จะซิกรุลลอฮ์ พวกเขารักในการที่จะรำลึกถึงอัลลอฮ์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งรายละเอียด เราจะค่อยๆพิสูจน์ว่า ทำไมต้องมีความรักในการซิกรุลลอฮ (ความรักในการรำลึกถึงอัลลอฮ์)
เบื้องต้น ต้องการพิสูจน์ว่า เมื่อมีความรักแล้ว แสดงว่ามันมีอยู่ตลอดเวลา ชีวิตของพวกเขา ลมหายใจของพวกเขา คือ การรำลึกถึงอัลลอฮ์
คำถาม : ทำไมที่กัรบาลาอฺ ทุกคนจึงแน่วแน่ มั่นคง และสงบเยือกเย็น ท่ามกลางเพลิงแห่งสงครามที่เร่าร้อนที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์
เห็นได้ชัดว่า ทุกคนสงบนิ่ง ทุกคนไม่กลัวความตาย ทุกคนเผชิญความตาย และการหลั่งเลือด และการพลีที่สงบนิ่ง ที่มั่นคง อีกทั้งความศรัทธา อากีดะฮ์ อุดมการณ์พวกเขาไม่มีการกระทบกระเทือนใดๆ ไม่ว่าปรากฏการณ์ที่โหดร้ายประเภทไหนจะเกิดขึ้น พวกเขาสงบ พวกเขามั่นคง สงบนิ่ง ในเหตุการณ์อันหฤโหดอันนั้น
คำตอบ : เพราะพวกเขา อยู่กับการรำลึกถึงอัลลอฮ์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งอัลกุรอ่านได้ยืนยันสิ่งนี้
🔻 ซูเราะฮ์ อัรเราะอฺดฺ โองการที่ 28 (13/28)
——————
الَّذِينَ آمَنُوا وَتَطْمَئِنُّ قُلُوبُهُم بِذِكْرِ اللَّهِ ۗ أَلَا بِذِكْرِ اللَّهِ تَطْمَئِنُّ الْقُلُوبُ
“บรรดาผู้ศรัทธา และจิตใจของพวกเขาสงบด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮ พึงทราบเถิด! ด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮเท่านั้นทำให้จิตใจสงบ
คำอธิบาย : เอกองค์อัลลอฮ(ซบ) ทรงตรัสว่า
“الَّذِينَ آمَنُوا وَتَطْمَئِنُّ قُلُوبُهُم بِذِكْرِ اللَّهِ ۗ”
บรรดาผู้ศรัทธานั้น เขาสร้างความสงบ ความมั่นคง ความมั่นใจ ความสงบนิ่ง
คำว่า “تَطْمَئِنُّ” คือ การมี “ตัฏมาอิน” หมายถึง ความสงบนิ่งในชีวิตของเขานั้น ด้วย “بِذِكْرِ اللَّهِ” ۗ( การรำลึกถึงอัลลอฮ์) อยู่เสมอๆ
ดังนั้น เมื่อใดที่เราจะพูดถึงกัรบาลาอฺ หรือ เมื่อใดที่เราพูดถึงวีรชน เราต้องถามตัวเราเองด้วยว่า เรานั้นมีซิกรุลลอฮฺพอแล้วหรือยัง ทว่าซิกรุลลอฮก็มีรายละเอียดของมันมาก
🔴 มาตรวัด “ซิกรุลลอฮฺ”
เบื้องต้นมาตรวัดระดับซิกรุลลอฮฺที่เพียงพอนั้น คือ ระดับที่ซิกรุลลอฮฺของเราสามารถสร้างความสงบนิ่ง ความเยือกเย็น และความมั่นคงให้เกิดกับจิตวิญญาณของเราได้นั่นเอง ดังนี้แล้ว เราต้องถามตัวตนของเราบ้าง
🔻 ตัวอย่าง การอินหนัง อินละคร
บางครั้งความเพลิดเพลินในดุนยา ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เช่น การอินหนังหรือละครไม่ว่าจะเป็นประเภทไหน บางครั้งช่วงหนึ่งของบางคน แทบจะกล่าวได้ว่า มุมมอง ทัศนคติ ความคิด รวมทั้งนิสัยของเขาจะเปลี่ยน เพราะการอินหนัง อินละคร ได้เอาเขาออกจากการซิกรุลลอฮไปแล้ว
เพราะฉะนั้น พึงระวัง หากเราไม่ฝึกฝนให้ได้อยู่ในสถานะที่มีความรักในซิกรุลลอฮฺอย่างแท้จริง เราไม่มีวันที่จะสร้างวีรกรรมใดๆได้
🔴การทำความเข้าใจวีรกรรมแห่งกัรบาลาอฺ
ในการทำความเข้าใจวีรกรรมทุกประเภท การช่วยเหลือศาสนานั้น ไม่ใช่เริ่มต้นด้วยการไปพลีที่กัรบาลาอฺเพียงอย่างเดียว แต่การช่วยเหลือศาสนายังมีอีกมีมากมายหลายรูปแบบ โดยเบื้องต้น จะขอยกมาตรวัดเพื่อให้เข้าใจง่าย ดังนี้
🔻 ตัวอย่าง : การถามตัวตน เพื่อทำความเข้าใจ คำว่า “สงบนิ่ง”
– เรารู้สึกสงบนิ่ง เวลาเราบริจาคหรือไม่
– เวลาเราบริจาคเงินจำนวนมากๆ หัวใจของเรารู้สึกเต้นตุบตับหรือไม่
– เวลาเราช่วยเหลือพี่น้อง ด้วยกับจำนวนเงินมากๆ เราสงบนิ่งหรือไม่
– แท้จริงแล้วเรารู้สึกเสียดายเงินส่วนนี้หรือไม่ และลึกๆแล้วเราอยากให้หรือไม่
รวมทั้งอะไรก็ตามที่ทำให้ใจไม่สงบนิ่ง สิ่งต่างๆเหล่านี้ คือ ข้อบ่งชี้ว่า มันจะเกิดขึ้นกับคนที่ไม่มีซิกรุลลอฮอย่างแท้จริงเท่านั้น
🔻 ตัวอย่าง การสำรวจซิกรุลลอฮฺของเรา
อนึ่งคำว่า “ซิกรุลลอฮฺ” นั้นยังมีความหมายต่างๆมากมาย เช่น เราสนใจในเวลาละหมาดหรือไม่ ใกล้จะอาซานแล้วเราเตรียมตัวละหมาดในตอนต้นของเวลาหรือไม่
ดังนี้แล้ว หากเราระลึกอยู่เสมอว่า เมื่อใกล้อาซาน เราจะเตรียมตัวละหมาด นั่นแสดงว่าเรามีซิกรุลลอฮแล้วในระดับหนึ่ง
บทสรุป การปฏิบัติตัวให้ผูกพันกับอัลลอฮ์ และผูกพันกับคำสั่งสอนของศาสนา พึงรู้เถิดว่า ด้วยซิกรุลลอฮฺอย่างแท้จริงเท่านั้น เราถึงจะพบกับสิ่งต่างๆเหล่านี้
เฉกเช่นเดียวกัน เมื่อเรามีเงิน ต้องถามตัวตนเสมอๆว่า เราต้องจ่ายซะกาตหรือไม่ เราต้องจ่ายคุมุซหรือไม่ เราต้องถามตัวตนของเราด้วยว่า หน้าที่ในการจ่ายคุมุซนี้พ้นไปแล้วหรือไม่ ทว่าการจะมีสิ่งนี้ได้ก็ต่อเมื่อ เราเป็นผู้ที่รำลึกถึงอัลลอฮ์อยู่เสมอๆ
แม้แต่เรื่องคลุมฮิญาบ การคลุมฮิญาบของเราเรียบร้อยหรือไม่ หรือยังมีส่วนใดขาดตกบกพร่องหรือไม่ ถ้าเราทบทวนตัวตนแบบนี้อยู่ตลอดเวลา นั่นแสดงว่า เรามีซิกรุลลอฮ์
เพราะคำว่า “ซิกรุลลอฮ์” ไม่ได้แปลว่าเรานั่งท่องซุบฮานัลลอฮ์ วัลฮัมดุลิลลาฮ์ เพียงอย่างเดียว ซึ่งหากใครมีความคิดเช่นนี้ พึงสังวรณ์เลยว่า ในบางครั้งการกล่าวเพียวอย่างเดียว มันเป็นเพียงแค่ลมปากเท่านั้น
ทว่าความหมายที่แท้จริงของ “ซิกรุลลอฮ์” คือการรำลึก และให้นึกถึงหน้าที่ต่างๆที่เราต้องทำ รวมทั้งที่ยังไม่ได้ทำ กล่าวคือ ให้นึกถึงหน้าที่ต่างๆเหล่านี้ทั้งหมด
🔻 ตัวอย่าง ภารกิจคนรวย
คนที่มีฐานะดี ในเรื่องการช่วยเหลือสังคม เขาได้ดูแล คนจนตามที่อัลลอฮ์(ซบ) ทรงประสงค์ เพียงพอแล้วหรือยัง และในด้านกิจการของศาสนาไม่ว่าจะช่วยเหลือประเภทใด เขาได้ช่วยเพียงพอแล้วหรือยัง
การรำลึก การถามตัวตนแบบนี้ คือ ซิกรุลลอฮ จากนั้นก็ค่อยๆพัฒนาไปเรื่องอื่นๆ ให้ถามตัวตนอยู่เสมอว่า เราพัฒนาจิตวิญญาณของเราดีแล้วหรือยัง เราพัฒนาความรู้ของเราดีแล้วหรือยัง ซึ่งหากว่าพัฒนาแล้ว หมั่นถามตัวตนเสมอๆว่า ความรู้ของเราได้ทำให้เรารู้แจ้งในเรื่องของอัลลอฮ(ซบ) แล้วหรือยัง แต่เมื่อใดที่เราคิด หรือรำลึกแบบนี้ ก็คือ การซิกรุลลอฮ
ในซูเราะฮ์ อัรเราะอฺดฺ โองการที่ 28 อัลลอฮ(ซบ.)ประโยคต่อมา ได้ฟันธง(ให้คำตอบอย่างเด็ดขาด) ความว่า
“أَلَا بِذِكْرِ اللَّهِ تَطْمَئِنُّ الْقُلُوبُ”
(ด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮเท่านั้น ที่ทำให้จิตใจสงบ)
คำอธิบาย : พึงรู้ พึงสังวรณ์เถิดว่า การจะทำให้จิตใจของเจ้ามั่นคง รวมทั้งการให้ชีวิตของเจ้าสงบเยือกเย็น ในหนทางของอัลลอฮ(ซบ)นั้น “ بِذِكْرِ اللَّهِ” ด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮ์ในหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละรูปแบบของการซิกรุลลอฮนั้น ก็มีรายละเอียดเป็นอย่างมาก
ดังนั้น หากจะพูดคำใดคำหนึ่งจากปากของเรา จำเป็นจะต้องพิจารณาก่อนว่า คำพูดที่ได้กล่าวไปนั้นถูกต้องตามหลักศาสนาหรือไม่ เช่น บาปหรือไม่ นินทาหรือไม่ ให้ร้ายคนอื่นหรือไม่ อัลลอฮ์พึงพอใจหรือไม่ ดูถูกคนอื่นหรือไม่ และอีกมากมาย
เราต้องสร้างนิสัยให้ติดอยู่กับตัว คิดก่อนพูดทุกครั้ง ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์อะไรก็ตาม ก่อนจะพูดอะไรออกไป เราต้องคิดพิจารณาให้ดีก่อนว่า สิ่งที่เราจะพูดนั้นถูกหรือไม่ กดขี่สิทธิ์ผู้หนึ่งผู้ใดหรือไม่ ซึ่งถ้าเรารำลึกถึงสิ่งต่างๆเหล่านี้ ก่อนที่เราจะพูด นั่นแสดงถึง การพูดของเราเป็นซิกรุลลอฮ์
เพราะทั้งหมดที่ผมพยายามอธิบายมานี้ จุดเริ่มต้นมาจากความคิดทั้งสิ้น ตามที่บอกไปแล้วว่า การที่เราพูดถึงซิกรุลลอฮ์ มิได้แปลว่า ต้องหมายถึง ซุบฮานัลลอฮฺ วัลฮัมดุลิลลาฮ์ วะลาอิลาฮาอิลลัลลอฮฺ วัลลอฮูอักบัร เพียงเท่านั้น
เราพบว่า มีคนจำนวนมาก ในขณะที่ปากของเขา กล่าว ซุบฮานัลลอฮฺ วัลฮัมดุลิลลาฮ์ วะลาอิลาฮาอิลลัลลอฮฺ วัลลอฮูอักบัร แต่การกระทำของเขาไม่ได้พิสูจน์ว่า “เขาซิกรุลลอฮ” ซึ่งดูได้จากพฤติกรรมของเขา อยากจะพูดอะไร เขาก็พูด ผิดถูกไม่เกี่ยว ขอให้ได้พูด
ทว่าที่กัรบาลาอฺไม่ได้เป็นเช่นนี้ อย่าลืมว่า เรื่องคำพูดเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อพูดออกไปแล้วจะให้ดูดเสียง เซ็นเซอร์เหมือนในทีวีคงเป็นไปไม่ได้
◾➡️ อามั้ลประการที่ ๑ วีรชนแห่งกัรบาลาอฺ อยู่กับการซิกรุลลอฮ์ (ต่อช่วงที่ ๒)
หมายเหตุ : เรายังอยู่ในหัวข้อ 🌍 ปรัชญาความรักในกัรบาลาอฺ
แน่นอน การรำลึก(การซิกรุลลอฮฺ)ที่กัรบาลาอฺนั้น สูงส่งกว่าที่เราเป็นอยู่ และสูงส่งเกินกว่าที่เราจะทำได้ ซึ่งสิ่งนี้ คือ ประการแรกที่ทำให้วีรชนแห่งกัรบาลาอฺ ไม่เกรงกลัวสิ่งใด และ ไม่เกรงกลัวผู้ใด เว้นแต่อัลลอฮ(ซบ) ซึ่งคุณลักษณะนี้ บ่งบอกถึง ในดวงใจของเขาไม่มีสิ่งอื่นใด หรือหากจะใช้วาทกรรมของอิมามฮูเซน(อ) นั่นก็คือ เขาไม่พบสิ่งใด เขาไม่มองเห็นสิ่งใด ตามที่ท่านอิมามฮูเซน(อ)ได้กล่าวในดุอาอฺอะรอฟะฮ์
🔻 ตัวอย่าง การดุอาอฺ คือ ซิกรุลลอฮฺ
อย่าลืมว่า “ดุอาอฺอะรอฟะฮ์” เป็นลำนำหนึ่งแห่งกัรบาลาอฺ ซึ่ง ลำนำแห่งกัรบาลาอฺ ก็คือ ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้น ที่ได้จากคุณลักษณะบุคคลที่อัลลอฮ(ซบ)คัดสรรนั้น บ่งบอกถึง อามั้ลอิบาดัตของวีรชนแห่งกัรบาลาอฺ สามารถอธิบายบทเรียนแห่งการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงทุกแง่มุมของชีวิตให้กับมนุษย์ได้อย่างคลาสสิค
กอปรกับความประเสริฐของดุอาอฺนี้ เนื่องมาจากท่านอิมามฮูเซน(อ) ได้เรียงร้อยอ่านดุอาอฺอะรอฟะฮ์ หลังจากที่ท่านออกจากมาดีนะฮ์เข้าสู่มักกะฮ์ เพราะอิมามฮูเซน(อ)รู้แล้วว่า ไม่มีประโยชน์ใดๆที่จะขอความช่วยเหลือจากชาวมะดีนะฮ์และวันนั้น ข้อพิสูจน์สำหรับชาวมะดีนะฮ์ จึงถูกทำให้สมบูรณ์
ต่อมาท่านอิมามฮูเซน(อ)ได้เดินทางเข้าสู่มักกะฮ์ และได้ข้อสรุปเฉกเช่นเดียวกัน คือในมักกะฮ์ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะชาวมักกะฮ์ และคนที่ไปทำฮัจย์ ก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับชาวมะดีนะฮ์
หมายเหตุ : ขอแนะนำ ย้อนกลับไปอ่านบทความ ลำดับเหตุการณ์การปฏิวัติของอิมามฮูเซน(อ) ในบทที่ ๒/๑ (ค่ำที่ ๒ มุฮัรรอม ฮ.ศ. ๑๔๔๑)
▪ สาระศึกษาและข้อสังเกตุ
ด้วยกับเหตุการณ์ในเดือนมุฮัรรอม เกิดหลังจากเดือนซุลฮัจญะฮ์ ซึ่งสมัยนั้น การเดินทางมีเพียงทางบกเพียงทางเดียว คือ ด้วยอูฐ ด้วยม้า ดังนี้แล้ว ด้วยความมุ่งหวัง อิมามฮูเซน(อ) จึงไปปรากฏตัวที่มักกะฮ์ก่อน
ทว่า จริงๆแล้ว ท่านอิมามฮูเซน(อ) รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ซึ่งในภาษาทางศาสนา เรียกว่า เพื่อ “اتمام الحجة” (อิตตะมา มุลฮุจญะฮ์) คือ เมื่อเหตุการณ์กัรบาลาอฺเกิดขึ้น มวลมนุษย์ที่ทำฮัจญ์ในยุคนั้น จะได้ไม่พูดว่า “อิมามฮูเซน(อ) ไม่ได้มาหาพวกเรา และไม่มีสิทธิ์อ้างว่า พวกเรามาทำฮัจญีที่มักกะฮ์ ถ้าพวกเรารู้ เราก็ได้ไปช่วยอิมามฮูเซน(อ)ทัน”
ด้วยเหตุผลนี้ อิมามฮูเซน(อ) จึงไปปรากฏตัวที่มักกะฮ์ ก่อนที่จะเข้าสู่กัรบาลาอฺ เพื่อประกาศเจตนารมณ์ของท่าน ในการต่อสู้กับทรราชย์ที่เป็นฟาซิก
ชัดแจ้ง ในยุคสมัยนั้น ความตกต่ำของอิสลามไปถึงขั้นที่ว่า ฟาซิก ที่กินเหล้า ทำซินาเป็นเนืองนิจ ได้ขึ้นมาเป็นคอลีฟะฮ์ของอิสลาม ขึ้นมาเป็นทายาททางอำนาจของท่านนบี
บริบทนี้ชี้ถึง สถานภาพของอิสลามตกต่ำถึงขีดสุด ชนิดที่ว่าตกต่ำกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว และถ้าไม่มีการลุกขึ้นสู้ในวันนั้น จะไม่มีกลิ่นไอของอิสลาม หลงเหลืออยู่จนถึงวันนี้ได้
ดังนั้น อิมามฮูเซน(อ) จึงต้องไปที่มักกะฮ์ เพื่อ “اتمام الحجة” (อิตตะมา มุลฮุจญะฮ์) แต่ด้วยความรู้นี้ อยู่เหนือญาณวิสัยของคนทั่วไปอย่างพวกเราที่จะเข้าถึงได้ จึงจำเป็นต้องวงเล็บว่า อิมามฮูเซน(อ) รู้ล่วงหน้าในสิ่งที่จะเกิดขึ้นทั้งหมด
ซึ่งหากจะลำดับเหตุการณ์การเคลื่อนไหวของอิมามฮูเซน(อ) จะอธิบายสั้นๆ คือ เริ่มตั้งแต่ท่านอิมามฮูเซน(อ) ออกจากมาดีนะฮ์เข้าสู่มักกะฮ์ จากนั้นท่านออกจากมักกะฮ์สู่กัรบาลาอฺ ต่อมาท่านก็ได้เป็นชะฮีดที่กัรบาลาอฺ
และหลังจากเหตุการณ์ที่กัรบาลาอฺ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ท่านอิมามฮูเซน(อ) รู้ในรายละเอียดล่วงหน้ามาแล้วทั้งหมด และตระหนักเป็นอย่างดีถึงความทุกข์ยากและความเจ็บปวดที่จะมีขึ้นในระหว่างการเดินทาง
ความจริงแล้ว เราได้อรรถาธิบายในคืนแรก(บทที่ ๑)แล้วว่า ญิบรออีล ได้ลงมาตะฮ์ซียะฮ์ (แสดงความเสียใจ)ในวันถือกำเนิดของอิมามฮูเซน(อ) และบอกว่า อัลลอฮ(ซบ)ได้สั่งให้ฉัน(ญิบรออีล)ลงมาอ่านมุศิบัตแห่งกัรบาลาอฺให้กับบัยตุลนบี (หรือ บัยตุลนบูวัต บ้านแห่งความเป็นนบี) ให้กับคนในครอบครัวนบี มีท่านรอซูลุลลอฮ์(ศ็อลฯ) ท่านอิมามอาลี(อ) ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(อ)นั่งอยู่ มีอิมามฮาซัน(อ) มีอิมามฮูเซน(อ)อยู่ในอ้อมกอดของท่านหญิง และยังมีซัลมานอัลฟาริซีย์ร่วมอยู่ด้วย
ดังนั้น ไม่มีการกระทำใดๆที่อิมามฮูเซน(อ) ไม่รู้ เมื่อเหตุการณ์กัรบาลาอฺเกิดขึ้น เพื่อที่บางสิ่งบางอย่าง จะได้เป็นข้อพิสูจน์ในวันกิยามัต คนเหล่านั้นจะได้ไม่ต้องไปอ้างกับอัลลอฮ(ซบ) ว่า ในวันที่เราไปทำฮัจญ์ เราไม่รู้ อิมามฮูเซน(อ) ไม่ได้มาหาเรา แน่นอน พวกเขาหมดสิทธิ์ที่จะพูดสิ่งต่างๆเหล่านี้
และบรรดาอิมาม จะเน้นย้ำอยู่เสมอว่า
“ان الله حجة البالغة”
(อินนัลลอฮา ฮุจญะตุลบาลีเฆาะฮ์ ) อัลลอฮ์มีฮุจญาต(ข้อพิสูจน์)ที่สมบูรณ์แบบ ดังนั้น เมื่อใดที่อัลลอฮ์(ซบ) จะพิสูจน์สิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว แน่นอนว่า มนุษย์จะไม่มีคำตอบใดๆมาเป็นข้ออ้าง ข้อแก้ตัว ซึ่งสิ่งนี้เรียกว่า ฮุจญะตุลบาลีเฆาะฮ์ ( حجة البالغة )
บทสรุป มนุษย์หมดสิทธิ์แก้ต่างให้ตนเอง เพราะสำหรับอัลลอฮ์ บทพิสูจน์ของพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง “ฮุจญะตุลบาลีเฆาะฮ์” ข้อพิสูจน์ของพระองค์นั้น สมบูรณ์ด้วยหลักฐานทุกประการแล้ว
ดังนั้น ในวันกิยามัต ในวันสอบสวน สมมุติ หากมนุษย์อ้างว่า อัลลอฮ(ซบ) กล่าวหาเขา ซึ่งเบื้องต้นมีมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่ดื้อรั้น ไม่ยอมรับ โดยอ้างว่า ไม่ เราไม่รู้ เราไม่ได้ทำ เราไม่ได้เป็นเช่นนั้น
อย่าลืมว่า พระองค์ก็จะให้อวัยวะต่างๆของมนุษย์มายืนยัน เช่น มือของเขา เท้าของเขา จิตใจของเขามาเป็นพยานว่า อวัยวะเหล่านั้นก็จะตอบ ใช่คิดแบบนี้ ส่วนตัวเขาไม่รู้อยู่ตรงไหน เขาปฏิเสธไม่ได้ เพราะนี่คือ “ฮุจญะตุลบาลีเฆาะฮ์” (มีข้อพิสูจน์ที่สมบูรณ์)
บริบทเหล่านี้ คือ เหตุผลที่อิมามฮูเซน(อ)เข้าสู่มักกะฮ์ และตลอดเส้นทาง มีวาทกรรมต่างๆ นับตั้งแต่จากมาดีนะฮ์เข้าสู่มักกะฮ์ จากมักกะฮ์เข้าสู่กูฟะฮ์ จะเห็นได้ว่า ทุกคำพูดของอิมามฮูเซน(อ) คือ ฮุจญะฮ์สำหรับมนุษย์ทั้งโลก
และด้วยเหตุผลนี้ ดุอาอฺอะรอฟะฮ์ จึงถูกอ่านในภารกิจแห่งกัรบาลาอฺ หลังจากอิมามฮูเซน(อ)ตัดสินใจ “اتمام الحجة” ได้ข้อพิสูจน์สมบูรณ์แล้วว่า การเข้ามาเชิญชวนชาวเมืองมักกะฮ์และฮุจญาตที่กำลังรอพิธีฮัจญ์นั้นไร้ประโยชน์
ต่อมาอิมามฮูเซน(อ)ก็ตัดสินใจออกจากมักกะฮ์ ในวันที่ 9 ของเดือนซุลฮิจญะฮฺ มุ่งสู่กัรบาลาอฺ แต่ก่อนจะออกจากมักกะฮ์ เพื่อจะมุ่งสู่อิรักนั้น ท่านอิมามฮูเซน(อ) ได้แวะกลางทาง คือ แวะที่ทุ่งอะรอฟะฮ์ และทำการอ่านดุอาอฺอะรอฟะฮ์
ดังนั้น ในดุอาอฺอะรอฟะฮ์ ที่ผมบอกว่า ในดุอาอฺอะรอฟะฮ์ก็เป็นลำนำของกัรบาลาอฺ มีคำต่างๆมากมายที่เราควรศึกษา โดยเฉพาะเหตุการณ์ ณ ทุ่งอะรอฟะฮ์ คือ การทำความเข้าใจอัลลอฮ์ และทำความเข้าใจในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์
และจะพบว่า ในดุอาอฺอะรอฟะฮ์นี้ มีหลายๆประโยค ที่ซาบซึ้งตรึงใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะความหมายในหลายๆประโยค ถ้ามนุษย์รับรู้ และทำเข้าใจได้ อินชาอัลลอฮฺ ชีวิตและปัญหาในโลกนี้ สำหรับเขา จบ
ทว่าในสิ่งที่ต้องตระหนัก ตามที่บอกไปแล้วว่า “ดุอาอฺอะรอฟะฮ์” เป็นลำนำแห่งกัรบาลาอฺด้วย ดังนี้แล้ว จะขอยกประโยคสั้นๆ ซึ่งหนึ่งในท่อนสั้นๆในดุอาอฺอะรอฟะฮ์นั้น อิมามฮูเซน(อ)กล่าวว่า
“مَا ذَا وَجَدَ مَنْ فَقَدَكَ”
(มาซา วะญาดา มัน ฟากอดัก)
คำอธิบาย : ตัวบทนี้อยู่ช่วงท้ายดุอาอฺอะรอฟะฮ์ ความว่า เขาเจออะไร เขาพบอะไร หรือเขามีอะไร ซึ่งเมื่อพิจารณา จะเห็นว่า ตัวบทนี้ต้องการชี้ว่า คนที่ “فَقَدَكَ” คือ คนที่ไม่มีพระองค์ หากถามว่า ถ้าเราไม่มีอัลลอฮ์ เราจะมีอะไร คำตอบ คือ แน่นอนว่า ศักดิ์ศรี ชื่อเสียงเกียรติยศ ทรัพย์สินเงินทอง รวมทั้งทุกสิ่งทุกอย่าง ย่อมมีวันเสื่อมเสียและสูญสลาย
“وَمَا الَّذى فَقَدَ مَنْ وَجَدَکَ”
( วะมัลละซี ฟากอดะมัน วะญะดัก)
และอะไรที่เขาไม่มี ถ้าเขามีอัลลอฮ์
คำอธิบาย : บุคคลใดก็ตาม ถ้าเขามีอัลลอฮ์(ซบ) เพียงพระองค์เดียวแล้ว อะไรอีกเล่าที่เขาจะไม่มี นี่คือบทหนึ่ง
คำถาม : ที่กัรบาลาอฺมีอะไร
คำตอบ : ที่กัรบาลาอฺมีอัลลอฮ์(ซบ)
จริงอยู่ที่กัรบาลาอฺ ทั้งศาสตราวุธ และกำลังพลก็ไม่ค่อยมี อีกทั้งน้ำที่จะดื่มก็ไม่มี แต่พวกเขามีอัลลอฮ์ เขาจึงยืนหยัดได้ เพราะลำนำแห่งชีวิตของพวกเขา คือ อัลลอฮ์ แม้ไม่มีอะไร พวกเขาก็อยู่ได้
ดังนั้นแล้ว พวกเราก็เช่นกัน ขอให้ในจิตใจของเรามีอัลลอฮ์อย่างแท้จริง ซึ่งสิ่งนี้ ก็คือ มีความรักในการที่จะรำลึกถึงอัลลอฮ์(ซบ) และข้อพิสูจน์นี้ เราจะเห็นได้ในกัรบาลาอฺ ยิ่งใกล้วันอาชูรอ โดยเฉพาะในค่ำคืนอาชูรอ พวกเขาหมกมุ่นอยู่กับการซิกรุลลอฮ
“یصلون و یدعون و یستغفرون”
( ยูศ็อลลูน,วะยัดอูน ,วะยัสตัฆฟิรูน) ในค่ำคืนอาชูรอ พวกเขาอยู่กับยูศ็อลลูน ‘يُصَلُّونَ ’ (อยู่กับการละหมาด) อยู่กับวะยัดอูน ‘و یدعون’ (อยู่กับการดุอาอฺ) และอยู่กับยัสตัฆฟิรูน ‘يَسْتَغْفِرُونَ’ (อยู่กับการอิสติฆฟารฺ )
แท้จริงแล้ว พวกเขาไปถึงตรงนั้นแล้ว ไปถึงขั้นเป็นวีรบุรุษที่เป็นเอาลิยาอฺของอัลลอฮ์ แต่พวกเขาก็ไม่ลืมการอิสติฆฟาร(การอ้อนวอนขออภัยโทษ)
หมายเหตุ : วันที่ 9 ซุลฮิจญะฮ์ “วันอะรอฟะฮ์” เป็นวันที่เอกองค์อัลลอฮ(ซบ) ให้ความสำคัญและใส่ใจเป็นพิเศษไปยังสามสถานที่และมนุษย์สามจำพวก ดังนี้
1 กัรบาลาอฺ และบรรดาผู้ซิยารัตอิมามฮุเซน(อ)ที่กัรบาลาอฺ
2 ทุ่งอะรอฟะฮ์ และบรรดาผู้แสวงบุญที่รวมตัวกัน ณ สถานที่ดังกล่าว
3 ทุกสถานที่บนโลกนี้ที่มีการยื่นมือวิงวอนขอดุอาอฺยังพระองค์พร้อมกับการสำนึกผิดในความผิดบาป
◾➡️ อามั้ลประการที่ ๑ วีรชนแห่งกัรบาลาอฺ อยู่กับการซิกรุลลอฮ์ (ต่อช่วงที่ ๓)
หมายเหตุ : เรายังอยู่ในหัวข้อ 🌍 ปรัชญาความรักในกัรบาลาอฺ
🔻 ตัวอย่าง : การอิสติฆฟารฺ คือ ซิกรุลลอฮ์
การอิสติฆฟารฺ ก็คือ การรำลึกถึงอัลลอฮ์ แต่เมื่อการบีบบังคับให้บัยอัตเริ่มเข้มข้นหนักยิ่งขึ้น และพวกมัน(ศัตรูศาสนา)ได้ประกาศในคืนอาชูรอว่า คืนนี้ถ้าไม่มีการให้บัยอัต พรุ่งนี้เราจะทำสงคราม
ท่านอิมามฮูเซน(อ) เมื่อได้ยินคำประกาศนั้น ท่านจึงส่ง ท่านอบัลฟัฎลฺ อัลอับบาส ไปเจรจาต่อรองว่า ขอเวลาอีกหนึ่งคืนได้หรือไม่
คำถาม : อิมามฮูเซน(อ)ขอเวลาอีกหนึ่งคืน เพื่ออะไร
คำตอบ : อิมามฮูเซน(อ)ได้กล่าวกับท่านอบัลฟัฎลฺ อัลอับบาส ว่า
“فهو يعلم اني قد كنت احب الصلاة”
(ฟะฮูวา ยะอฺลามู อินนี ก็อด กุนตา อะฮับบัศศอลาฮ์) พวกเขา ทุกคนก็รู้ว่า ฉันรักการละหมาด ฉันขอลาเพื่อทำการละหมาด
“و تلاوة کتابه”
(วะติลา วะติลกีตาบิฮี)
และฉันชอบอ่านอัลกุรอาน
“و کثرة الدُّعاء و الإستغفار”
(วะกิฟรอตุดดุอาอฺ วัลอิสติฆฟารฺ)
พวกเขาทุกคนรู้ดีว่า ฉันชอบ ฉันรักการดุอาอฺ การอิสติฆฟารฺมาก
สาระศึกษาและข้อสังเกตุ : เมื่อพิจารณาตัวบท จะเห็นว่า อิมามฮูเซน(อ) ใช้คำว่า ‘รัก’ ไม่ใช่เพียงแค่ขอละหมาด แต่ท่านบอกว่า ฉันรักการละหมาดและรักการอ่านอัลกรุอ่านเป็นอย่างมาก แล้วท่านยังกล่าวต่ออีกว่า ฉันรักการอ่านดุอาอฺ (การวิงวอน)ต่ออัลลอฮ์ และฉันรักการอิสติฆฟารฺ
นี่คือ เหตุผลที่ท่านอิมามฮูเซน(อ) ขอเวลาในค่ำคืนนี้ หนึ่งคืน เพื่อให้ได้อยู่กับอัลลอฮ์ โดยท่านอิมามฮูเซน(อ)กล่าวว่า ขอให้ฉันได้อยู่กับที่รักของฉัน และพรุ่งนี้ขอยืนยันว่า ฉันตกลงทำสงครามหรือจะทำอะไรก็ตาม ฉันพร้อม
ต่อมา ท่านอบัลฟัฎลฺ อัลอับบาส ก็ไปเจรจา ได้ข้อสรุปว่า เหล่าทรชนเหล่านั้นยอม ซึ่งจริงๆแล้ว ในตอนแรก พวกมันมีแผนจะโจมตีในคืนอาชูรอ แต่เมื่ออิมามส่งท่านอบัลฟัฎลฺ อัลอับบาส ไปขอถึงขนาดนี้ พวกมันก็ยอม โดยในคืนนั้น ทั้งฮะดิษและรีวายัตได้กล่าวไว้ว่า
“و قام أصحابه کذلک”
(วะกอมุ อัศฮาบู กาซาลิก) และบรรดาอัศฮาบของอิมามฮูเซน(อ) ก็เป็นเช่นนี้ นั่นก็คือ
“یصلون و یدعون و یستغفرون”
พวกเขาอยู่กับการละหมาด อยู่กับการขอดุอาอฺ และอยู่กับการอิสติฆฟารฺ
คำอธิบาย : เพื่อจะชี้ว่า ที่กัรบาลาอฺ ในคืนสุดท้ายของชีวิตวีรชนเหล่านั้น ก็ยังอยู่กับการอิสติฆฟารฺ ซึ่งหากถามว่าทำไม คำตอบก็คือ เพราะการละหมาด การอ่านอัลกรุอ่าน การขอดุอาอฺ และการอิสติฆฟาร ทั้งหมดนี้คือ การซิกรุลลอฮ โดยเฉพาะความประเสริฐของการละหมาด ในอัลกุรอ่าน บอกว่า
“وَ لَذِكْرُ اللَّهِ أَكْبَرُ”
(วะละซิก รุลลอ ฮีอักบัร)
ความว่า การละหมาด คือ การซิกรุลลอฮที่ยิ่งใหญ่
การซิกรุลลอฮฺ คือ ข้อพิสูจน์ของพวกเขา ซึ่งหากถามว่า ทำไมพวกเขาต้องทำถึงขนาดนั้น ซึ่งจริงๆแล้ว บุคคลเหล่านี้ คือ ชาวสวรรค์ ที่ได้รับการรับรองโดยท่านอิมามฮูเซน(อ)
รีวายัต บันทึกว่า ท่านอิมามฮูเซน(อ) ได้กล่าวยืนยัน เมื่อตอนค่ำของอาชูรอว่า พวกเขาเป็นชาวสวรรค์ และไม่เพียงเท่านั้นอิมามยังยืนยันกับทุกคนถึงรางวัลอันยิ่งใหญ่ ที่ได้ยืนหยัดมาด้วยกัน จนกระทั่งขอร้องให้ทุกคนจากไป
ทว่าหลังจากท่านอิมามฮูเซน(อ) ได้รับรองสวรรค์แก่พวกเขาแล้ว ปรากฏว่า พวกเขาก็ยังคงอยู่กับการอิสติฆฟารฺ
ดังนั้นแล้ว ระดับพวกเรา อย่าตะกับโบรโดยเด็ดขาด ทั้งนี้พึงพยายามสำนึกทบทวนตัวตนอยู่ตลอดเวลาว่า เราคือ หนึ่งผู้ผิดพลาด
ดังนั้น เมื่อเราทบทวนรู้แล้วว่า เราผิดพลาด เราต้องขออภัยโทษต่ออัลลอฮ์ และเปลี่ยนแปลงตัวตน ด้วยการสำนึกผิดให้เป็นประจำสม่ำเสมอ
คำถาม : ทำไมอัศฮาบแห่งกัรบาลาอฺ จึงอยู่กับซิกรุลลอฮ
คำตอบ : เพราะพวกเขารู้ว่า ด้วยซิกรุลลอฮเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการละหมาด รูปแบบของการอ่านอัลกุรอาน หรือรูปแบบของดุอาอฺ ซึ่งหมายถึง ไม่ว่าจะเป็นบุรุษหรือสตรี ต้องซิกรุลลอฮ์สิ่งนี้เท่านั้น ที่จะทำให้จิตใจของพวกเขามั่นคง
🔴 ข้อพิสูจน์บททดสอบที่หนักที่สุดในโลก
แน่นอน ความแกร่ง ความแน่วแน่ ความหวั่นไหวย่อมเกิดกับมนุษย์ เพราะจริงๆแล้ว ในอดีต อัลลอฮ(ซบ) เคยพิสูจน์ความหวั่นไหวกับบรรดานบีมาก่อน โดยพระองค์เขย่าขวัญบรรดานบี จนสั่นสะท้านอย่างรุนแรง ถึงขั้นที่ต้องร้องออกมาว่า
“متی نصر الله”
(มาตา นัสรุลลอฮ์)
คำอธิบาย : นบีในบางยุค ถึงขั้นต้องร้องออกมาว่า เมื่อไหร่ อัลลอฮ์ จะช่วยสักที เพราะบททดสอบนั้น หนักหน่วงเสียเหลือเกิน
เห็นได้ว่า แม้แต่บรรดานบี ก็ยังร้อง เมื่อถูกอัลลอฮ์(ซบ)ทดสอบ นบีร้องออกมาว่า มาตา นัสรุลลอฮ์ เมื่อไหร่ อัลลอฮ์(ซบ) จะมาช่วย หรือ เมื่อไหร่การช่วยเหลือของอัลลอฮ์(ซบ)นั้นจะมีมาสักที
ทว่าไม่มีการทดสอบใดในโลกแห่งการสร้างนี้ จะหนักหน่วงเท่ากับกัรบาลาอฺอีกแล้ว ซึ่งถ้าเราเข้าไปในรายละเอียด นัยยะคือ เข้าไปถึงในจิตวิญญาณของแต่ละคนของบรรดาวีรชนแห่งกัรบาลาอฺ เราจะรู้ว่า บททดสอบที่กัรบาลาอฺนั้นหนักหน่วงที่สุด และปรัชญาในการทดสอบครั้งนั้น พบว่า ทั้งบุรุษและสตรีแห่งวีรชนในกัรบาลาอฺนั้น ไม่มีใครหลุดจากการทดสอบเลย แม้แต่คนเดียว
บทสรุป ความมั่นคงของวีรชนแห่งกัรบาลาอฺ ประการที่ ๑ เพราะพวกเขาอยู่กับการซิกรุลลอฮฺ อยู่กับการรำลึกถึงอัลลอฮ์(ซบ) ตลอดเวลา แต่ทั้งนี้ ‘การรักในซิกรุลลอฮ’ หมายความว่าอย่างไรนั้น ไม่ใช่จะเข้าใจกันได้ง่าย แน่นอน ยากมาก แต่ถ้าเราทำอยู่ตลอดเวลา เราก็มีโอกาสได้สำนึกตัวตนและวิงวอนขออภัยโทษยังพระองค์
อัลฮัมดุลิลละฮ์ ที่เอกองค์อัลลอฮ(ซบ) ทรงเมตตาให้พวกเราได้ดำเนินชีวิตในประเทศอิหร่าน ซึ่งมรรคผลนี้ ทำให้เราได้สัมผัสกับบรรดาอะเล็มอุลามาอฺ เป็นจำนวนมาก และพบว่า อะเล็มอุลามาอฺบางท่านนั้น ซิกรุลลอฮ์ตลอด 24 ชั่วโมง
อนึ่ง ที่เป็นข้อสังเกตุ ถ้าเราหันไปถามอะไรประโยคหนึ่งกับอะเล็มอุลามาอฺ ท่านก็จะตอบ และเมื่อตอบเสร็จแล้ว ท่านก็จะหันไปโดยที่นิ้วของท่าน ก็ขยับตัสเบี๊ยะห์อยู่เหมือนเดิม ปากของท่านก็จะพร่ำเรียก พระนามของอัลลอฮ(ซบ) ด้วยพระนามต่างๆ ซึ่งเป็นไปตามสถานการณ์ที่เกิด โดยจะยกตัวอย่างอุลามาอฺท่านหนึ่งท่านหนึ่งเพื่อเอาบะรากัต
◾➡️ อามั้ลประการที่ ๑ วีรชนแห่งกัรบาลาอฺ อยู่กับการซิกรุลลอฮ์
หมายเหตุ : เรายังอยู่ในหัวข้อ 🌍 ปรัชญาความรักในกัรบาลาอฺ
🔻 ตัวอย่าง : การซิกรุลลอฮ์ โดย อยาตุลลอฮ์ เบฮญัต
อยาตุลลอฮ์ เบฮญัต อุลามาอฺผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคสมัย ท่านจะมีการซิกรุลลอฮฺที่แตกต่างกับคนทั่วไปเป็นอย่างมาก บางครั้งในช่วงที่เรานั่งฟังใกล้ๆท่าน เมื่อมีคนมาสลาม ท่านก็จะกล่าวว่า
“یا ستار العیوب”
(ยา ซัตตารัล อุยูบ)
โอ้ !!! พระผู้ทรงปกปิด ปมด้อย ของมนุษย์
คำอธิบาย : คำว่า ซัตตารฺ แปลว่า ปกปิด ส่วนคำว่า อุยูบ แปลว่า ปมด้อย
ด้วยความสงสัย เราจึงถามท่านไปว่า ทำไมท่านต้องกล่าวแบบนี้ด้วย เมื่อมีบางคนมาสลามกับท่าน
ครู (อยาตุลลอฮ์ เบฮญัต) ก็ตอบว่า เพราะมีบางคนที่มาหา มาสลามท่าน ในลักษณะที่ใบหน้าของเขายังเป็นลิงอยู่ และบางคนใบหน้าของเขานั้นยังเหมือนหมูอยู่
ด้วยเหตุผลนี้ ท่านจึงไม่ต้องการเห็น เพราะท่านต้องการเห็นคนที่มาหาท่าน ในลักษณะที่เป็นมนุษย์ธรรมดาเหมือนที่มนุษย์ทั่วไปเห็น จึงบอกอัลลอฮ์(ซบ) ว่า “ให้ปกปิดความชั่วของพวกเขา จากสายตาของฉัน”
หมายเหตุ : ท่านซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี เป็นลูกศิษย์ท่านอยาตุลลอฮ์ เบฮญัต
นี่คือ ตัวอย่างการซิกรุลลอฮฺของอุลามาอฺ ซึ่งแต่ละท่านจะมีต่างกรรมต่างวาระ ซึ่งบางท่าน เราพบว่า คำซิกรุลลอฮของพวกเขาก็จะเปลี่ยนไป ทว่าทุกๆการมีความรักในการซิกรุลลอฮฺ เหล่านั้น คือ ตัวบ่งชี้ว่า พวกเขาได้ซิกรุลลอฮ์ด้วยความรักตลอดเวลา และพวกเขาจะไม่เรียกสิ่งใด เว้นแต่เรียกหาอัลลอฮ(ซบ) ดั่งวรรณกรรม “ไลลามัจญนูน”
ตามที่บอกไปแล้วว่า ไลามัจญนูน คือ วรรณกรรมที่อารีฟ รจนาผู้ชายที่หลงรักใครคนหนึ่งอย่างแท้จริง โดยสร้างรูปธรรมให้เราเข้าใจในรหัสยะความรัก ระหว่างมนุษย์ที่มีต่ออัลลอฮ โดยอุปมา อัลลอฮ์คือไลลา ส่วนผู้ศรัทธาอุปมา คือ มัจญนูน หนุ่มผู้คลั่งรัก หลงใหลในตัว ไลลา พร่ำเรียกหาแต่เพียงไลลา
🔻 ตัวอย่าง : การเพรียกเรียกหาความรัก
แน่นอน แม้แต่มนุษย์ที่หลงรักกับมนุษย์ เขายังต้องเพรียกพร่ำ เพ้อพร่ำ เพ้อไปยังคนที่เขารัก เฉกเช่นเดียวกันบุคคลที่มีรักต่ออัลลอฮฺ(ซบ) และบุคคลที่อาชิกกฺต่ออัลลอฮ(ซบ) เขาก็จะพร่ำเพ้อถึงแต่ไลลาของเขา และไลลาของเขาก็คือ เอกองค์อัลลอฮ(ซบ) ซึ่งเนื้อหาเกี่ยวกับวรรณกรรมนี้ ต้องการชี้ว่า วีรชนที่กัรบาลาอฺก็มีแต่สิ่งนี้
ความจริงแล้ว ในกัรบาลาอฺมีเรื่องต่างๆมากมาย ซึ่งหากศึกษาเหตุการณ์หลังจากค่ำคืนอาชูรอจะพบว่า เมื่อทุกคนทั้งเอาลาดและอัศฮาบได้ข้อสรุปทุกอย่างเรียบร้อยแล้วว่า ในวันพรุ่งนี้จะเกิดสงคราม แต่ท่านอิมามฮูเซน(อ) ก็ยังกล่าวปราศรัยเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อปลดเปลื้องทุกๆพันธนาการให้กับทุกๆคนอีกครั้ง
ทว่า หลังจากการปราศรัยผ่านพ้นไป กลับพบว่า เจตนารมย์ยังยืนหยัดเหมือนเดิม ในริวายัตได้กล่าวว่า ทุกคนก็ได้แยกย้ายไปตามกระโจมของตนเอง ส่วนคนที่ไม่มีหน้าที่เฝ้ายาม (รักษาความปลอดภัย) พวกเขาบางคนจะอยู่ในท่ารูกัวอฺ บางคนอยู่ในท่าซูญูด บางคนอ่านอัลกุรอาน บางคนอยู่ในท่าอิสติฆฟารฺ เพราะรู้แล้วว่า ในวันพรุ่งนี้พวกเขาจะได้พบเจอเอกองค์ อัลลอฮ(ซบ)ที่เขารักแล้ว
บริบทนี้ หมายความว่า หากพวกเขายังมีความผิดบาปอะไรก็ตาม ในทุกวินาที พวกเขาได้ขอวิงวอน ขออภัยโทษ ขออัลลอฮ์(ซบ) ล้างบาปของพวกเขาให้หมด และให้ไปพบเจอพระองค์ในสภาพที่สะอาดบริสุทธิ์ สดใส โดยอย่าให้มีปมด้อยต่างๆ หลงเหลืออยู่ ซึ่งแน่นอน ทุกๆกระโจม อยู่ในสภาพดังที่กล่าวเหมือนกันหมด
นี่คือ ความหมายของ คำว่า “รักในการซิกรุลลอฮฺ” ซึ่งเป็นเหตุผลที่ว่า สิ่งนี้สิ่งเดียวเท่านั้น ตามที่พระมหาคัมภีร์อัลกรุอ่านได้บอกว่า
🔻 ซูเราะฮ์ อัรเราะอฺดฺ โองการที่ 28
“أَلَا بِذِكْرِ اللَّهِ تَطْمَئِنُّ الْقُلُوبُ”
(อะลา บิซิกริลลาฮี ตัฏฏะมะอิน นุล กูลูบ)
ด้วยการรำลึกถึงอัลลอฮฺ เท่านั้น ที่ทำให้จิตใจสงบ
คำอธิบาย : สิ่งเดียวเท่านั้น ที่จะทำให้จิตใจของพวกเขาสงบและมั่นคง นั่นก็คือ ซิกริลลอฮ์นั่นเอง
◾➡️ อามั้ลประการที่ ๒ วีรชนแห่งกัรบาลาอฺ อยู่กับการละหมาด
หากศึกษาอามั้ลอิบาดัตที่กัรบาลาอฺ จะพบว่า ในบรรดาอะมั้ลอิบาดัตทั้งหมด สิ่งหนึ่งที่อิมามฮูเซน(อ) ให้ความสำคัญอย่างเต็มที่ และเป็นอามั้ลที่ ๒ ที่ในชีวิตของเรา หากประสงค์จะเป็นชะฮีด เราจะต้องให้ความสำคัญ และให้ความสนใจ หรือหากว่าเราอยากดำเนินชีวิตให้ได้ตามรอยเท้าของวีรชนแห่งกัรบาลาอฺ นั่นก็คือ การละหมาด
การละหมาดอย่างแท้จริง คือ สิ่งที่วีรชนแห่งกัรบาลาอฺได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ดังนี้แล้ว ขอเตือนทุกคนว่า อย่าทำเชือยแชกับเวลาการละหมาด และที่สำคัญ ถ้าประสงค์จะเป็นชะฮีด ต้องละหมาดตอนต้นของเวลา
ดังนั้น พึงสังวรณ์เลยว่า คนที่ละหมาดซุฮรี-อัสรี ในช่วงเวลา 15.00- 17.00 น.นั้น เป็นชะฮีดไม่ทันคนอื่นแน่นอน เพราะคนอื่น เขาเป็นชะฮีดกันหมดแล้ว
นี่คือ เหตุผลที่อิมามฮูเซน(อ) สั่งให้ละหมาดตอนต้นของเวลา ดังนี้แล้ว ที่เราเน้นเรื่องละหมาดอย่างมากมาย ก็เพื่อให้พวกเราทำความเข้าใจในเรื่องการทำอามั้ล อิบาดัต เพราะก่อนนี้กองทัพยะซีดไม่ได้เป็นกองทัพกาเฟร เพราะส่วนมากในสนามรบนั้นนมาซทุกคน ทว่าส่วนระดับหัวๆ ที่ชั่วๆที่ไม่นมาซนั้นอีกเรื่องหนึ่ง
อนึ่งหากศึกษาจะพบสิ่งที่น่าสนใจ คือ การละหมาดที่แท้จริง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบเรื่องการละหมาดของวีรชนแห่งกัรบาลาอฺ กับการละหมาดของอิบลิส จะพบว่า ในกัรบาลาอฺ มีวีรชนท่านหนึ่ง ชื่อ โฮร กล่าวคือ หลังจากที่เขาได้ฟังเรื่องราวที่มาที่ไปของอิมามฮูเซน(อ) อะไรทั้งหมด โฮรเข้าใจบริบท จึงเปลี่ยนแปลงได้ในทันที ด้วยการขอละหมาดร่วมกับอิมามฮูเซน(อ) ที่มาจากความเข้าใจอย่างแท้จริงและสมบูรณ์ซึ่งต่างจากอิบลิส(ไม่ขอเข้าในรายละเอียด)
บทสรุป อัตลักษณ์ของบุคคลที่มีศักยภาพ จะเห็นได้ว่า บทเรียนแห่งกัรบาลาอฺจะออกมาในทางอัคลาค ได้สอนการดำเนินชีวิตให้เราระวังกับสิ่งต่างๆที่อาจทำให้เราไม่ยอมสูญูดตามคำสั่งของเอกอัลลอฮ์(ซบ)