ประสูติบุตรแห่งกะอฺบะฮ์ [ตอนที่ 1]

14

📝บางส่วนจากการบรรยายโดย ฮุจญตุลอิสลามฯ ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี เนื่องในค่ำคืนที่ 13 รอญับ ฮ.ศ. 1443 วันคล้ายวันประสูติท่านอมีรุลมุอฺมีนีน อิมามอะลี อิบนิอบีฏอลิบ(อ)

✨ขอแสดงความยินดียังท่านอิมามมะฮ์ดี(อ) ผู้มาโปรดโลก และผู้ศรัทธาทุกท่าน✨
________________

•••อัลฮัมดูลิลลาฮ์ ก่อนอื่นต้องขอชูโกรในเนียะมัต และเตาฟิกสำหรับค่ำคืนนี้ ค่ำคืนอันบารากัต ค่ำคืนอันยิ่งใหญ่ ค่ำคืนแห่งการถือกำเนิด การประสูติที่บารากัตเป็นอย่างมาก ซึ่งถือว่าเป็นเนียตมัตอันยิ่งใหญ่ ที่เอกองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ) ได้ประทานให้กับพวกเราทุกๆคนที่ได้มีโอกาสร่วมรำลึกในค่ำคืนนี้…

วันประสูติของมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่อีกท่านหนึ่ง นอกจากรอซูลลุลลอฮ์ (ศ็อลฯ) แล้ว ไม่มีมัคลูกใด ที่จะยิ่งใหญ่ ที่จะอัชรอฟ ประเสริฐในทุกๆแง่มุม เท่ากับผู้ที่ได้ถือประสูติในค่ำคืนนี้ หรือ ในวันที่ 13 ของเดือนรอญับ ซึ่งหนึ่งในนิยามที่บรรดาอาลิมอุลามา ได้มอบให้ก็คือ ผู้ที่เป็น “บุตรแห่งกะอฺบะฮ์”

🕋 บุตรแห่งกะอฺบะฮ์

ความเป็นบุตรแห่งกะอฺบะฮ์ของท่านอิมามอะลี(อ) – นิยาม หรือคำๆนี้ได้มาจากไหน??

➡️เพราะท่านเป็นมนุษย์คนแรก และเป็นมนุษย์คนเดียว และเป็นมนุษย์คนสุดท้าย ที่ได้ถือกำเนิด เกิดในกะอฺบะฮ์!

ในหนังสือของอาลิมอุลามา หรือในการกล่าว หรือในการพูดถึงเหตุการณ์นี้ อาลิมอุลามาอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ บางคนกล่าวว่า… ‘ولدت فی جوف الکعبه’

‘…ถือกำเนิดในใจกลางของกะอฺบะฮ์….’

คำว่า “ใจกลางของกะอฺบะฮ์” หมายความว่า ไม่ได้เกิดในมัสยิดุลฮะรอม แต่เกิดในตรงกลางของกะอฺบะฮ์ ซึ่งมีน้อยคนเป็นอย่างมาก ที่จะได้ไปยืนตรงนั้น อย่าว่าแต่การได้เป็นเกิด หรือถือกำเนิดตรงนั้น

แต่ที่น่าพิศวง คือ ท่านอิมาม(อ) เป็นมนุษย์คนเดียวเท่านั้น ที่เอกองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ) เลือกสถานที่เกิดให้

มีมนุษย์จำนวนมากที่เกิดมาในโลกนี้ เกิดที่ใด อัลลอฮฺ (ซ.บ) ก็เช่นกันเป็นผู้เลือกให้ มิใช่ว่า พระองค์มิได้เลือกให้เรา เราเกิดที่ใด เช่นกันนั้น พระองค์เป็นผู้ทรงเลือกให้ แต่ของเรานั้นไม่อยากลงไปในรายละเอียด เพราะในที่เราเกิด ก็มีบุคคลอื่นเกิดมาเช่นกัน ไม่มีรายละเอียดจะเอามาคุยกัน ไม่ว่าจะเกิดที่กรุงเทพฯ จะนะ หรือ อเมริกา

ทว่า ทำไมสถานที่กำเนิดของอะลี อิบนิอบีฏอลิบ(อ) จึงเป็นเรื่องที่จะต้องคุย และทำความเข้าใจกัน?

ทำไมต้องคุย? ที่ต้องคุย ก็เพราะว่า ทำไมอัลลอฮ์ (ซ.บ) จึงเลือกให้ท่านไปเกิดตรงนั้น…

อัลลอฮ์ (ซ.บ) เป็นผู้เลือก และเราจะรู้ได้อย่างไรว่าพระองค์เป็นผู้เลือก? และการเกิดในสถานที่นี้ยิ่งใหญ่สักขนาดไหน? – อันนี้ผมยังไม่ลงในรายละเอียดนะครับ – เรื่องอิมามอะลี ถือกำเนิดในใจกลางอัลกะอฺบะฮ์นี้ ไม่มีการถกเถียงในอุมมัตอิสลาม เป็นรายงาน เป็นสิ่งที่รู้กันโดยเอกฉันท์

โดยส่วนตัว ผมได้รู้ว่าอิมามอะลี(อ) ถือกำเนิดในใจกลางกะอฺบะฮ์ จากหนังสือวาฮาบีเอง ขอกล่าวเพียงเท่านี้ เพราะฉะนั้น จึงไม่อยากเสียเวลามานั่งพิสูจน์กัน เพราะไม่มีข้อขัดแย้ง ผมรู้เป็นครั้งแรกว่า อิมามอะลี(อ) เกิดในใจกลางกะอฺบะฮ์ จากหนังสือวาฮาบี บ่งชี้ว่า แม้แต่วาฮาบียังเขียนเกี่ยวกับการถือกำเนิดนี้ นั่นแสดงว่า การถือกำเนิดในใจกลางกะอฺบะฮ์ของอะลี อิบนิ อบีฏอลิบ(อ) เป็นเรื่องที่ไม่มีความขัดแย้งใดๆ

📌ปัญหามีอยู่เล็กน้อย คือ ไม่มีการต่อยอดในเรื่องนี้ ไม่มีการพูดถึงอีกแล้ว โดยพยายามที่จะปกปิด และพยายามที่จะไม่นำเสนอ ถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ปกปิดไม่ได้ แต่ก็พยายามที่จะปกปิดเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อใดก็ตาม ที่เรื่องสถานที่กำเนิดของท่านอิมามอะลี(อ) ถูกพูดถึง มันจะมีเรื่องราวมากมาย ที่จะต้องถกเถียงกันตามมา ทั้งเรื่องราวจากอัลกุรอาน ทั้งเรื่องราวจากอัลฮาดิษ เพราะเราจะต้องแสวงหาคำตอบจริงๆ คำตอบสุดท้ายที่มีเหตุผล ฮิกมัตอันใดที่เอกองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ) จึงเลือกให้มหาบุรุษผู้นี้ ไปเกิด ณ สถานที่ตรงนั้น..?!?

ทั้งนี้ เราอาจจะพอรู้ได้บ้าง ว่าทำไม ว่ายิ่งใหญ่สักขนาดไหน โดยขึ้นอยู่กับความรู้จักของเราที่มีต่อกะอฺบะฮ์

🕌 ศาสนสถานที่ประเสริฐที่สุดในโลกอิสลาม

เบื้องต้น เรื่องที่เป็นเอกฉันท์อีกเรื่องหนึ่ง ระหว่างอุมมัตอิสลามทั้งหมดทุกกลุ่ม ก็คือความประเสิรฐของศาสนสถาน หมายถึง สถานที่ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา โดยจะหยิบยกจากสถานที่ ที่ว่าเหมือนกันเป็นเอกฉันท์นั้น มีอยู่ 3 สถานที่ด้วยกัน และแม้แต่วาฮาบี ก็ยอมรับว่า ศาสนสถานที่ประเสริฐที่สุดมีอยู่ 3 สถานที่ ได้แก่

1. มัสยิดุลฮะรอม
2. มัสยิดุลนบี
3. มัสยิดุลอักศอ

— ซึ่งแม้แต่วาฮาบี ก็ยอมรับเช่นกัน โดยบอกว่า จะไม่มีการซิยารัตมัสยิดใดในโลกนี้ ยกเว้นทั้งสาม – อิลลา ซลาซา – กล่าวคือ วาฮาบีก็บอกว่า นี่คือ 3 มัสยิดที่ประเสริฐที่สุดในโลกของมุสลิม

[เรียงตามลำดับ]
อันดับ 1 มัสยิดุลฮะรอม ที่ตั้งอัลกะบะฮ์
อันดับ 2 มัสยิดุลนบี ที่ตั้งพระศพของท่านบีมูฮำหมัด(ศ็อลฯ)
อันดับ 3 มัสยิดุลอัลอักศอ

❇️ ความประเสริฐของมัสยิดทั้งสาม

หนึ่งในความประเสริฐหลักของมัสยิดุลอักศอ คือ เป็นสถานที่ฝังศพศาสดา(อ) อย่างมากมาย ขณะที่มัสยิดุลนบี ฝังศพท่านนบีมูฮำหมัด(ศ็อลฯ) เพียงท่านเดียว ก็เพียงพอสำหรับความประเสริฐแล้ว เพราะเป็นที่ฝังศพ ซัยยิดุลอัมบิยาอฺ วัลมุรซาลีน (ประมุขของบรรดาศาสดาและศาสนทูต)

ส่วนความประเสริฐของมัสยิดุลฮะรอม ก็คือ กะอฺบะฮ์
และความประเสริฐของกะอฺบะฮ์ ก็อยู่ตรงที่มันเป็น “บ้านของอัลลอฮ์ (ซ.บ)” — นี่คือความประเสริฐขั้นพื้นฐาน ซึ่งยังคงมีความประเสริฐอื่นๆ อีกมากมาย มันจึงมีความประเสริฐเป็นอันดับที่หนึ่ง

ขณะที่ท่านอิมามอะลี (อ) คือ บุรุษคนเดียวที่เกิดในบ้านของอัลลอฮ (ซ.บ) ในโลกนี้ นี่คือความประเสริฐอันที่หนึ่ง!

จากประเด็นนี้ เรายังต้องไปข้างหน้าอีกสักเล็กน้อย [ต้องศึกษาต่อยอดว่า] ทำไมอิมามอะลี(อ) จึงถูกเลือกให้ไปเกิดตรงนั้น? ทำไมอัลลอฮฺ(ซ.บ) ไม่ให้ไปเกิดที่อื่นทั่วๆไป ทำไมอัลลอฮ (ซ.บ) ไม่เลือกสถานที่อื่น?

💠 อนึ่ง เราต้องทำความเข้าใจเล็กน้อย มีเรื่องเล่าจากท่านอิบนิอับบาส อันนี้คือ มีหลักฐาน มีรายงาน ทั้งจากซุนนี่ และชีอะฮ์

อิบนิอับบาสรายงานว่า ในปีที่ 30 หลังจากปีช้าง ก่อนที่นบี(ศ็อลฯ) จะประกาศตัว.. ก่อนฮิจเราะฮ์ — อิบนิอับบาสรายงานว่า: ฉันได้นั่งกับพรรคพวกจำนวนหนึ่งในมัสยิดุลฮะรอม ระหว่างที่นั่งอยู่ ฉันเห็นหญิงท้องแก่คนหนึ่ง ได้เดินเข้ามาในมัสยิดุลฮะรอม แล้วเข้าไปวิงวอน ที่อาคารอัลกะอฺบะฮ์…

โดยจากดุอาของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ บินตีอาซัด (อ) มารดาของท่านอิมามอะลี (อ) และภรรยาของท่านอบูฏอลิบ (อ) [*หญิงท้องแก่ในรายงานของอิบนิอับบาส] แสดงให้รู้ว่า ท่านคือ หญิงผู้หนึ่ง ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ (ซ.บ) โดยท่านได้วิงวอน ด้วยถ้อยคำต่างๆ เช่น ‘โอ้ พระผู้อภิบาลของอิบรอฮิม’ และฯลฯ เป็นต้น

ระหว่างการวิงวอนนั้น กำแพงของอัลกะอฺบะฮ์ก็เปิดออก และเมื่อนางได้เห็นกำแพงของอาคารนั้นเปิดออก หรือ แตกออก นางก็ได้เดินเข้าไปในอาคารอัลกะอฺบะฮ์ และทันทีที่นางเข้าไปอยู่ภายในนั้น กำแพงนั้นก็ขยับปิด เราสามารถไปดูรอยร้าวอันนั้นได้ แม้จะมีความพยายามลบรอยร้าวนั้นเป็นพันๆปี ฉาบปูนแล้ว ฉาบเงินแล้ว ฉาบกับวัสดุต่างๆ แต่เมื่อทำเสร็จแล้ว มันจะปริกลับมาเช่นเดิม ไม่ว่าจะฉาบด้วยสิ่งใดก็ตาม มันจะปริกลับมาเหมือนเดิม ยังคงยืนยันรอยร้าว ตั้งแต่วันนั้น จนถึงวันนี้ 1,400 กว่าปีผ่านมาแล้ว ไม่มีใครลบเลือนร่องรอยนี้ได้ นี่คือ เกร็ดคร่าวๆ ของมัน

หลังจากนั้น ท่านอิบนิอับบาส รายงานว่า ผู้คนตกใจเป็นอย่างมาก ได้มีการตามตัวบุคคล ผู้ถือกุญแจของกะอฺบะฮ์ – ใครเคยไปทำฮัจญ์จะรู้ กะอฺบะฮ์คือ อาคารหนึ่ง มีสี่ทิศเป็นปูน แต่ด้านหนึ่งจะมีเป็นประตูไม้ อาจจะเป็นไม้ทองคำ อย่างไรก็ตาม ประตูนั้นจะมีกุญแจ คนที่ถือกุญแจสามารถเปิดเข้าไปอยู่ในอาคารซึ่งปัจจุบันนี้ กุญแจก็อยู่ในมืออันสกปรกของบนีซาอูด/ อลีซาอูด เป็นผู้ถือกุญแจอันนี้อยู่ …

เมื่อคนถือกุญแจ เอากุญแจไปไข กุญแจนั้นก็ไขไม่ออก นี่คือประวัติศาสตร์ที่รู้กันเป็นเอกฉันท์ กุญแจนั้นไขไม่ออก จนเป็นเวลาสี่วัน ผู้คนได้ยืนเฝ้าดูกัน เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องที่โจทก์ขานกันว่า มีอะไรเกิดขึ้น ทำไมอยู่ดีๆ กำแพงด้านหนึ่งของอาคารอัลกะอฺบะฮ์ จึงปริออกมา และจากนั้นฟาฏิมะฮ์ บินตีอะซัด(ซ) ก็ได้เข้าไปอยู่ในนั้น ในขณะที่นางกำลังท้องแก่ และเมื่อครบสี่วัน กำแพงก็ได้ปริออกอีกครั้ง และนางก็ได้ออกมา พร้อมกับอุ้มลูกน้อย มีเด็กทารกออกมาหนึ่งคน และจากการเล่าของนาง นางก็ได้เล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวันนั้น

นางได้บอกว่า หญิงที่ประเสริฐสุดในอาลามีน ได้มาช่วยทำคลอดให้กับนาง ในอาคารแห่งอัลกะอฺบะฮ์ – ท่านหญิงอาซียะฮ์ (อ) ท่านหญิงมัรยัม (อ) มาเป็นพยาบาลในนั้น และเมื่อนางจะก้าวออกมา นางได้ยินเสียงบอกตามหลังมาว่า…

‘จงเรียกทารกน้อยคนนี้ว่า อะลี!” •••

‎الّلهُمَّ صَلِّ عَلَی مُحَمَّدٍ وَ آلِ مُحَمَّدٍ و عَجّل فَرَجَهم

[โปรดติดตามตอนต่อไป]