สรุปบทเรียนอรรถาธิบาย ซิยาเราะฮ์ญามิอะตุลกะบีเราะฮ์ EP.5 [ฮ.ศ.1444]

5
28 มีนาคม 2566 ตรงกับค่ำคืนที่ 7 รอมฎอน 1444
บรรยายโดย ฮุจญตุลอิสลามวัลมุสลิมีนซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี

_________________

ในเดือนรอมฎอน สิ่งสำคัญคือการแสวงหาความใกล้ชิดกับพระองค์ ดังนั้น ยิ่งมนุษย์ใช้ประโยชน์จากเดือนรอมฎอนมากเท่าไหร่ มนุษย์ก็จะมีสิทธิ์เข้าถึงแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์มากเท่านั้น

คุฏบะฮฺที่สำคัญ อย่าง ชะฮฺบานียะฮฺ ที่กล่าวถึงการเข้ามาของเดือนรอมฎอน ครั้นท่านนบี (ศ็อลฯ) ขึ้นคุฏบะฮฺ ท่านได้กล่าวว่า “จงรู้ไว้เถิด พวกเจ้าทั้งหมดได้ถูกเชิญเข้าสู่ความยิ่งใหญ่ของพระองค์… (ต่อจากนั้นท่านก็ได้อธิบายภาระหน้าที่ต่าง ๆ ที่ต้องกระทำในเดือนรอมฎอน)

ครั้นอิมามอาลี (อ.) ที่ได้นั่งฟัง เมื่อฟังจนจบ จึงได้ลุกขึ้นถามท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ว่า “ท่านโปรดช่วยบอกอามั้ลที่ประเสริฐที่สุด ที่ดีที่สุด ของเดือนนี้ด้วยเถิด”

(แน่นอน การสนทนาระหว่างทั้งสองท่าน คือการสนทนาระหว่างผู้ตอบที่ประเสริฐที่สุด และผู้รับฟังที่ประเสริฐที่สุด)

ท่านนบี (ศ็อลฯ) จึงบอกท่านอิมาม (อ.) ว่า อามั้ลที่ประเสริฐที่สุดสำหรับเดือนรอมฎอนนี้ คือการละเว้นจากบาป

อามั้ลการละเว้นจากบาป

พูดง่าย ฟังง่าย แต่ให้กระทำนั้นยากยิ่ง

ที่สำคัญ เมื่อเราพูดว่า “จงอย่าทำฮาร่ามนะ !” บางครั้งการทำฮาร่ามมิได้หมายถึงการกินเหล้า การห่างไกลจากซินา การลักขโมย การกินดอกเบี้ย ซึ่งเป็นบาปที่มุสลิมส่วนมากห่างไกลกันอยู่แล้ว แต่การกระทำสิ่งฮาร่ามหรือสิ่งที่เป็นบาป ยังหมายรวมถึงเรื่องเล็กน้อยที่เราเคยชินกัน เช่น การนินทา การพูดโกหก การมองไปยังสิ่งฮาร่าม (เช่น มองสตรีหรือบุรุษที่สามารถแต่งงานด้วยกันได้)

สิ่งเหล่านี้อันตรายยิ่ง เพราะแม้เราจะกล่าวอ้างได้ว่า “ชัยฏอนได้ถูกกักขังแล้วนะ” แต่หารู้ไม่ว่า เรายังมีนัฟซ์ และความเคยชินในพฤติกรรมเลวร้ายคอยชักจูงเราให้กระทำบาปได้โดยไม่รู้ตัว

ดังนั้น อามั้ลที่ดีที่สุดที่ท่านนบี (ศ็อลฯ) ได้กล่าวไว้ คือการไม่กระทำบาป

ต่อมาเมื่อผ่านเรื่องของอามั้ลการห่างไกลจากบาปแล้ว คือเรื่องของความพึงพอพระทัยของพระองค์

อามั้ลความพึงพอพระทัยของอัลลอฮ์(ซ.บ)

แน่นอนว่า บางครั้ง ด้วยทัศนคติของเรา เราอาจไม่สามาถตัดสินการกระทำใดว่า “ถูกต้อง” ได้เสมอ

แต่ผู้ที่สามารถยืนยันความดีเหล่านั้นได้คือ อะฮฺลุลเบต (อ.) ดั่งดุอาอฺอะรอฟะฮฺ ซึ่งประกอบด้วยสองส่วน

ส่วนที่หนึ่งของท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน ได้กล่าวไว้ว่า “พระองค์ได้กำหนดศาสนาของพระองค์ในยุคสมัยต่าง ๆ ซึ่งการกำหนดกฎของมันนั้น ล้วนหนุนไว้ด้วย อิมาม

ในทุกยุคทุกสมัย ศาสนาของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) จึงล้วนถูกค้ำจุนด้วยอิมาม(ผู้นำ) โดยพระองค์ได้ทำให้อิมามเป็น “ธงนำ” มนุษย์ที่จะได้รับทางนำนั้นจะต้องมองไปที่ “ธงนำ” นั้น

หากถามว่า “ธงนำนั้น คืออะไรหรือ ?”

แน่นอนว่า พระองค์ได้กำหนดธงนำนั้นไว้ด้วย อะฮฺลุลเบต

อะฮฺลุลเบต คือ ธงนำที่จะนำพามนุษย์ไปสู่เมืองของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) หรือ ดารุซซะลาม-เมืองแห่งความสันติ

สันติ ณ ที่นี้ ไม่ใช่เพียงเรื่องของมิตรภาพระหว่างมนุษย์ แต่คือสันติทั้งในด้านกายภาพและจิตวิญญาณ

และหากจะให้เปรียบแล้ว อิมาม ก็คือ หอคอย หรือเสาเด่นของเมือง (เพราะในอดีต การที่เราจะตามหาเมืองๆหนึ่ง สิ่งแรกที่เราจะเห็นเมืองนั้นจากระยะไกลคือเสา ดังเช่นประภาคารที่บอกตำแหน่งของท่าเรือ)

หลังจากนั้น อิมามซัยนุลอาบิดีน(อ)​ ยังได้กล่าวว่า พระองค์ได้ให้สายเชือกอะฮฺลุลเบต เป็นสายเชือกเดียวกับพระองค์ หากสายเชือกใด สาวถึงอะฮฺลุลเบตแล้ว สายเชือกนั้นย่อมไปถึงอัลลอฮฺ (ซ.บ.) เพราะพระองค์ได้ทำให้สายเชือกนั้นเป็นเส้นเดียวกัน

และที่สำคัญ “อะฮฺลุลเบตเท่านั้น” คือผู้ที่จะนำมนุษย์ ไปสู่ “ริฎวาน” หรือความพึงพอพระทัยของพระองค์

อะฮ์ลุลเบต คือ ธงนำ

แน่นอนประโยคสำคัญที่ต้องกล่าวถึงในประเด็นของอะฮฺลุลเบตอีกอย่างหนึ่งคือ…

“ “อะฮฺลุลเบต” ได้ห้ามในสิ่งที่ “อัลลอฮฺ (ซ.บ.)” ห้าม และ “พระองค์” ได้ทรงห้ามในสิ่งที่ “อะฮฺลุลเบต” ห้าม”

พูดแล้วอาจจะน่าตกใจนิดหนึ่ง ในประโยคหลัง แต่จุดประสงค์หลักอันแท้จริงของประโยคนี้ เพื่อจะให้ไม่มีใครต้อง “ล้ำหน้า และรั้งหลัง”

ซึ่งหากล้ำหน้า เขาจะพบกับความพินาศและหากรั้งหลัง เขาก็จะพบกับความพินาศเช่นเดียวกัน

ดังนั้น เพื่อจะให้มนุษย์ไปถึงริฎวาน หรือเรียกสั้นๆว่า ริฎอ นั้น เขาจะต้องมีธงนำมาคือ อะฮฺลุลเบต (อ.) และแน่นอนสิ่งนี้มีขั้นตอนเงื่อนไขที่เข้มข้นอย่างมาก

อีกทั้งยังทำให้การทำความรู้จักกับอะฮฺลุลเบต คือ สิ่งสำคัญ

ทว่า ทั้งนี้เราต้องทำความรู้จักกับอะฮฺลุลเบตให้มากพอ เราจึงจะทราบว่า การถกเถียงลำดับหรือเรื่องของตำแหน่งคอลิฟะอฺแห่งรอชิดูนนั้นไร้สาระมาก

ฮะดิษจากท่านอิบนิ อับบาส ที่ได้กล่าวว่า

“เมื่อท่านเข้าไปในกระโจมเพื่อพบกับท่านอิมามอาลี (อ.) ท่านได้เห็นท่านอิมามกำลังเย็บรองเท้าคู่เก่าที่ขาดลุ่ย ท่านสงสัยอย่างมากจึงกล่าวกับท่านอิมาม (อ.) ว่า “รองเท้านี้มันไม่มีค่าอะไรเลย… ไฉนท่านจึงเย็บมัน”

ท่านอิมามอาลี(อ)​จึงตอบด้วยประโยคที่สำคัญว่า “รองเท้าคู่นี้ ยังมีค่ามากเสียกว่าตำแหน่งคอลิฟะอฺที่พวกเขาแย่งกัน แท้จริงหากไม่มีเหตุเพราะต้องผดุงความยุติธรรมในสังคมมุสลิมนี้แล้ว ฉันจะไม่คิดสวมตำแหน่งนั้นเลยแม้แต่นิด”

เราจะเห็นได้ถึงหนึ่งในคุณธรรมอันสำคัญของอะฮฺลุลเบต ที่นำไปสู่คุณค่าที่เราจะต้องทำความรู้จักให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

หลังจากที่เราได้รู้จักทางนำแล้ว จึงนำมาสู่เรื่องต่อมาคือ ริฎวานและคุณสมบัติของมนุษย์

ริฎวานและคุณสมบัติของมนุษย์

เมื่อมนุษย์ไปถึงริฎวานได้แล้ว เขาจะมีคุณสมบัติดังเช่นอัลลอฮฺ (ซ.บ.)

ถามว่าอย่างไร ? แน่นอน หากเขาพึงพอใจ เขาก็จะพึงพอใจแบบอัลลอฮฺ (ซ.บ.) และเมื่อเขาโกรธ เขาก็จะโกรธกริ้วดังเช่น อัลลอฮฺ (ซ.บ.)

นั่นคือคุณสมบัติของผู้ที่ไปถึงมะกอมแห่งริฎวาน

กรณีของท่านอิมามอาลี (อ.) กับ อัมรู บินอับดุวุด

“อัมรู บินอับดุวุด” เป็นนักรบทะเลทรายที่มีพละกำลังมาก ครั้งหนึ่งเขาได้รบกับกองทัพมุสลิม และได้เข้าท้าทายพวกเขา โดยกล่าวว่า “เจ้ามุสลิมที่เชื่อว่าถ้าตายในสงครามแล้วได้ขึ้นสวรรค์ ไหนจงออกมาสู้กับข้า เพื่อจะได้กลับไปสู่สวรรค์ของเจ้า”

ปรากฎว่าไม่มีทหารมุสลิมคนใดกล้าเผชิญหน้า ยกเว้นท่านอิมามอาลี (อ.) ที่ได้ออกมาเผชิญหน้า และได้เข้าต่อสู้จน อัมรู บินอับดุวุด ล้มลงไปกับพื้น

มีวิรายัตมากมายที่กล่าวถึงเรื่องราวต่อจากนั้น เช่น

“อัมรู บินอับดุวุด” ได้ทำการด่าทอท่านศาสดา (ศ็อลฯ) หรือ เขาได้ถ่มน้ำลายใส่หน้าท่านอิมาม (อ.) แต่อย่างไรแล้ว ผลลัพธ์ก็คือ หลังจากที่ท่านอิมาม (อ.) เดินวนรอบเขาพักหนึ่ง เพื่อจะให้หายโกรธเพราะเกรงว่า ถ้าฟันในขณะนั้นจะมีเรื่องนัฟซฺเจือปน หลังจากนั้น ท่านจึงได้สังหารเขาด้วยดาบเดียว

มีการพูดถึงว่า การที่ท่านอิมาม (อ.) มิได้รีบสังหารเขา แต่ปล่อยให้เขาดูถูกท่าน ก็เพื่อให้ท่านได้ระงับความอารมณ์ของตน หรือไม่แล้วก็เพื่อให้เขายอมรับอิสลาม

แต่ใด ๆ แล้ว ทั้งหมด ชี้ถึงความเมตตาของท่านที่มีให้แม้แต่ศัตรูของอิสลาม

การสังหารศัตรูของท่านจึงต่างจากคนทั่วไป แต่เป็นการสังหารด้วยความเมตตา โดยปราศจากนัฟซ์

และนั่นคือจุดสูงสุดของมนุษย์ ที่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่มีอารมณ์โกรธ หรือความพอใจ แต่มันหมายถึง การที่อารมณ์ของเรานั้น ล้วนปราศจากนัฟซ์

ซึ่งมาถึงตรงนี้อาจจะยังสงสัย กล่าวง่าย ๆ ว่า ความโกรธ เมื่อมันกลายเป็นอิลาฮี (หรือเพื่อเอกองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) มันก็จะกลายเป็นการกระทำที่ศักดิ์สิทธิ์ ปราศจากนัฟซ์

อีกวิรายัตหนึ่งเพื่อให้ดูตัวอย่างชัดเจนขึ้น คือ…

“อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงกริ้วในสิ่งที่ท่านหญิงฟาติมะฮฺ (ซ.) กริ้ว และทรงพึงพอใจ ในสิ่งที่ท่านหญิงพึงพอใจ”

และเช่นเดียวกับท่านอิมามอาลี (อ.) และท่านหญิงฟาติมะฮฺ (ซ.) คือหนึ่งในอะฮฺลุลบัยต์ ที่เป็นตัวอย่างสำคัญของเรื่องราวนี้ เพื่อจะบอกว่า เมื่อมนุษย์มาถึงจุดหนึ่งที่ความโกรธของเขาเป็นความโกรธเพื่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) และความพึงพอใจของเขาเป็นความพึงพอใจเพื่ออัลลอฮฺ (ซ.บ.) เขาก็จะพบกับความสงบในจิตวิญญาณของเขา

และแน่นอน ความหมายของความพึงพอใจของพระองค์ ก็คือ การที่เขาได้ไปถึงริฎวานั้น และเขาก็ได้ก้าวเข้าสู่จุดที่ “พระองค์ทรงโปรดปรานในตัวตนของเขา” จนถึงระดับที่พระองค์ยอมให้เขาได้บรรลุจุดประสงค์โดยที่เขาไม่ต้องวอนขอ รวมถึงเขาก็พึงพอใจกับทุกการกระทำของพระองค์ ในฐานะที่การกระทำและจุดประสงค์ของเขาและอัลลอฮฺ (ซ.บ.) คือสิ่งเดียวกัน”

การกระทำที่สูงส่งทางสติปัญญา

แล้วอะไรคือ ความหมายของการกระทำที่ปราศจากนัฟซ์ล่ะ ?

เราต้องทำความรู้จักกับ “สติปัญญา” เสียก่อน

เมื่อมีสติปัญญา เราก็ย่อมสามารถขจัดนัฟซ์ของเราได้ด้วยตัวเราเอง

อย่างไรก็ดี เราต้องแยกการกระทำของเราให้ออกเช่นกัน เนื่องจากหลายครั้งที่เราคิดว่าการกระทำนั้นมาจากสติปัญญา แต่แท้จริงมันอาจกลายเป็นการกระทำที่มาจากนัฟซ์

ดังเช่น… การบริจาคของท่านนบี (ศ็อลฯ) ที่หลายครั้งเมื่อท่านนบีได้รับทรัพย์สินมา ท่านก็จะบริจาคแก่คนยากไร้จนหมด

แน่นอน หลายคนต่างหัวเราะเยาะและดูถูกการกระทำของท่าน (ดังที่เราทราบกันดีว่าบรรดามะอฺซูม ทุกการกระทำของท่านล้วนเป็นแบบฉบับและแฝงวิทยปัญญา) และนั่นคือผลลัพธ์ของนัฟซ์ ที่ทำให้คิดว่าความคิดของเขาถูกต้อง โดยมิได้พิจารณาถึงจุดประสงค์ของการกระทำนั้น ซึ่งต้องพึงระวังเพราะนี่คือ อันตรายของนัฟซ์อย่างหนึ่ง

#ท่านอิมามอะลี(อ.)ได้ #อธิบายถึงขั้นตอนการไปสู่ตำแหน่งความพึงพอใจของอัลลอฮ์(ซ.บ.) ดังนี้

  1. #การฟื้นคืนชีพของสติปัญญา(ตื่นรู้)โดยการให้สติปัญญากลับมามีชีวิตใหม่ จริงๆแล้ว ส่วนมากของมนุษย์ที่ดำเนินชีวิต “สติปัญญาของเขาตายไปแล้ว”

เราไม่ได้ดำเนินชีวิตด้วยสติปัญญาทุกขั้นตอน

ตัวอย่างที่ 1

เราวางแผนครอบครอง อยากจะรวย แบบนี้ ไม่ใช่ สติปัญญาชี้นำเพราะถ้าสติปัญญาตื่นรู้(สติปัญญามีชีวิต)มีเท่าไรเขาก็แจกหมด

ซึ่งการกระทำอันนี้ของเขา คนโดยทั่วไปจะมองว่า ผู้ให้นั้น คือ คนโง่ คนทั่วไปมองว่า การได้นั่นคือ ความฉลาด การเสียไป(หรือการให้ผู้อื่น) คือ ความโง่

ตัวอย่างที่ 2

แน่นอนว่า”มนุษย์ ถ้าเขามีสติปัญญาที่ตื่นรู้ เขาจะไม่ยอมรับ ความ อัปยศ”

ถ้าเขาต้องปฎิเสธความอัปยศ แล้วเขาจะต้องสูญเสียชีวิต

เขาก็จะยอมสูญเสียชีวิต แสดงว่า เขาคิดด้วยปัญญา เขาใช่ปัญญาเป็นผู้ตัดสิน ว่า “ตายเป็นตาย”เราต้องรักษาศักดิ์ศรี

หากเขาคิดเอาตัวรอด แสดงว่า เขาตัดสินด้วย นัฟซฺ

ดังนั้น พึงระวัง เพราะหลายสิ่ง หลายอย่าง เราอาจทำตามนัฟซูแล้วก็โยนให้สติปัญญา

ดังนั้น ถ้าจะมุ่งสู่ ความพึงพอใจของอัลลอฮ์(ซ.บ.) มุ่งสู่ มัรดอติลละห์ มุ่งสู่ ริฎวานุมมินัลลอฮ์ ต้อง อะฮ์ยา อัคลาฮู ฟื้นสติปัญญาขึ้นมาก่อน

จริงๆแล้วในโลกนี้ ไม่ว่าใคร ไม่ว่าชีวิตครอบครัว ชีวิตสังคม หรืออะไรก็ตาม ถ้าเราใช้สติปัญญาชี้นำ จะไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น เพราะปัญญา จะบอกแต่สิ่งที่ถูกต้อง อะไรควร อะไรไม่ควร มันไม่มีการขาดทุน

เมื่อฟื้นคืนชีพของสติปัญญาแล้ว สิ่งที่จะต้องทำควบคู่ไปพร้อมๆกัน คือ ต้องฆ่า นัฟซ์

  1. #ฆ่านัฟซ์ คือ ทำให้มันตาย

สงครามทั้งโลกนี้ ล้วนมาจาก นัฟซ์ทั้งสิ้น เริ่มตั้งแต่สงครามในครอบครัวก็มาจากนัฟซ์ สงครามแม่กับลูก สงครามสามีกับภรรยา สงครามระหว่างเพื่อน สงครามระหว่างพ่อกับลูก เหล่านี้มาจากนัฟซ์ทั้งสิ้น

ดังนั้น ถ้ามนุษย์ ยังติดอยู่กับ สงครามเหล่านี้ หรือถ้านัฟซ์ยังมีชีวิต สิ่งที่ไม่มีชีวิต(ตาย) คือ ปัญญา ปัญญาจะชี้นำไม่ได้ เพราะว่า นัฟซ์ยังใหญ่อยู่

#ตัวอย่างในการขจัดนัฟซ์

เมื่อท่านอิมามอาลี (อ.) ถูก อัมรู บินอับดุวุด พ่นน้ำลายใส่หน้าแล้ว ท่านก็ได้ทำการระงับความกริ้วของท่าน เพื่อมิให้ท่านถูกนัฟซ์บดบัง และได้สังหารอัมรู บินอับดุวุด เมื่อเล็งเห็นแล้วว่าสมควร

ดังนั้นหากการกระทำนั้น เป็นการกระทำภายใต้สติปัญญาอันปราศจากนัฟซ์ และแน่นอนว่าการกระทำนั้น ถือเป็นตัวอย่างความสูงส่งที่ทำให้พระองค์ทรงพึงพอพระทัยในตัวท่าน

เหมือนกับการเดินไปมาหลายๆครั้งของอิมามอาลี(อ.)ก่อนที่ท่านจะสังหาร อัมรู บินอับดุวุด

ไม่ได้หมายความว่า มนุษย์ไม่มีนัฟซู แต่อย่าให้นัฟซูมานำ ทว่าต้องให้สติปัญญา มาเป็นตัวนำ และเมื่อสติปัญญานำ สติปัญญาก็จะพาไปสู่ทางที่ถูกต้อง

ด้วยเหตุผลนี้ มนุษย์จึงต้องค่อย ๆ พัฒนาตนเองให้เหมือนอัลลอฮฺ (ซ.บ.) “ถ้าเขาโกรธ เขาก็จะโกรธในสิ่งที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงกริ้ว และถ้าเขาพึงพอใจ เขาก็จะพึงพอใจในสิ่งที่พระองค์ทรงพึงพอพระทัย”

ดังเช่น ท่านหญิงฟาติมะฮฺ (ซ.) เมื่อพระองค์ได้ยอมรับในตัวตนของพระนาง ดังนี้แล้ว “พระองค์จึงพึงพอพระทัยในทุกการกระทำของนาง”

และแน่นอนว่า หากมนุษย์เราไปถึงระดับนี้แล้วพระองค์ก็จะทรงพึงพอพระทัยในตัวตนของเขา•••

สรุปบทเรียนโดย อับบาส บุญรังสี

اللهم صل علی محمد وآل محمد وعجل فرجهم