27 มีนาคม 2566 ตรงกับค่ำคืนที่ 6 รอมฎอน 1444
บรรยายโดย ฮุจญตุลอิสลามวัลมุสลิมีนซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี
_________________
หากพูดถึงความเป็นเอกองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) โดยรวมแล้วจะประกอบด้วยสองสิ่ง
นั่นคือ ซาต และซีฟัต
ซาต คืออะไร ?
ซาต ก็คือ อาตมัน ตัวตน หรือแก่นสาร ของพระองค์ที่โดยปกติแล้วจะอยู่ในรูปอสสาร ไม่เป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งใด
อีกสิ่งหนึ่งก็คือ ซีฟัต
หากถามว่า ซีฟัต คืออะไร ?
ซีฟัต ก็คือ คุณลักษณะของพระองค์ที่มีสองรูปแบบด้วยกัน
คือ 1. ซีฟัตซาต (صفات الذات)
ซีฟัตซาต คือ ซีฟัตที่อยู่ในอาตมันของพระองค์ เป็นส่วนหนึ่งกับซาตโดยมิได้อยู่ในลักษณะขององค์ประกอบ มีมาแต่เดิม และคอยบ่งชี้ตัวตนของพระองค์ มีสามส่วนโดยหลัก ซึ่งทุกสิ่งที่กล่าวถึงพระองค์ล้วนย้อนกลับมายังซีฟัตทั้งสาม คือ ความรอบรู้ (علم) อำนาจ (قدرت) และวิทยปัญญา (حكيم)
ขณะที่อีกซีฟัตหนึ่ง ก็คือ ซีฟัตเฟียอฺลียะฮฺ (صفات الفعل) หรือคุณลักษณะการกระทำ
เป็นคุณลักษณะที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ของพระองค์มายังสิ่งถูกสร้าง และเป็นคุณลักษณะที่เกิดขึ้นใหม่ จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อพระองค์เริ่มกระทำ และจะไม่มีเมื่อพระองค์ไม่กระทำ (แต่มิได้หมายความว่าพระองค์ไม่มีอำนาจที่จะทำ เพราะจะสามารถย้อนกลับไปยังซีฟัตซาตที่ชี้ถึงอำนาจของพระองค์ในการกระทำทุกสิ่ง )
ซีฟัตนี้ เช่น คอลิกุน (خالق) หรือผู้สร้าง คือ เมื่อพระองค์สร้าง พระองค์ก็จะทรงถูกเรียกว่าผู้สร้าง ต่อมาคือ รอซิกุน (رازق) หรือผู้ประทานปัจจัยยังชีพ ซึ่งจะเกิดภายหลังจากที่พระองค์ทรงสร้างสิ่งต่าง ๆ
ซีฟัตเฟียะอฺลีนั้นมีมากมายนับไม่ถ้วน แต่อย่างไรก็ตาม ทุกซีฟัตนั้นมิได้หมายความว่าจะเป็นสิ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในพระองค์ เพราะเราทราบดีแล้วว่า ไม่มีสิ่งใดเปลี่ยนแปลงซาตของพระองค์ได้ พระองค์มีอยู่เดิม ไร้องค์ประกอบ เป็นอสสาร และอยู่เหนือกาลเวลา ซึ่งเราจะสามารถสัมผัสได้ถึงพระองค์ผ่านคุณลักษณะต่าง ๆ ที่กล่าวไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้พระองค์เกิดสัมพันธ์กับเรา (และแน่นอน การกระทำของเราย่อมสัมพันธ์กับพระองค์ การกระทำที่ดีย่อมนำมาซึ่งความพึงพอใจ การกระทำที่ไม่ดีย่อมนำมาซึ่งความโกรธกริ้ว แต่มิใช่หมายถึงพระองค์ทรงมีความรู้สึกหรือความเปลี่ยนแปลง เพียงแต่อยู่ที่ว่าการกระทำจะนำตัวเราไปสู่ด้านไหนของพระองค์— เช่นเดียวกับการทำชั่วย่อมนำผลร้ายมาสู่ตัวเรา และการทำดีย่อมนำผลดีมาสู่ตัวเรา)
และหากพูดถึงการกระทำ ย่อมนำมาสู่เรื่องราวของเนียะอฺมัต อันเป็นผลลัพธ์ที่พระองค์ทรงประทานจากการกระทำของเราเอง
โดยหนึ่งในซีฟัตเฟียะอฺลีที่สำคัญ และกล่าวได้ว่าเป็นซีฟัตที่บ่งชี้ถึงการประทานเนียอฺมัตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของพระองค์ คือ รอฎี (راضي) หรือ ริฎวาน (رضوان ) หมายถึง “ความพึงพอพระทัย” ซึ่งสามารถยืนยันได้จากซูเราะฮฺอัต เตาบะฮฺ หรือแม้แต่ดุอาอฺของท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.) ก็มีกล่าวถึงการที่ท่านอิมาม (อ.) ได้ขอการประทานความพึงพอพระทัยจากพระองค์แม้ท่านเองจะมีความสูงส่งถึงระดับมะอฺซูมอยู่แล้วก็ตาม
จึงกล่าวได้ว่าความพึงพอพระทัยเป็นหัวใจสำคัญของความโปรดปรานทั้งปวง ซึ่งเราจะพูดถึงกันต่อมาถึงเรื่องราวของริฎวานนี้ เพื่อให้พี่น้องได้เข้าใจถึงหัวใจสำคัญของอามั้ลต่าง ๆ
ในความพึงพอพระทัย หรือ ริฎวาน นี้ เราจะสามารถรับมาจากพระองค์ 2 ทางด้วยกันคือ
1. จากการกระทำของเรา และไม่ใช่การกระทำทั่วไป แต่ต้องเป็นการกระทำที่ถูกกาลเทศะ หมายความว่า ต้องตรงตามกฎเกณฑ์ เช่น การอาบน้ำฆุซุล ถ้าเราป่วย หรือมีบาดแผลสาหัส แล้วฝืนอาบในสภาพนั้น การกระทำนั้นก็มิใช่การกระทำที่สร้างความพึงพอใจแด่พระองค์ หรือการนมาซในสภาพที่เราไม่สามารถยืนได้ แต่เราเลือกที่จะฝืน ทั้ง ๆ ที่มีเงื่อนไขฮุกุ่มให้นั่งได้ นั่นก็ไม่ใช่การกระทำที่น่าพึงพอใจ จึงสรุปได้ว่า การกระทำที่น่าพึงพอใจ คือ การกระทำที่ถูกที่ ถูกเวลา ถูกเงื่อนไข และถูกกาลเทศะ
แต่ ประการที่ 2 นั้นยิ่งใหญ่กว่ามาก เพราะหมายถึงความพึงพอพระทัยจากตัวตนของเรา
หมายความว่าอย่างไร ? หมายความว่า เมื่อพระองค์ทรงพึงพอพระทัยในตัวเราแล้ว ทุกการกระทำของเราจะนำมาซึ่งการได้รับความดีงาม โดยที่เรามิต้องขอหรือวิงวอนแม้แต่น้อย
ดังเช่นเรื่องราวของท่านหญิงมัรยัม
” ในอดีต เมื่อชาวยิวมีบุตรชาย หากเขาต้องการให้บุตรชายได้รับใช้ศาสนา เขาจะนำบุตรชายไปอาศัยในโบสถ์แต่วัยเด็กเพื่อให้เรียนรู้และเป็นผู้รับใช้ศาสนา อย่างไรก็ตาม การกำเนิดของท่านหญิงมัรยัมนั้นต่างออกไป เพราะท่านหญิงเป็นสตรี ที่โดยปกติแล้ว ตามธรรมเนียม สตรีจะไม่สามารถเข้าไปภายในโบสถ์ได้ แต่สำหรับท่านหญิงนั้น อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงเลือกให้ท่านหญิงเป็นสตรีนางแรกที่ได้เข้าไปรับการเลี้ยงดูและประกอบศาสนกิจในโบสถ์นับแต่แบเบาะ
ท่านหญิงประกอบอิบาดัตที่บริสุทธิ์มากมายภายในโบสถ์ ปกปิดตนจากสายตาผู้คนจนแทบไม่เคยย่างกรายสู่ภายนอกเลยแม้แต่น้อย จนครั้งหนึ่ง ท่านหญิงได้รับการประทานสำรับอาหารจากพระองค์ ซึ่งเมื่อท่านนบีซะกะรียา (อ.) มาเห็น ท่านถึงกับตกใจกับสำรับที่พระองค์ทรงประทานให้แก่ท่านหญิง เพราะกล่าวได้ว่าแทบไม่มีผู้ใดสามารถมาถึงความโปรดปรานระดับนี้ได้ อีกทั้งผู้ที่ได้รับความโปรดปรานระดับนี้ กลับเป็นสตรี ”
และนอกจากเหตุการณ์นี้ ท่านหญิงยังได้รับความโปรดปรานจนถึงขนาดที่ท่านหญิงได้กำเนิดบุตรในสภาพถือพรหมจรรย์ซึ่งจะมาเป็นศาสดาในเวลาต่อมาคือท่านศาสดาอีซา (อ.) นี่เป็นความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงมีให้แก่ท่านหญิงมัรยัม โดยที่ท่านหญิงมิต้องวิงวอนขอจากพระองค์แม้แต่น้อย ถือเป็นการยอมรับในตัวตนของนางอย่างแท้จริง
ซึ่งการที่มนุษย์จะสามารถพัฒนาจนมาถึงระดับนี้ได้ ประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ คือ…
1. ประกอบกิจที่ทำให้พระองค์ทรงพึงพอพระทัย
2. เมื่อพระองค์ทรงพึงพอพระทัย แล้ว พระองค์จะยอมรับในตัวตนของเขา
3. และเมื่อพระองค์ยอมรับในตัวตนของเขา พระองค์ก็จะมอบทุกสิ่งทุกอย่างให้แก่เขา
หนึ่งในการที่จะไปถึงระดับนี้ได้ คือการเข้าใจจิตวิญญาณของวีรชนแห่งกัรบาลาอฺ ดังวิรายัตหนึ่ง ที่กล่าวไว้ว่า
“ขณะที่ท่านอิมามฮูเซนได้รับความเจ็บปวดจากบาดแผลที่ถูกกระทำ ท่านได้กล่าวว่า “โอ้พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ ข้าพระองค์พึงพอใจในสิ่งที่พระองค์ทรงกำหนด”
และนี่คือหนึ่งหนทางในการเข้าสู่ความพึงพอพระทัยของพระองค์
นั่นคือการที่เราประกอบกิจต่าง ๆ ภายใต้จิตวิญญาณเพื่อให้พระองค์ทรงพึงพอพระทัย และเมื่อพระองค์ทรงพึงพอพระทัยในตัวเราแล้ว จิตวิญญาณเราก็จะไปถึงขั้นที่เราพึงพอใจในการประทานและการกำหนดของพระองค์เช่นเดียวกัน เราจะมอบตัวไปกับทุกพระประสงค์ และจะมองเห็นว่า ไม่มีสิ่งใดคู่ควรแก่การเคารพภักดีนอกจากพระองค์
“และเมื่อเขาพึงพอใจแล้ว พระองค์ก็จะเรียกเขากลับไปอยู่ในปวงบ่าวของพระองค์ รวมถึงสวรรค์ของพระองค์”
“สวรรค์ของพระองค์” ที่มิใช่เพียงสวรรค์ของมนุษย์ แต่เป็นสรวงสวรรค์ขององค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) เอง ที่จะมีมนุษย์เพียงจำนวนหนึ่งได้รับเชิญเท่านั้น •••
สรุปบทเรียนโดย อับบาส บุญรังสี
اللهم صل علی محمد وآل محمد وعجل فرجهم
___________