ปรมัตถ์แห่งการพลีสดุดีอาชูรอ: ค่ำคืนที่ 6 มุฮัรรอม ปี 1441 (ตอนที่ 2)

255

ปรมัตถ์แห่งการพลี สดุดีอาชูรอ version ๖๒ มัจญลิสอิมามฮูเซน (อ.)
ค่ำที่ ๖ มุฮัรรอม ฮ.ศ. ๑๔๔๑ (๕ กันยายน ๒๕๖๒)บรรยายโดย ฮุจญตุลอิสลาม ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี
ถอดบทความโดย กัสมา พีรูซอะลี ค้นคว้าฮะดิษโดย เชคมูฮัมหมัดเบเฮสตี้ ธำรงทรัพย์


🌍 ปรัชญาความรักในกัรบาลาอฺ (ต่อ)

➡️ อามั้ลประการที่ ๓ ในสภาวะวิกฤติ วีรชนแห่งกัรบาลาอฺ ให้ความสำคัญกับการละหมาดญะมาอะฮ์

ในกัรบาลาอฺ เมื่อสงครามเกิดขึ้น จึงตามมาด้วยการพลีที่สวยงาม เพราะสงครามประปรายนั้น เริ่มมีชะฮีดตั้งแต่ตอนเช้าของวันอาชูรอแล้ว

ต่อมา ถึงเวลาซุฮรี ขณะที่เสียงอะซานทางฝั่งกระโจมของท่านอิมามฮูเซน(อ)ดังขึ้น เมื่อถึงเวลาละหมาด อิมามฮูเซน (อ) ก็ส่งคนของท่านไปเจรจาว่า ขอพักรบ…ฉันขอละหมาดก่อน

ทว่าพวกเขา(ศัตรูอะฮฺลุลเบต) ให้คำตอบกลับมาว่า เราไม่พร้อม เราจะไม่หยุดรบ ตามมาด้วยคำพูดที่ดูหมิ่นต่างๆนานา รวมถึงคำละนะตุลลอฮ์มาจากพวกเขา โดยพวกเขาได้เย้ยหยันว่า กาเฟร ละหมาดด้วยหรือ ซึ่ง คำว่า กาเฟร นี้ในมุมมองของพวกมัน หมายถึง อิมามฮูเซน(อ) และอัศฮาบของท่าน

ด้วยกับคำตอกย้ำของศัตรูอะฮฺลุลเบต ที่ถามลูกหลานนบีว่า กาเฟรละหมาดด้วยหรือ แล้วพวกมันก็พูดอีกว่า เราจะไม่หยุดสงครามในขณะที่ท่านละหมาด

ดังนี้แล้ว เมื่อศัตรูอะฮฺลุลเบตไม่อนุญาตให้ละหมาดในขณะทำสงคราม ถามว่า อิมามฮูเซน(อ) หยุดการละหมาดหรือไม่ หรือ ไปแอบละหมาดในกระโจมหรือไม่

คำตอบ คือ ไม่ !!! อิมามฮูเซน(อ) ไม่ได้ไปแอบละหมาดในกระโจม และไม่ได้ไปละหมาดที่อื่นด้วย แต่ท่านละหมาดในสนามรบ ชัดแจ้งท่านละหมาดในท้องทุ่งกัรบาลาอฺ ด้วยการละหมาดเป็นญะมาอะฮ์อย่างเปิดเผย และเป็นการละหมาดในตอนต้นของเวลา

ดังนั้น ด้วยกับบริบทเหล่านี้ อยาตุลลอฮ์ ญาวาดี ออมูลีย์ ปราชญ์แห่งยุคสมัย จึงกล่าวว่า คุณลักษณะพิเศษ 3 ประการในกัรบาลาอฺ ถึงอามั้ลสำคัญที่สุดที่ควรศึกษา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ เรื่องละหมาด

จะเห็นได้ว่า การยืนหยัดของอิมามฮูเซน(อ) ในเรื่องการละหมาดญะมาอะฮ์ในที่เปิดเผยนั้น คือ ตัวบ่งชี้ลักษณะเฉพาะของบุคคลที่มีคุณภาพทางศาสนา แน่นอน ย่อมหมายถึง บุคคลที่มีศักยภาพ

ซึ่งหากจิตวิญญาณของเราเข้าใจบริบทนี้ แม้แต่ในสนามรบ เราก็ต้องอยู่แถวหน้า แม้ในสนามแห่งการเสียสละ เราก็ต้องอยู่แถวหน้า และเช่นกันแม้อยู่ในสนามแห่งการภักดีเราก็ต้องอยู่แถวหน้า ซึ่งความหมายโดยรวมของอัตลักษณ์นี้ เราเรียกว่า ผู้ศรัทธาที่แท้จริง

ดังนี้แล้ว ท่านอิมามฮูเซน(อ) จึงให้ความสำคัญกับการละหมาดตอนต้นของเวลา และยิ่งอยู่ในสภาวะวิกฤติ ยิ่งต้องมีความเข้นข้นเพื่อมอบความรัก ความภักดียังเอกองค์อัลลอฮ(ซบ) ด้วยการให้ความสำคัญกับการละหมาดญะมาอะฮ์ และละหมาดอย่างเปิดเผยต่อหน้าศัตรู ทว่าทั้งนี้มีการวางกองกำลังบางส่วน เพื่อปกป้องมุศ็อลลีน “مصلین” หรือ ปกป้องผู้ละหมาดด้วยชีวิตของพวกเขา จากนั้นอิมามฮูเซน(อ)ก็ได้ทำการละหมาด

นี่คือ บริบทการให้ความสำคัญของการละหมาด ตามที่บอกไปแล้วว่า การละหมาด คือ หนึ่งในมรรคผลสำคัญที่ทำให้มนุษย์ได้พัฒนาตันตนไปเป็นผู้ศรัทธาที่แท้จริง และเพื่อให้รู้ว่า วีรกรรมแห่งกัรบาลาอฺ บอกสิ่งต่างๆเหล่านี้ มาเป็นแบบอย่าง และอัลลอฮ์ (ซบ.) ก็เชิญชวนเข้าสู่สิ่งนี้

อนึ่ง ท่านอิมามอะลี (อ) ได้กล่าวว่า หนึ่งในมรรคผล ของการละหมาด คือ
“واعلم أنّ كل شيء من عملك تبع لصلاتك”
(วะอฺลัม อินนาลิกุล ลิซัยอิน มิน อะมาลิกา ตะบะอุลลิ ศอลา ติกะ)
จงรู้เถิดว่า ทุกอามั้ลของเจ้า ขึ้นอยู่กับนมาซของเจ้า
อิมามอะลี(อ) บอกว่า
“كل شيء من عملك”
(กุล ลิซัยอิน มิน อะมาลิก)
จงรู้ไว้เถิดว่า การกระทำของพวกเจ้าทุกอย่าง
คำอธิบาย : ถ้าเราละหมาดแล้ว เราต้องตรวจสอบอิบาดัตของเรา ด้วยการทบทวนทุกการกระทำในชีวิตของเราทั้งหมด ตัวอย่างเช่น กินอย่างไร นอนอย่างไร พูดและปฏิบัติอย่างไรกับผู้คน เรากลัวหรือไม่ สู้หรือไม่ ขี้ขลาดหรือไม่ กล้าหาญหรือไม่ เห็นแก่ตัวหรือไม่ รวมทั้งหมดทั้งดีทั้งชั่ว ฯลฯ

อิมามอะลี(อ) บอกว่า พึงรู้เถิดว่า ในอะมั้ลทั้งหมดของพวกเจ้านั้น
“تبع لصلاتك”
(ตะบะอุลลิ ศอลาติก)
ผลของมัน ตามมาจากการละหมาดของพวกเจ้า หรือมันเป็นผลที่มาจากการละหมาดของพวกเจ้า

🔻 ตัวอย่าง : การละหมาดที่เห็นแก่ตัว

ถ้าในชีวิตประจำวันของเรา หากเราเป็นคนเห็นแก่ตัว รู้ไว้เลยว่าในละหมาดของเราก็เห็นแก่ตัว แต่บางครั้ง เราอาจจะเข้าใจยากว่า การละหมาดของคนที่เห็นแก่ตัวเป็นอย่างไรนั้น ขอให้พี่น้องศึกษาตัวอย่างการละหมาดที่มักกะฮ์ ไปเรียนรู้ด้วยตนเอง จึงจะรู้ว่าละหมาดแบบเห็นแก่ตัวนั้น หมายความว่าอย่างไร

แทบจะกล่าวได้ว่า ปัญหาและความวุ่นวายต่างๆ ที่เกิดจากการแย่งที่ละหมาดที่มักกะฮ์ เห็นได้อย่างชัดเจน แม้กระทั่งที่ละหมาด ก็ไม่ยอมแบ่งให้ใคร ซึ่งจริงๆแล้วมีตัวอย่างมากมาย ที่ชี้ให้เห็นว่า นี่คือ การละหมาดที่เห็นแก่ตัว

🔻 ตัวอย่าง : การละหมาดที่วอกแวก

การละหมาดของคนที่วอกแวก หมายถึง คนที่ขณะทำการละหมาด เขาคิด เขาห่วงในเรื่องต่างๆในชีวิตประจำวันควบไปด้วย

🔻 ตัวอย่าง : การละหมาดแบบสั้นๆ

ในทัศนะของผม ขออธิบาย (ตัฟซีร) หากการละหมาดของเราเป็นการละหมาดแบบสั้นๆลวกๆ การดำเนินชีวิตของเรา ก็เป็นแบบลวกๆ ทุกอย่างในชีวิตของเรา ก็จะอยู่อย่างหยาบๆ พอให้เสร็จไปเรื่อยๆ

🔻 ตัวอย่าง : การละหมาดแบบตระหนี่ถี่เหนียว

การตระหนี่ถี่เหนียวในการละหมาด หมายถึง อะไรที่เป็นละหมาดสุนัต เขาตัดออก ซึ่งหากว่า ใครก็ตามที่ละเลย ไม่ให้ความสำคัญกับการละหมาดสุนัต พึงรู้เถิดว่า ชีวิตประจำวันของเขา ก็จะเป็นคนที่ตระหนี่ถี่เหนียวในทุกเรื่องเช่นกัน

ทว่า ถ้ามนุษย์ที่เข้าใจ “การละหมาด” เมื่อกล่าว “อัลลอฮุอักบัร” เขาเข้าใจว่า แปลว่าอะไร ถ้าที่เขากล่าวว่า อัลลอฮุอักบัร เขาเข้าใจอย่างสมบูรณ์แท้จริง
“كل شيء من عملك”
(กุล ลิซัยอิน มิน อะมาลิก)
จงรู้เถิดว่า ทุกอย่างในชีวิตของเขาก็จะเป็นไปตามนั้น
ถ้าอัลลอฮุอักบัรของเราในละหมาด หมายถึง อัลลอฮฺยิ่งใหญ่จริงๆ ในชีวิตจริงของเราก็จะไม่มีอะไรยิ่งใหญ่อีกแล้ว เว้นแต่อัลลอฮ์องค์เดียว

ดังนั้น ด้วยกับความยิ่งใหญ่ของคำว่า อัลลอฮุอักบัร เฉกเช่นที่ ท่านอิมามอาลี(อ) ได้บอกในนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ เรื่อง ซีฟัต อัล-มุตตะกีน ซึ่งเราได้สอนกันไปแล้ว
อิมามอะลี อ. ได้กล่าวใน ซีฟัต อัล-มุตตะกีน ว่า

“عَظُمَ الْخَالِقُ فِی أَنْفُسِهِمْ فَصَغُرَ مَادُونَهُ”
(อะซุมัล คอ ลิกุ ฟี อันฟุซิฮิม ฟะศอฆุรอ มา ดูนาฮู)
คำอธิบาย : “عَظُمَ الْخَالِقُ” ถ้าอัลลอฮฺ(ซบ)ใหญ่จริง “فِی أَنْفُسِهِمْ”
ในจิตวิญญาณของเขาแล้ว “ فَصَغُرَ مَادُونَهُ” สิ่งอื่นจะเล็กหมด แม้ในภาพนอก มันจะยิ่งใหญ่ขนาดไหน มันก็เล็กไปโดยปริยาย แต่ปัญหาคือ เรามองทุกเรื่องในชีวิตของเราเป็นเรื่องใหญ่เสียหมด เพราะในสายตาของเรา มองเห็นอัลลอฮ์(ซบ) ยังเล็กอยู่

ดังนั้น อิมามอะลี(อ) จึงบอกว่า ถ้าทุกคนเห็นอัลลอฮฺ(ซบ)ใหญ่จริง ทุกอย่างสำหรับเขาเล็กหมด อาจารย์ของผมที่สอนนะฮ์ญุลบะลาเฆาะ ได้กล่าวว่า ที่นบีมูซา(อ) กล้าไปหาฟิรอูน เพราะนบีมูซา(อ) เห็นแล้วว่าอัลลอฮ(ซบ)ใหญ่จริง แม้ในโลกนี้ ฟิรอูนจะใหญ่ขนาดไหน แต่ฟิรอูนเล็กสำหรับนบีมูซา(อ)

ณ วันนั้น นบีมูซา(อ) ใส่เสื้อคนเลี้ยงแกะ เดินถือไม้เท้าไปกับนบีฮารูน(อ) คือ ไปกัน 2 คนกับน้องชาย แล้วบอกฟิรอูนว่า เจ้าจงลงมาจากบัลลังก์ หยุดทำการกดขี่ หยุดละเมิดต่อมนุษย์ ฯลฯ

ดังนั้น เมื่อใดที่อัลลอฮ์(ซบ)ยิ่งใหญ่ในจิตวิญญาณของเรา แน่นอนว่า เรื่องอื่นเล็กหมด และนี่คือ เหตุผลที่ว่า การพลีแห่งกัรบาลาอฺ กลายเป็นเรื่องเล็กทั้งหมด ทั้งๆที่มันเป็นเรื่องใหญ่ แต่กลับเล็กในสายตาของวีรบุรุษและวีรสตรีแห่งกัรบาลาอฺ

จะเห็นได้ว่า สมรภูมิแห่งกัรบาลาอฺ เป็นสงครามเดียวที่มีทั้งวีรบุรุษและวีรสตรีอย่างสมบูรณ์ และการปฏิวัติของอิมามโคมัยนี (รฎ) ก็เช่นกัน

อิมามโคมัยนี(รฎ) ผู้โค่นล้ม ราชันย์แห่งปวงราชา

คุณลักษณะที่โดดเด่นในความเป็นบ่าวของวีรชนแห่งกัรบาลาอฺ คือ “ความรัก” ซึ่งมัจญลิซก่อนหน้านี้ เราได้อรรถาธิบายไปแล้วว่า พระองค์อัลลอฮ (ซบ) ทรงกล่าวว่า “พวกเขารักพระองค์ และพระองค์ก็ทรงรักพวกเขา” (มาอิดะฮ์ 53 )

และอีกหลายโองการ ที่อัลลอฮ(ซบ) กล่าวถึงความรักที่บ่าวมีต่อพระองค์ ดั่งความว่า “และบรรดาผู้ศรัทธา ย่อมมีความรักที่ลึกซึ้งที่สุดต่อพระองค์อัลลอฮ์” (บากอเราะฮ์ 165) และเช่นเดียวกัน พระองค์ยังกล่าวว่า “หากพวกเจ้ารักพระองค์อัลลอฮ จงปฏิบัติตามฉัน พระองค์อัลลอฮ จะทรงรักพวกเจ้า” (อาลีอิมรอน 31)

ดังนั้น ด้วยกับจิตวิญญาณของวีรชนแห่งกัรบาลาอฺ คือ บรรดาผู้ศรัทธาที่มีความรัก ความภักดีอย่างแท้จริง จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะมองเห็นเรื่องอื่นๆทั้งหมดเป็นเรื่องเล็ก เว้นแต่เอกองค์อัลลอฮ (ซบ)เท่านั้นที่ยิ่งใหญ่จริง ซึ่งข้อพิสูจน์นี้ ได้ปรากฏในสมรภูมิแห่งกัรบาลาอฺ

จะเห็นได้ว่า สมรภูมิแห่งกัรบาลาอฺ คือ สงครามเดียวที่มีทั้งวีรบุรุษและวีรสตรีอย่างสมบูรณ์ และการปฏิวัติของท่านอิมามโคมัยนี (รฎ) แห่งยุคสมัยก็เช่นกัน

ในการต่อสู้ของท่านอิมามโคมัยนี(รฎ) กับกษัตริย์ชาห์นั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า ก่อนที่ท่านจะเข้าสู่สนามแห่งปฏิวัติ หรือ ก่อนที่ท่านจะคิดการปฏิวัติ ท่านได้สร้างตัวตนเพื่อทำความรู้จักอัลลอฮ(ซบ)ก่อน ด้วยการเรียนอิรฟาน รวมทั้งทำการตัรบียัต อบรมภายใต้ครูของอิรฟานถึง 18 ปี กล่าวคือ เฉพาะวิชานี้ ท่านได้รับการตัรบียัตเป็นเวลาถึง 18 ปี

จนกระทั่งถึงวันที่ท่านอิมามโคมัยนี(รฎ) มั่นใจว่า อัลลอฮ(ซบ)ยิ่งใหญ่ในดวงวิญญาณของท่าน ท่านจึงออกมาต่อสู้ ‘ต่อต้านชาห์’ ที่สืบเนื่องจาก ชาห์คิดที่จะขายประเทศให้กับอเมริกา

เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านอิมามโคมัยนี(รฎ)จึงขึ้นปราศรัย และในห้วงที่ปราศรัย(คุตบะห์) นั้น พบว่า เพียงแค่คำแรกๆถึงกับทำให้ชาวอิหร่าน ช็อค(โดนใจ) กระทั่งซื้อใจคนอิหร่านได้ทั้งประเทศน ถ้าแปล เป็นภาษาไทยอาจจะไม่ตรงเสียทีเดียว แต่อุปมาว่า กษัตริย์ชาห์ คือ ผู้ชายหน้าตัวเมีย

แน่นอน บริบทนี้ชี้ถึง การไม่เกรงกลัวผู้ใด เว้นแต่อัลลอฮ(ซบ) เพราะในวันนั้นอิมามโคมัยนี(รฎ) เรียกกษัตริย์ชาห์ว่า “มัรดั๊ก” ไอ้กะเทยตัวนี้ ต้องออกไปจากประเทศนี้ ซึ่งตอนนั้นกษัตริย์ชาห์ เป็น “ชอฮันชอฮี” (‘شاهنشاهی’) คือ ราชันย์แห่งปวงราชา

คำว่า “มัรดั้ก” แปลว่า คนที่มีความเป็นลูกผู้ชายน้อยมาก ซึ่งถ้าลูกผู้ชายคนไหนในอิหร่าน โดนเรียกด้วยคำว่า “มัรดั๊ก” ถือเป็นคำที่มีความหมายเจ็บมาก

ทว่าท่านอิมามโคมัยนี(รฎ) ขึ้นปราศรัย เรียก กษัตริย์ชาห์ ว่า “มัรดั๊กตัวนี้ ต้องออกไปจากประเทศนี้” อย่างไม่เกรงกลัวอะไรทั้งสิ้น ในทางกลับกัน พบว่า ผลสะท้อนที่ออกมา นั้น ทำให้คนอิหร่านถึงกับช็อคกันทั้งประเทศ เพราะคาดไม่ถึงว่า ท่านอิมามจะกล้าใช้คำนี้กับชาห์กษัตริย์ ผู้ยิ่งใหญ่ในสายตาของชาวอิหร่าน

คำถาม : ทำไมท่านอิมามโคมัยนี(รฎ) จึงกล้าใช้คำนั้น
คำตอบ : เพราะในจิตวิญญาณของอิมามโคมัยนี(รฎ) สัมผัสได้ว่า อัลลอฮฺ(ซบ) ยิ่งใหญ่จริง จึงทำให้สิ่งอื่นๆทั้งหมดกลายเป็นเรื่องเล็กในสายตาของท่าน

บทสรุป นี่คือ ข้อพิสูจน์การไม่เกรงกลัวผู้ใด เว้นแต่อัลลอฮ(ซบ) ที่ท่านอิมามโคมัยนี(รฎ) มีต่อ กษัตริย์ชาห์ แม้ว่า ณ วันนั้นสถานะของชาห์ จะใหญ่คับฟ้าเพียงใด แต่สำหรับอิมามโคมัยนี(รฎ)แล้ว เขาเล็กยิ่งกว่าโลงศพ

“กัรบาลาอฺ” คือ การปฏิวัติของคนที่รักการละหมาด

การละหมาดที่กัรบาลาอฺ คือ ข้อพิสูจน์ประการหนึ่ง เพื่อชี้ว่า ที่กัรบาลาอฺให้ความสำคัญกับการละหมาดเป็นอย่างมาก ถึงขั้นมีชะฮีดในขณะละหมาด กล่าวคือ ขณะละหมาด มีทั้งคนกำลังละหมาดโดนธนูยิง และมีทั้งคนปกป้องคนละหมาดก็เป็นชะฮีดโดนธนูยิง

กระนั้นก็ตาม ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น การละหมาดญะมาอะฮ์อย่างเปิดเผยแบบนี้ ต้องเกิดขึ้น ณ แผ่นดินกัรบาลาอฺ เพื่อเป็นข้อพิสูจน์ให้นักสู้ในอนาคต ได้รู้ว่า ที่กัรบาลาอฺ เป็นการปฏิวัติของคนที่รักการละหมาดอย่างแท้จริงนั่นเอง

ทีนี้ กลับมายังพวกเรา เราพบว่า มีชีอะฮ์บางคน เวลามาร่วมมัจญลิส เขาพูดการเมือง ประมาณว่าสามารถนำพาเขาไปถึงสวรรค์ได้ แต่เมื่อถึงเวลาอาซาน เขาไม่ละหมาด แต่ลุกขึ้นกลับบ้าน

จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีคนประเภทนี้ แน่นอนคนประเภทนี้จะไม่มีส่วนแบ่งใดๆจากวีรกรรมกัรบาลาอฺ นอกจากบางกรณีหากมีความจำเป็น เช่น เวลาเราเดินทางไม่สะดวกที่จะละหมาด ตามสถานีบริการน้ำมัน ตามศูนย์อาหาร หรือตามอะไรก็ตาม ที่เรารู้สึกว่าไม่ค่อยสะดวก ถือว่า ได้ ที่ว่าเรากลับมาละหมาดที่บ้านดีกว่า

อย่างไรก็ดี ถ้าไม่มีความจำเป็นจริงๆ จงพยายามละหมาดตอนต้นของเวลา อาซานเสร็จเราละหมาด ด้วยการเตรียมตัวละหมาดก่อนที่จะอาซานละหมาด เราเตรียมตัวให้เรียบร้อย

เพราะวีรบุรุษและวีรสตรีที่กัรบาลาอฺ ให้ความสำคัญกับการละหมาด พวกเขารักการละหมาด และหน้าที่ที่สำคัญในกัรบาลาอฺ พวกเขาได้แสดงการละหมาดที่สมบูรณ์ นั่นก็คือ วีรชนแห่งกัรบาลาอฺละหมาดตอนต้นของเวลา จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเกิดโศกนาฏกรรมหนักเพียงใดก็ตาม สำหรับพวกเขาแล้ว ไม่มีข้ออ้างใดๆที่จะรั้งรอเวลาละหมาด

ดังนั้น ถ้าเราคิดจะเดินทางในแนวทางนี้ พึงรู้เถิด กัรบาลาอฺสอนสิ่งนี้ ในการทำความเข้าใจว่า การติดตามเนื้อหา เรื่องราวของกัรบาลาอฺนั้น ไม่ใช่ติดตามเพียงเรื่องการพลี หรือมุศิบัตเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องเรียนรู้ว่า ความสำเร็จทั้งหมดที่เกิดขึ้น อาทิ

– ทำไมการต่อสู้นี้จึงเป็นอมตะ
– ทำไมการต่อสู้นี้จึงยิ่งใหญ่
– ทำไมนักสู้เหล่านี้จึงเป็นที่รักยิ่งของอัลลอฮ(ซบ)
– ทำไมพวกเขาจึงเป็น “اوِدّائَهُ” ผู้ถูกคัดสรร และ
ทำไมพวกเขา“وَاَحـِبـائَهُ” จึงกลายเป็นกลุ่มชนที่อัลลอฮ์ รักมากที่สุด
– ทำไมอิมามมะอฺซูม จึงให้สลามกับพวกเขาว่า เป็นเอาลิยาอ์ของอัลลอฮ

“السَّلامُ عـَلَيكُم يااَولياءَ الله”

ด้วยกับบริบทเหล่านี้ เราจำเป็นต้องศึกษาในทุกแง่มุมของความสำเร็จของพวกเขา ซึ่งรายละเอียดมีดังต่อไปนี้

๑. การรักในซิกรุลลอฮ์อยู่ตลอดเวลา
คำอธิบาย : หลังจากละหมาดเสร็จแล้ว อย่ารีบลุกขึ้น ทั้งนี้ให้อยู่กับการรำลึกบ้าง อิสติฆฟารฺบ้าง เพราะบางคนแทบจะกล่าวได้ว่า อาจจะไม่เคยอิสติฆฟารฺเลย หรือถ้ามีก็จะออกแนว อัลฮัมดุลิลลาฮ์โชว์ และ อัสตัฆฟิรุลลอฮ์โชว์

🔻 ตัวอย่าง : อัสตัฆฟิรุลลอฮ์โชว์(อวดให้ดู)

คำอธิบาย คำว่า “อัสตัฆฟิรุลลอฮ์โชว์” ก็คือ เวลาใครพูดอะไรผิด เขาก็อุทานอัสตัฆฟิรุลลอฮ์ ซึ่งจริงอยู่ บางครั้งเราก็ไม่ได้ยอมรับคำอัสตัฆฟิรุลลอฮ์แบบนี้ แต่ถ้าใครเป็นแบบนี้ เขาเรียกว่า อัสตัฆฟิรุลลอฮ์โชว์ ที่แสดงถึง การอัสตัฆฟิรุลลอฮ์ที่แท้จริง ไม่ได้เข้าไปในจิตใจของเขาเลย

จะเห็นได้ว่า การซิกรุลลอฮ์ และการละหมาดที่แท้จริงนั้นเกิดขึ้นที่กัรบาลาอฺ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พวกเขาต้องละหมาดให้ได้ แม้นจะต้องเสียชีวิตก็จะต้องละหมาดแบบนี้ให้ได้

ในที่นี้ หมายถึง “การละหมาดตรงต่อเวลา และการละหมาดญะมะอะฮ์ในที่เปิดเผย” เป้าหมายของพวกเขา ก็เพื่อให้อนุชนคนรุ่นหลัง หรือ มนุษยชาติรุ่นหลัง ได้รับรู้ว่า ในโลกนี้มีคนจำพวกหนึ่ง แม้แต่คนที่กำลังละหมาดอยู่ คนพวกนี้ก็ยังฆ่า ซึ่งต่อมาการละหมาดนี้ก็ได้เกิดชะฮีด

บทสรุป อิมามฮูเซน(อ) บรรดาเอาลาดและบรรดาอัศฮาบ คือ เสรีชนที่ได้ทำการละหมาด เพื่อแสดงความเคารพภักดีต่ออัลลอฮ์(ซบ)ด้วยความรัก ด้วยการขอบคุณอย่างแท้จริง พวกเขาละหมาด เพราะมีมุมมองว่า พระองค์คือ ผู้คู่ควรแก่การภักดี ไม่ได้ทำเพราะหวังรางวัล ไม่ใช่เพราะกลัวบทลงโทษ แต่ทำเพราะรัก

และแท้จริงแล้ว พวกเขาเคารพภักดีต่ออัลลอฮ(ซบ) ไม่ใช่เพราะกลัวนรกของพระองค์และไม่ใช่เพราะหวังหรือฝันจะได้สวรรค์ของพระองค์

อนึ่งที่สำคัญ สวรรค์และนรกไม่ได้อยู่ในสายตาของพวกเขาอีกต่อไป แต่ด้วย “ความรัก” ที่มีต่อพระองค์เท่านั้น ที่ทำให้เขานับถือศาสนาและเคารพภักดีต่อพระองค์ ซึ่งรหัสยะนี้คือ อิบาดัตที่มีค่า และคือ อิบาดัตสูงสุดของการเป็นบ่าว แต่บางครั้งอาจจะเหนือสติปัญญา สำหรับพวกเราที่จะเข้าใจได้

๒. รหัสลับและรหัสรักแห่งกัรบาลาอฺ

ปรัชญาอีกประการหนึ่ง ที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้จากเหตุการณ์กัรบาลาอฺ คือ รหัสลับและรหัสรักแห่งกัรบาลาอฺ ในการทำความเข้าใจว่า การที่อัลลอฮ์(ซบ)รักพวกเขา ไม่ใช่ว่า เขาพลีชีพ จนนองเลือดแล้วอัลลอฮ์จึงรัก แต่เหตุที่กลายเป็น ‘อะวิดดาอะฮ์’ หรือ ‘อะฮิบบะอะฮ์’ มาได้นั้น เป็นเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เป็นการกิยามของเอาลิยาอฺอัลลอฮ์ทั้งหมด เพราะฉะนั้น เมื่อพูดคำว่า “เอาลิยาอฺอัลลอฮ์” ต้องเป็นคนที่มีคุณลักษณะแบบนี้เท่านั้น

คุณสมบัติความรักของวีรชนแห่งกัรบาลาอฺ

องค์ประกอบที่สำคัญประการต่อมา จะเห็นได้ว่า บุคลิกภาพของวีรชนทั้งวีรบุรุษและวีรสตรีมีในกัรบาลาอฺ นั่นก็คือ พวกเขามีความรักในการเสียสละและการพลี ซึ่งจะมีอัตลักษณ์ในรูปแบบต่างๆ

คำถาม : ความรักแบบไหนที่เป็นข้อพิสูจน์ของวีรชนแห่งกัรบาลาอฺ

คำตอบ : ข้อพิสูจน์ความรักของพวกเขา ก็คือ พวกเขามุ่งมั่นแย่งชิงเพื่อให้ได้ออกสมรภูมิ หมายความว่า พวกเขาแย่งกัน ในการขออนุญาตจากท่านอิมามฮูเซน(อ) เพื่อออกไปทำสงคราม

นี้คือ ตัวบ่งชี้ลักษณะเฉพาะของบุคคลที่มีคุณภาพทางศาสนา ชัดแจ้ง พวกเขารักที่จะพลี และรักที่จะเสียสละ ดังนั้น ขอให้ทำความเข้าใจด้วยว่า การพร้อมพลีนั้นยังไม่พอ แต่ต้องรักที่จะพลีด้วย

🔻 ตัวอย่าง : ความรักของ ‘ญูน’ ที่มีต่ออิมามฮูเซน(อ)

การให้ได้ไปสู่สมรภูมิรบ ญูนถึงขั้นร้องไห้และก้มลงซบ จูบแทบเท้าทั้งสองของอิมามฮูเซน(อ.) แล้วเอาน้ำตาล้างเท้าอิมามฮูเซน(อ.) เป้าหมายเพื่อขอให้ได้เป็นชะฮีดด้วย พร้อมกับกล่าวว่า
“ฉันเกิดต่ำต้อย ฉันเกิดมาตัวเหม็น ฉันเกิดมาตัวดำ ฉันเกิดมาเป็นทาส โปรดให้โอกาสนี้กับฉันได้แสดงมะวัดดะฮ์ (ได้แสดงความรัก)ต่อลูกหลานนบีเถิด”
يَا ابْنَ رَسُولِ اللَّهِ أَنَا فِي الرَّخَاءِ أَلْحَسُ قِصَاعَكُمْ وَ فِي الشِّدَّةِ أَخْذُلُكُمْ وَ اللَّهِ إِنَّ رِيحِي لَمُنْتِنٌ وَ إِنَّ حَسَبِي لَلَئِيمٌ وَ لَوْنِي لَأَسْوَدُ فَتَنَفَّسْ عَلَيَّ بِالْجَنَّةِ فَتَطِيبَ رِيحِي– وَ يَشْرُفَ حَسَبِي وَ يَبْيَضَّ وَجْهِي لَا وَ اللَّهِ لَا أُفَارِقُكُمْ حَتَّى يَخْتَلِطَ هَذَا الدَّمُ الْأَسْوَدُ مَعَ دِمَائِكُمْ
โอ้บุตรของท่านศาสนทุตแห่งอัลลอฮ์! ในยามสุขสบาย ข้าพเจ้าได้กินในจานอาหารของพวกท่าน แต่ในยามทุกข์ยาก จะให้ฉันละทิ้งไปจากพวกท่านกระนั้นหรือ….

ขอสาบานต่ออัลลอฮ​ฺ แท้จริงกลิ่นกายของข้าพเจ้ามันช่างเน่าเหม็น แท้จริงสายตระกูลของข้าพเจ้าช่างต่ำต้อย และสีผิวของข้าพเจ้ามันช่างดำสนิทเสียเหลือเกิน

ขอท่านได้โปรดหายใจรดข้าพเจ้าในสรวงสวรรค์ด้วยเถิด เพื่อกลิ่นกายของข้าพเจ้าจะได้หอมหวน สายตระกูลของข้าพเจ้าจะได้มีเกียรติ และใบหน้าของข้าพเจ้าจะได้ขาวผ่อง
ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ ข้าพเจ้าจะไม่แยกตัวไปจากพวกท่าน จนกว่าเลือดที่ดำสนิทนี้จะได้ผสมผสานไปกับเลือดของพวกท่าน

‘ญูน’ ได้กล่าวประโยคนั้นพลางก็ร้องไห้พลาง จนกระทั่งท่านอิมามฮูเซน (อ) เองก็ไม่อาจกลั้นน้ำตาของตนเองไว้ได้ และได้อนุญาตแก่ญูนออกสู่สมรภูมิ

นี่คือ หนึ่งในอัศฮาบของอิมามฮูเซน(อ)ที่มีความรักในการเสียสละและรักในการพลี ทว่าจริงๆแล้ว อัตลักษณ์ของเอาลาดและอัศฮาบทั้งหมด รักในการพลี รักในการเสียสละ มีความสุขที่ได้แย่งกันพลี มีความภาคภูมิใจและพร้อมตลอดเวลาที่ไปเป็นชะฮีดก่อน ขอไปก่อน ขอให้ฉันได้ปกป้องท่าน ฉันจะเป็นคนปกป้องท่าน

“กัรบาลาอฺ” จุดกำเนิดความรักที่สวยงาม

การมีความรักในการเสียสละและรักในการพลี ของแต่ละวีรชนแห่งกัรบาลาอฺ ทั้งวีรบุรุษทั้งวีรสตรีที่ได้สร้างกันมานั้นมีรายละเอียดมาก

ดังนั้น อย่าได้คิดว่า สตรีไม่มีบทบาทในกัรบาลาอฺ ซึ่งตามที่เราได้อธิบายมาแล้วว่า ความสมบูรณ์ของเรื่องราวแห่งกัรบาลาอฺต้องมีสอง episode ซึ่งภาคที่หนึ่ง ต้องมีอิมามฮูเซน(อ)เป็นหัวหน้า ส่วนภาคที่สอง ต้องมีท่านหญิงซัยหนับ(สลามุลลอฮฯ)และเด็กๆเป็นนักแสดงนำ เรื่องราวนี้ ถึงจะนำไปสู่การจบอย่างสมบูรณ์

บทสรุป กัรบาลาอฺ ต้องมีสองภาค เพราะหากภาคหนึ่งภาคใดไม่มี แน่นอนเรื่องนี้ไม่สมบูรณ์ ทีนี้ เรามาศึกษาตัวอย่างสั้นๆ ที่ไม่ใช่มุศิบัต แต่เป็นตัวอย่างความรักในการพลีและการเสียสละของแต่ละท่านที่เกิดขึ้น ณ กัรบาลาอฺ โดยจะขอเริ่มที่ท่านอบัลฟัฎลฺ อัล-อับบาสก่อน

ความรักในการเสียสละและการพลีของ “ท่านอบัลฟัฎลฺ อัลอับบาส”

‘ท่าน อบุลฟัฏลฺ อัลอับบาส ’ คือ ผู้สร้างความสมบูรณ์ให้กับวีรกรรมแห่งกัรบาลาอฺ อย่างแท้จริง

ดังนั้น สำหรับมนุษย์ทุกชนชั้นที่จะเป็นผู้ศรัทธาที่แท้จริงจำเป็นต้องศึกษาเกล็ดความรักแบบฉบับอันยิ่งใหญ่ของวีรชนหนึ่ง ที่สำแดงในด้านของความจงรักภักดี และความนอบน้อมถ่อมตน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่มหาบุรุษผู้นี้มีนั่นเอง

จริงๆแล้ว เรื่องราวความรักในการพลีและการเสียสละของ ท่านอบัลฟัฎลฺ อัลอับบาส นั้น มีมากมาย แต่ด้วยกับเวลาไม่เพียงพอ จะขอยกมาเพียงหนึ่งตัวอย่าง

รายงานบันทึกว่า เมื่อ ท่านอบัลฟัฎลฺ อัลอับบาส ได้รับหน้าที่ ให้ไปหาน้ำให้อิมามฮูเซน(อ) และลูกหลาน ซึ่งทุกคนทราบดีว่า อิมามฮูเซน(อ)ไม่ได้ดื่มน้ำมาหลายวัน ซึ่งก่อนหน้านี้ แม้จะยังมีน้ำอยู่บ้าง แต่ก็มีสำหรับให้เด็กๆ ดื่มกินเพียงเท่านั้น

จนมาถึงวันอาชูรอ น้ำสำหรับเด็กๆที่มีอยู่บ้างก็หมดไป ซึ่งท่านอับบาส คือ คนที่รู้อย่างลึกซึ้งที่สุดว่า อิมามฮูเซน(อ) กระหายน้ำขนาดไหน

แน่นอนในสถานะที่เป็นมนุษย์ ทุกคนย่อมรู้ดีว่า มนุษย์ต้องการน้ำจะขนาดไหน และจะเกิดอะไรขึ้นในภาวะที่ร่างกายขาดน้ำ

ดังนั้น เมื่อท่านอับบาส ได้รับมอบหมายให้ไปหาน้ำ ซึ่งแต่ละริวายัตในเรื่องคำสั่งอาจจะมีขัดแย้งกันบ้าง เช่น บางคนรายงานว่า อิมามฮูเซน(อ)ให้ออกไปหา ในขณะที่บางคนรายงานว่า ท่านอับบาส มาขออนุญาต เพื่อจะทำภารกิจอันนี้เอง

อย่างไรก็ตาม แม้ที่มาของรีวายัตจะเป็นอย่างไร แต่หัวใจหลักของภารกิจนี้ คือ การหาน้ำมาให้ถึงกระโจม(คัยมาห์) เพื่อเอาน้ำมาให้ถึงอิมามฮูเซน(อ) และเด็กๆ และลูกหลานให้ได้ ซึ่งในริวายัตยังได้บอกอีกว่า ท่านหญิงสุกัยนาได้มาจูงมือท่านอับบาสเข้าไปในกระโจม “โอ้ท่านอาเดินตามฉันมา”

ทว่าเมื่อท่านอับบาส เข้าไปในกระโจมเพื่อจะไปเอาถุงน้ำที่แขวนอยู่ ซึ่งข้างในถุงไม่มีน้ำสักหยดแล้ว ขณะเดียวกันท่านอับบาสก็เห็นสภาพเด็กๆนอนกลางกองทราย

บางริวายัตรายงานว่า เด็กๆได้ยกเสื้อของตัวเองและเอาหน้าอกทาบไปบนพื้นทรายที่เคยมีน้ำหยดอยู่ เพื่อจะเอาความชุ่มช่ำ แต่ความจริงก็ไม่มีใครได้ดื่มน้ำจนถึงตอนบ่ายของวันอาชูรอ

แน่นอนว่า ท่ามกลางทะเลทรายดั่งมีไฟแผดเผา ร้อนเหลือเกิน สิ่งที่อับบาสได้ยินเด็กๆร้องหิวน้ำ หิวน้ำ หิวน้ำ จากอาการขาดน้ำ ทำให้เด็กๆบางคนนั้นมีอาการที่ร่อแร่ เป็นอย่างมาก

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนั้น ท่านอับบาส จึงขอท่านอิมามฮูเซน (อ) ว่า
“ฉันจะออกไปเอาน้ำให้ลูกหลาน เพราะสภาพที่ฉันเห็นลูกหลานหิวน้ำอยู่นั้น ฉันไม่สามารถที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้”

อนึ่งที่สำคัญ เมื่อ ท่านอับบาส รับภารกิจอันนี้ จะเห็นได้ว่า ความรักในภารกิจ ความรักในการเสียสละ ความรักในการพลี ท่านก็ได้ทำหน้าที่ของท่านอย่างสุดๆ จนสามารถตีฝ่าวงล้อมไปถึงลำธารน้ำได้สำเร็จ

ณ ลำธาร ขณะท่านอับบาสกำลังบรรจุน้ำใส่ถุง ด้วยกับตัวท่านก็ไม่ได้ดื่มน้ำมาหลายวันแล้ว จึงได้เอามือของท่านกวักน้ำขึ้นมาเพื่อจะดื่ม แต่ระหว่างนั้น มือก็ค้างอยู่กลางอากาศ พลันนึกถึงการกระหายของเมาลา และเด็กๆท่านจึงไม่ยอมจิบน้ำก่อน ท่านยอมเสียสละไม่ขอดื่มน้ำ เพื่อจะเอาน้ำไปให้เมาลาและเด็กๆที่กระโจมก่อน

ด้วยเหตุผลนี้ ท่านอับบาสจึงเทน้ำที่อยู่ในอุ้งมือลงลำธารเช่นเดิม จากนั้น ท่านก็กระโดดขึ้นบนหลังม้าแล้วควบทะยานฝ่าวงล้อมของศัตรูไปอย่างรวดเร็ว

ขณะเดียวกัน ศัตรูที่ชื่อ อุมัร อิบนิ ซะอด์ ลน. ซึ่งตั้งมั่นทำทุกอย่าง โดยออกคำสั่งว่า “อย่าให้น้ำ แม้แต่หยดเดียว ก็ไม่ให้ ได้พากลับไปยังกระโจมของลูกหลานของท่านนบีมูฮัมหมัด(ศ็อล)”

ต่อมา เมื่อทหารของฝ่ายศัตรู ได้รับคำสั่งเช่นนั้น จึงเข้าโจมตี แต่ด้วยท่านอับบาส คือ นักรบผู้ยิ่งใหญ่ การต่อสู้ การฟาดฟันครั้งยิ่งใหญ่ก็เกิดขึ้น ทว่าด้วยเพียงคนเดียว จึงไม่สามารถที่จะชนะกองทัพจำนวนมากได้ ท่านก็ค่อยๆอ่อนแรงลง แต่ท่านก็ยังฝ่าฟันออกไป จนกระทั่ง ศัตรูที่แอบข้างต้นไม้ ได้ฟันแขนข้างขวาของท่านขาด

ถามว่า เมื่อแขนข้างขวาขาดสะบั้น ท่านอับบาส หยุดภารกิจไหม

คำตอบ คือ ไม่!!! ท่านก็ยังคงควบม้าบุกต่อไป ผ่านไปอีกระยะหนึ่ง ศัตรูอีกตนหนึ่ง ก็บุกไปฟันแขนข้างซ้ายขาดอีกข้างหนึ่ง

คำถามต่อมา ท่านอับบาส หยุดภารกิจไหม
คำตอบ ก็คือ ไม่ !!! ในเมื่อท่านอับบาส รับภารกิจนี้มาจากอิมามฮูเซน(อ) มาแล้ว แน่นอนท่านอับบาส ต้องทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ

กอปรกับ ท่านอับบาส รักในภารกิจของท่านอย่างสุดซึ้ง ทว่าเพื่อจะชี้ว่า บริบทแห่งการเสียสละนี้ คือ “ความรัก” ซึ่งถ้าเราจะใช้คำว่า “รักอย่างมัวเมา ก็ไม่ผิดนัก” เพราะเป็นการรักอย่างมัวเมาในภารกิจที่ได้รับมอบหมาย

นี่คือ อีกคุณลักษณะหนึ่งของเอาลิยาอฺของอัลลอฮฺ ที่ชี้ว่า เขามัวเมาในอัลลอฮ์ ซึ่งในฮะดิษก็ใช้คำนี้ (ด้วยกับเวลาไม่พอ จึงไม่ขออธิบายในรายละเอียด) ในที่นี้ หมายถึง “รักในภารกิจ”

ขอย้อนกลับมายังความรัก ความเสียสละของท่านอับบาส เมื่อแขนทั้งสองข้างขาดสะบั้น ตาทั้งสองข้างของท่านก็เริ่มมองไม่เห็นเช่นกัน ซึ่งเกิดจากทหารคนหนึ่งได้ขว้างก้อนหินก้อนหนึ่งโดนหน้าผากของท่าน จึงทำให้เลือดของท่านไหลหยดลงเข้าตาทั้งสองข้าง จึงทำให้ท่านมองเส้นทางไม่เห็น และเริ่มมองไม่เห็นศัตรู

กระนั้นก็ตาม ด้วยความเป็นห่วงถุงนํ้าจะตก เมื่อไม่มีแขน ท่านอับบาส จึงใช้ปากคาบถุงน้ำและเชือกม้าในเวลาเดียวกันแล้วควบม้าต่อไป

ฝ่ายศัตรูเห็นว่าตัดแขนทั้งสองข้างแล้ว ยังไม่สามารถที่จะหยุดท่านอับบาสได้ มันก็ได้ยิงห่าธนู เข้ามาที่ร่างของท่าน กระทั่งท่านถูกทุบด้วยท่อนเหล็กตกลงจากหลังม้า สุดท้ายน้ำก็ไปไม่ถึงกระโจม

ทว่าความรัก ความเสียสละของท่านอับบาส ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะในช่วงที่ท่านอับบาสหายใจเฮือกสุดท้ายในอ้อมแขนอิมามฮูเซน(อ) ท่านอับบาสได้ขอร้องว่า
“โปรดอย่าเอาฉันไปฝัง ณ เวลานี้ และโปรดอย่าให้เด็กๆเห็นศพของฉัน เพราะถ้าหากเด็กๆเห็นศพของฉันในสภาพนี้ ความหวังของเด็กๆที่จะได้ดื่มน้ำก็จะหมดไป และเมื่อหมดความหวังความหิวโหยก็จะเพิ่มขึ้น”

บทสรุป นี่คือ ตัวอย่างหนึ่งในบุคลิกภาพของวีรชนแห่งกัรบาลาอฺ เมื่อได้รับมอบหมาย ไม่ว่าจะเป็นภารกิจหนึ่งภารกิจใด พวกเขาจะทำด้วยความรักอย่างสมบูรณ์

ความรักในการเสียสละและการพลีของ “ชะฮีดละหมาด”
ณ สมรภูมิรบแห่งกัรบาลาอฺ เมื่ออิมามฮูเซน(อ) ได้รับคำตอบจากศัตรูว่า พวกเขาไม่หยุดสงครามในเวลาละหมาดซุฮรีของวันอาชูรอ อิมามก็ได้จัดแถวละหมาด และมอบภารกิจพิเศษให้กับอัศฮาบสองท่าน สำหรับคุ้มกันอิมามโดยตรง

อัศฮาบท่านที่หนึ่ง ชื่อ ซะอิด บิน อับดุลลอฮ์ อัลฮานาฟีย์

ซะอิด บิน อับดุลลอฮ์ อัลฮานาฟีย์ คือ ผู้ทรงเกียรติและมีอิทธิพลมากในกูฟะฮ์ เป็นผู้ช่วยเหลือท่านมุสลิม บิน อะกีลในกูฟะฮ์ ทำหน้าที่ส่งจดหมายจากท่านมุสลิมจากกูฟะฮ์ในให้อิมามฮูเซน(อ)

ซะอิด บิน อับดุลลอฮ์ อัลฮานาฟีย์ อยู่กับอิมามฮูเซน(อ) กระทั่งวินาทีสุดท้าย ได้ทำหน้าที่อารักขาอยู่เบื้องหน้าของอิมามฮูเซน(อ) ขณะกำลังนำละหมาดในสมรภูมิ ด้วยการยืนรับธนูจากกองทัพศัตรูเพื่อปกป้องอิมาม(อ) จนได้รับฉายา ชะฮีดละหมาด ส่วนชะฮีดละหมาด ผู้จงรักภักดี ท่านที่สองชื่อ ซุเฮรฺ บิล กีล

จะเห็นได้ว่า อัศฮาบทั้งสองท่านนี้ คือ กำลังพลที่ปกป้อง และคุ้มกันอิมามฮูเซน(อ) บางครั้งอาจขยับไปทางซ้าย บางครั้งขยับไปทางขวาหรือหน้าหลัง คอยเวียน เพื่อไม่ให้ธนูของศัตรูยิงธนูเข้ามาไม่ว่าจะเข้าทางทิศหนึ่งทิศใด จะได้ไม่ต้องร่างท่านอิมามฮุเซน(อ)

จนในที่สุดท่านสะอัด บิน อับดุลลอฮ์ อัลฮานาฟีย์ และท่านซูเฮรฺ บิน กีล ก็ได้เป็นชะฮีด หลังจากที่ทั้งสองได้ทำหน้าที่ของท่านอย่างสมบูรณ์

ริวายัต บอกว่า ในขณะที่ฝ่ายกองทัพทรชน ได้ใช้ธนูระดมยิงลงมานั้น ในตอนแรกท่านทั้งสองใช้โล่รับบ้าง ใช้ดาบปัดบ้าง แต่ด้วยกับธนูที่ยิงมานั้นมีเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ท่านทั้งสองไม่สามารถใช้โล่ปัดได้ทัน

จังหวะนั้น ท่านแรกก็แอ่นอกใช้หัวใจของท่านรับธนู เพราะแน่นอนว่า ธนูบางดอก ถ้ารอดจากท่านไปได้ ก็จะไปถึงตัวของท่านอิมามฮูเซน(อ) ส่วนอีกท่านหนึ่ง ขยับคอ เพื่อใช้คอหอยของท่านรับลูกธนู เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกธนูนั้นไปถึงร่างของท่านอิมามฮูเซน(อ)

นี่คือ ความหมายของคำว่า “รักในภารกิจ” ที่อัศฮาบกล่าวว่า เมื่อภารกิจของฉัน คือ การปกป้องอิมามฮูเซน(อ) ฉันก็จะทำหน้าที่ปกป้องนี้ จนตัวของฉันตาย
ถามว่า เราเคยเจอแบบนี้หรือไม่ แน่นอน แทบจะกล่าวได้ว่า ไม่ !!! เพราะส่วนมากการเสียสละเช่นนี้ มีแต่ในหนัง มีในละครที่ว่า เมื่อมีคนยิงใครคนหนึ่ง อีกคนหนึ่งก็กระโดดรับแทน

ทว่าที่กัรบาลาอฺ มีทั้งกองทัพจำนวนมาก มีทั้งหอก ทั้งดาบ อีกทั้งมีธนูจำนวนมากที่ระดมยิงมา และธนูบางดอกที่กำลังจะผ่านไป เมื่อปัดไม่ทัน แต่ด้วยความรักที่มีต่ออิมามฮูเซน(อ) พวกเขารีบขยับตัว เพื่อเอาเรือนร่าง เอาคอของเขา รับธนูและก็ล้มลง ทีละคน ทีละคน

ในเวลาต่อมา เมื่อท่านอิมามฮูเซน(อ) ละหมาดเสร็จ ท่านได้รีดรุดไปอุ้มพวกเขา ทีละคน ทีละคนให้อยู่ในอ้อมกอดของท่าน และในขณะที่วิญญาณกำลังจะออกจากร่างนั้น ประโยคแรกที่อัศฮาบเหล่านี้ ถามอิมามฮูเซน(อ) เหมือนกันทุกคน คือ
“أو فيت يابن رسول اللّٰه”

ฉันได้รักษาสัญญาของฉันไหม โอ้บุตรแห่งรอซูลลุลลอฮฺ ฉันได้ซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ไหม…ฉันได้ปฏิบัติหน้าที่ที่มีต่อศาสนาไหม…หน้าที่ที่มีต่อท่านอิมามฮูเซน(อ) ฉันได้ปฏิบัติไหม…ในเมื่อฉันสัญญาว่า…ฉันจะปกป้องนมาซของท่านด้วยชีวิต…ฉันได้ทำตามสัญญานั้น แล้วหรือไม่…”

อิมามฮูเซน(อ) ได้ยินเช่นนั้น ก็ได้ยอมรับความซื่อสัตย์ในหน้าที่ของพวกเขา โดยตอบว่า แน่นอนพวกท่านได้ปฏิบัติตามสัญญาแล้ว และอิมามฮูเซน(อ) ยังแจ้งข่าวดีให้ทราบว่า
“أنت أمامي في الجنة”
“พวกท่านได้รุดหน้าก่อนฉันไปยังสรวงสวรรค์แล้ว เช่นนี้แล้ว เมื่อพวกท่านไปก่อน โปรดฝากสลามของฉันไปยังท่านตา รอซูลลุลอฮ (ศ็อลฯ) บอกกับท่านตาของฉันว่า “ฮูเซนก็กำลังจะตามไป”

เมื่อพวกเขาเหล่านั้นได้ยินคำยืนยันของท่านอิมามฮูเซน(อ)ก็ได้เป็นชะฮีดอย่างมีความสุข

นี่คือวีรกรรม ซึ่งเป็นที่มาของอัศฮาบ ‘ชะฮีดละหมาด’

ความรักในการเสียสละและการพลีของวีรสตรีในกัรบาลาอฺ

ตัวอย่างสุดท้าย ขอยกแบบฉบับความรักในการเสียสละและการพลีของวีรสตรีในกัรบาลาอฺท่านหนึ่ง ซึ่งวีระสตรีท่านนี้เป็นภรรยาของท่าน ญะนะดัต บิน กะอับ อันซอรี อัล-คอซราญี

ทว่าวีรสตรีท่านนี้ไม่ปรากฏชื่อ รู้แต่เพียงว่า นางเป็นภรรยาของ ญะนะดัต บิน กะอับ อันซอรี อัล-คอซราญี ซึ่งสามีของนาง คือ อัศฮาบคนหนึ่ง ที่เคารพรักท่านอิมามฮูเซน(อ)เป็นอย่างมาก และในท้ายที่สุดสามีของนางก็เป็นชะฮีดแห่งกัรบาลาอฺ

คำถาม : หลังจากที่สามีเป็นชะฮีดแล้ว ต่อมาวีรสตรีท่านนี้เหลืออะไร และทำอย่างไรกับสิ่งที่เหลือ
คำตอบ ก็คือ นางยังเหลือบุตรชาย อายุ 11 ขวบอีกคนหนึ่ง แต่หลังจากที่ทราบว่า สามีเป็นชะฮีดแล้ว นางก็ได้ทำการแต่งชุดนักรบให้กับลูกชายของนางทันที

ถึงแม้ว่าการจากไปของสามี ที่เกิดจากการถูกฟันแทง ถูกรุมทึ้งศพจากบรรดาทรชน จะดูน่าหวาดกลัวขนาดไหน แต่ก็ไม่ได้ทำให้จิตใจของนางเปลี่ยนแปลงไป

ในทางกลับกัน การมีความสงบนิ่ง “مُطْمَئِنَّةُ” ของนางยังมีอยู่ ถือว่าภารกิจของนางที่มีต่ออิมามฮูเซน(อ)ยังไม่หมด กระทั่งนางได้แต่งตัวลูกชายในชุดนับรบ ซึ่งขณะนั้น ลูกชายของนางอยู่ในวัยเพียง 11 ขวบ

ทว่า ความที่เด็กน้อยมีความสูงไม่พอที่จะพกดาบ ในริวายัต บันทึกว่า ดาบของพ่อที่เอามาผูกไว้ที่เอวลูกนั้น อยู่ในสภาพที่ปลายดาบยังลากอยู่บนพื้นดิน ซึ่งขณะกำลังเดินเข้าไปพบกับท่านอิมามฮูเซน(อ) เพื่อจะขออนุญาตไปทำสงครามเพื่อปกป้องท่านอบาอับดิลลาฮิลฮูเซน
ในริวายัตต่อมา บอกว่า อิมามฮูเซน(อ) ต้องนั่งยองๆ คุยกับเด็กคนนี้ เพราะเด็กคนนี้เยาว์วัยมาก (เด็กมาก) แต่เพื่อให้หน้าชนหน้า แล้วถามว่า
“โอ้ลูกรัก เจ้าขออนุญาตแม่ของเจ้าแล้วหรือยัง เจ้าไม่ต้องออกไปหรอก เพราะพ่อของเจ้าก็เพิ่งเป็นชะฮีด จึงเพียงพอแล้วสำหรับครอบครัวของเจ้า”
ทว่าเด็กน้อยคนนี้ ตอบว่า “ยาเมาลา ยาอบาอับดิลลาฮ์ ฉันต้องขออนุญาตแม่ของฉันทำไมอีกเล่า ในเมื่อแม่ของฉันเป็นคนแต่งชุดนักรบนี้ให้กับฉัน”

เมื่ออิมามฮูเซน(อ) ได้ยินดังนั้น ท่านจึงโอบเด็กคนนี้มาจูบ และได้อนุญาตให้ออกไปยังสมรภูมิรบ ทว่าหลังจากเด็กคนนี้ต่อสู้ได้ระยะเวลาหนึ่ง เด็กคนนี้ก็ถูกกองทัพทรชนฆ่า จากนั้นพวกมันได้ตัดศีรษะ และโยนศีรษะของเด็กน้อยคนนี้ กลับเข้าไปในกระโจมของแม่เด็ก

กลับมายังฝ่ายแม่ของเด็กน้อย เมื่อนางเห็นศีรษะของลูกถูกโยนมา เหมือนกับลูกฟุตบอลที่กลิ้งเข้ามาในกระโจม นางก็ได้หยิบศีรษะแล้วปฏิบัติเฉกเช่นหญิงชราอดีตคริสเตียนได้ปฏิบัติกับลูก ด้วยการเช็ดรอยเลือด เช็ดฝุ่นที่เกรอะกรังบนศรีษะของลูก จนกระทั่งนางได้เช็ดอะไรทั้งหมดแล้ว ต่อมานางได้อุ้มศีรษะลูกชายโยนกลับไปให้ฝ่ายศัตรูอีกครั้งหนึ่ง แล้วกล่าวว่า
“สิ่งนี้ฉันได้กุรบ่านต่ออัลลอฮ์(ซบ)แล้ว ฉันไม่ขอรับกลับ”
บริบทนี้ คือ อีกหนึ่งในตัวอย่างบุคลิกภาพของวีรสตรีแห่งกัรบาลาอฺ แน่นอนว่า จะทำอย่างนี้ได้ ก็ต้องเป็นคนที่ซิกรุลลอฮ์อย่างแท้จริงเท่านั้น หัวใจจึงจะ“مُطْمَئِنَّةُ” (มีความสงบนิ่ง)

ดังนั้น ด้วยหัวใจที่ “مُطْمَئِنَّةُ” สงบนิ่งเท่านั้นที่จะกลับไปหาอัลลอฮ (ซบ) ในสภาพที่อัลลอฮ์(ซบ)พึงพอใจ และ ขอย้ำสำทับอีกครั้งว่า จะมีความรักในการเสียสละและการพลีอย่างนี้ได้ ต้องมาด้วยหัวใจที่มั่นคงและแน่วแน่

อิมามฮูเซน(อ) ผู้เห็นทุกเหตุการณ์ในกัรบาลาอฺ

ในหมู่บรรดา ผู้ที่หัวใจของเขามั่นคงและแน่วแน่นั้น จะมีใครอีกเล่า ที่จะมั่นคงและแน่วแน่ เท่ากับอบาอับดิลลาฮิลฮูเซน และด้วยกับท่านอิมามฮูเซน(อ) คือชะฮีดคนสุดท้ายแห่งกัรบาลาอฺ
คำถาม : รู้หรือไม่ว่า นิยาม “คนสุดท้ายแห่งกัรบาลาอฺ” แปลว่าอะไร
คำตอบ : คือ คนสุดท้าย แปลว่า คนที่เห็นทุกสิ่งทุกอย่าง เห็นทุกๆความหฤโหดที่เกิดขึ้นในวันนั้น

➡️ อิมามฮูเซน(อ) คือ คนที่เห็น ท่านอะลีอักบัร ถูกกองทหารของ อุมัร อิบนิ ซะอด์ ลน. สั่งให้เข้าโจมตีทุกทิศทางทันที จนกระทั่ง ท่านอะลีอักบัร โดนหอกแทงตกจากหลังม้า และในเสี้ยวเวลาต่อมา อิมามฮุเซน(อ) ก็ได้เห็น ท่านอะลีอักบัร ถูกฟันในลักษณะ “اربا اربا” (อิรบันอีรบา) ซึ่งคำว่า “อิรบันอีรบา” แปลว่า สับเป็นชิ้นๆ

ด้วยกับท่านอะลีอักบัร ถูกสับเป็นชิ้นๆ จึงทำให้อิมามฮูเซน(อ) ไม่สามารถยกร่างอันไร้วิญญาณด้วยมือเปล่าได้ ถึงขั้นต้องให้เอาผ้ามายกท่านอะลีอักบัร มิเช่นนั้นแล้ว ร่างหรืออวัยวะส่วนอื่นก็จะห้อยหล่นลงอีกด้านหนึ่ง

➡️ อิมามฮูเซน(อ) คือ คนที่เห็นท่านอับบาส ถูกตัดแขนข้างขวา และเห็นท่านอับบาส ถูกตัดแขนข้างซ้าย จากนั้นอิมามเห็นท่านอับบาสถูกธนูยิงเข้าไปที่ตา

➡️ และอิมามฮูเซน(อ) ยังเห็นอะไรอีกมากมาย แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อิมามฮูเซน(อ) ถือว่ายังไม่ครบ การพลีครั้งนี้ยังไม่ครบ การพลีครั้งนี้ยังไม่สมบูรณ์ เพราะยังขาดอีกหนึ่งที่จะต้องเป็นแบบอย่างให้กับอนุชนในอนาคต

พี่น้อง !!! ผมขออธิบายตรงนี้พอสังเขปว่า อูลามาอฺระดับสูงทั้งหมด ยืนยันว่า อิมามฮูเซน(อ)ไม่ได้อุ้มอะลีอัสกัรไปขอน้ำ เพราะอิมามฮูเซน(อ)รู้ตั้งแต่วันแรกแล้วว่า อะลีอัสกัร จะต้องโดนธนูสามแฉก แต่เราต่างหากที่ไม่รู้ และมนุษย์ทั้งโลกไม่รู้

ทว่าทั้งนี้ อิมามฮูเซน(อ) ได้สร้างเงื่อนไขขึ้นมา ด้วยการอุ้ม อะลีอัสกัร ในขณะที่หิวน้ำ ซึ่งบางริวายัตบอกว่า อะลีอัสกัร ดิ้นกระเสือกกระสน เหมือนปลาที่ดิ้นอยู่บนทราย

ดังนั้น ลองปิดตาแล้วจินตนาการดูว่า เมื่อทุกคนเห็นเด็กทารกวัย 6 เดือน ไม่ได้ดื่มนมและน้ำมาเกือบทั้งวัน กำลังอยู่ในสภาพดิ้นกระเสือกกระสน เสมือนปลาที่ขาดน้ำกำลังดิ้นอยู่บนทราย คิดดิสิว่าจะเป็นเช่นไร
กระนั้นก็ตาม อิมามฮูเซน(อ) ก็อุ้ม อะลีอัสกัร ในสภาพนั้นไปให้เหล่าทรชนดู ด้วยการพูดในลักษณะเหมือนขอน้ำ แต่แท้จริงอิมามฮูเซน(อ) รู้อยู่แล้วว่า ไม่มีวันที่จะได้น้ำจากเหล่าทรชนเหล่านี้
ทว่าท่านอิมามฮูเซน(อ) ก็ยังไม่สิ้นความพยายาม โดยกล่าวว่า ถ้าเจ้าเป็นศัตรูกับฉัน ฉันยังพอเข้าใจ…ถ้าเจ้าตัดน้ำไม่ให้ฉันได้ดื่มกิน ฉันยังพอเข้าใจ…และถ้าเจ้าต้องการที่จะฆ่าฉัน ฉันยังพอเข้าใจ ฉันมีความอดทนเพียงพอต่อการทำสงครามและการอดน้ำ แต่เด็กน้อยวัย 6 เดือนคนนี้ มีความผิดอันใด ทำไมเขาถึงต้องมาทุกข์ทรมานกับการขาดน้ำ

กระทั่งบริบทสุดท้าย อิมามฮูเซน(อ) ยังคงเตือนสติพวกเขา แต่เหล่าทรชนเหล่านั้นกลับก้มหน้ารับความชั่วช้าอย่างไม่สะทกสะท้าน

ต่อมา อุมัร อิบนิ ซะอฺด์ ลน. ที่ยะซีดแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพ และ อิบนิซิยาดก็แต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพในสมรภูมิแห่งกัรบาลาอฺ รู้แล้วว่า ถ้าปล่อยให้อิมามฮูเซน(อ)พูดต่อ จะมีผลกระทบต่อกองทัพของมันและอาจเปลี่ยนสภาพจิตใจเหล่าทรชน บางคนของมันได้ เมื่อคิดดังนั้น อุมัร อิบนิ ซะอฺด์ ลน. จึงส่งสัญญาณไปยัง ‘ฮัรมาละฮ์’

ฮัรมาละฮ์ คือ ขุนพลธนู ที่แม่นที่สุดในฝ่ายทรชนแห่งกัรบาลาอฺ เขาไม่ใช่พลธนูธรรมดา แต่เป็นขุนพลธนูในการรบ โดยครั้งนี้ ฮัรมาละฮ์ ได้เตรียมธนูพิเศษที่มีลักษณะหัวของธนูมีสามแฉกในดอกเดียวกัน และเท่าที่รู้มี 3 ดอกที่มันยิงไปในสงครามกัรบาลาอฺ ส่วนข้าศึกอื่นๆมันยิงด้วยธนูธรรมดา

รีวายัตบันทึกว่า ดอกที่หนึ่ง มันยิง ท่านอบัลฟัฏลฺ อัลอับบาส และดอกที่สอง หลังจาก อุมัร อิบนิ ซะอด์ ลน. ส่งสัญญาณให้ ‘ฮัรมาละฮ์’ หง่านคันธนูขึ้น ซึ่งเป้าของธนูสามแฉก ก็คือ คอหอยของอะลีอัสกัร นั่นเอง

พี่น้องครับ ลองจินตนาการ ธนูสามแฉก ที่มีลักษณะเรียงกันเป็นแนวระนาบ ถ้าเราเทียบกับเด็กอายุ 6 เดือน ธนูนั้นกว้างกว่าคอของเด็กอย่างแน่นอน
ในริวายัตยังบอกอีกว่า ขณะที่ ฮัรมาละฮ์ ลน. ยิงธนูสามแฉก พุ่งมายังคอของเด็กทารกเล็กๆในลักษณะ ‘ตัดคอ’ ส่วนในริวายัตหนึ่งเขียนไว้แปลกมาก ที่ว่า ธนูตัดคอข้างซ้ายทะลุไปข้างขวา แต่อีกริวายัตหนึ่งเขียนว่า
“مِنَ الاُذُنِ الیَ الاُذُنِ”
(มินัล อุซุนิน อิลาอุซุนิน)
ทะลุฝั่งของหูทั้งสองข้างของเด็กน้อย คือ ธนูทะลุจากหูซ้ายมายังหูขวา จากนั้น เลือดของอะลีอัสกัร ก็ได้หยดลงมา เมื่อท่านอิมามฮูเซน(อ) เห็นเช่นนั้น แน่นอนความมั่นคงและ “مُطْمَئِنَّةُ” ความสงบนิ่งของท่านยังอยู่

บริบทต่อมา อิมามฮูเซน(อ) ได้เอามือของท่านรองเลือดที่กำลังไหลออกมาจากคอหอยของ อะลีอัสกัร แล้วสาดขึ้นไปยังฟากฟ้า แล้วกล่าวยืนยันว่า
“ อัลลอฮุมมัชตัร…โอ้อัลลอฮ !! โปรดเป็นพยาน นี่คือ กรุบ่านอีกสิ่งหนึ่งของฉัน”
และอิมามฮูเซน(อ) ก็ได้อุ้มร่างที่ไร้วิญญาณของ อะลี อัสกัร (ทารกน้อย) เดินกลับไปยังกระโจม (คัยมะฮ์)
ทว่า ที่หน้ากระโจมนั้น มีท่านหญิงรูบ๊าบ (แม่ของอาลี อัสกัร) ยืนรอพร้อมรอยยิ้ม ทันทีที่ได้เห็นอิมามฮูเซน(อ) อุ้มลูกน้อยกลับมา
ท่านหญิงรูบ๊าบ ในรอยยิ้มนั้น เพราะท่านหญิงไม่ได้ยินเสียงร้องขอน้ำของอะลีอัสกัร ด้วยเหตุนี้ ท่านหญิง จึงกล่าวว่า อัลฮัมดุลิลลาฮ์ อะลีอัสกัร หลังจากได้ดื่มน้ำแล้ว กลับมานอนหลับสนิทเลย
เมื่ออิมามฮูเซน(อ)เห็นผู้เป็นแม่รออยู่ที่หน้ากระโจม แต่เพื่อไม่ให้ท่านหญิงรูบ๊าบได้เห็น อะลีอัสกัรในสภาพนั้น ท่านจึงเลี่ยง แล้วเดินอ้อมไปด้านหลังของกระโจมและได้ใช้ดาบขุดหลุมเล็กๆ เพื่อทำการฝังอะลีอัสกัร ในแผ่นดินกัรบาลาอฺ

บริบทนี้ในรีวายัต บันทึกว่า สะเทือนใจเป็นอย่างมาก เพราะ อิมามฮูเซน(อ)เดินไปสามก้าว แล้วถอยมาสองก้าว เดินไปอีกสี่ก้าว แล้วถอยกลับมาอีกสองก้าว เป็นอยู่อย่างนี้หลายรอบ

ดังนั้น ด้วยกับท่านหญิงรูบ๊าบ เห็นพฤติกรรมของท่านอิมามฮูเซน(อ) แปลกๆ จึงถามว่า ยาอบาอับดิลลาฮ์ ทำไมท่านดูลุกลี้ลุกรน ทำไมท่านเดินกลับไปกลับมา ซึ่งจริงๆแล้ว ท่านหญิง ไม่เคยตั้งคำถามใดๆ ที่จะทำลายจิตใจของท่านอิมามฮูเซน(อ)

ทว่าเนื่องจาก ในตอนแรกท่านอิมามฮูเซน(อ) ตั้งใจอุ้ม อะลีอัสกัร เพื่อจะพาเข้าไปในกระโจม ซึ่งจังหวะนั้นท่านเห็นท่านหญิงรูบ๊าบยืนอยู่ อิมามฮูเซน(อ) จึงไม่กล้าเดินเข้ากระโจม(คัยมะฮ์ ) เพราะไม่อยากบอกภรรยาสุดที่รักว่า บัดนี้อะลีอัสกัรนั้น ได้กลับไปหาท่านรอซูลุลลอฮ์(ศ็อลฯ) แล้ว

“ولاحول ولا قوة الا بالله العلي العظيم”
السلام عليك يا ابا عبد الله
اللهم صل علی محمد وآل محمد وعجل فرجهم
เรียบเรียงโดย : Wanyamilah S.