ค่ำคืนที่ 8 รอมฎอน ฮ.ศ.1444 ตรงกับ 29 มีนาคม 2566
สอนโดย ฮุจญตุลอิสลามวัลมุสลิมีนซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี”
________________
ความยิ่งใหญ่ของเดือนรอมฎอน
เดือนรอมฎอน กล่าวได้ว่าเป็นเดือนที่มีความจำเริญเหลือคณานับ เป็นเดือนที่เอกองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงปูทางไว้ให้มนุษย์เป็นแขกของพระองค์ และได้ทรงประทานสำรับอาหารสำหรับมนุษย์เป็นพิเศษ โดยในงานเลี้ยงรับรองของพระองค์นั้นมีอาหารทุกชนิด ทุกรูปแบบ ที่จะช่วยเสริมสร้างบำรุงจิตวิญญาณให้กับมนุษย์ ชนิดที่ว่า กินเท่าไหร่ก็ไม่อิ่ม ยิ่งกินยิ่งเจริญโต
ทว่าการ “เจริญเติบโต” ในที่นี้ หมายถึง การเจริญเติบโตทางจิตวิญญาณ และวิชาการนั่นเอง…
นอกจากเดือนรอมฎอนมีความยิ่งใหญ่แล้ว เดือนรอมฎอนยังเป็นของขวัญควบพร้อมบรรยากาศอันสมบูรณ์ที่พระองค์ทรงประทานเพื่อให้มนุษย์ประสบความสำเร็จในเดือนนี้
แน่นอนว่า !!! ถ้าเราประสบความสำเร็จในเดือนนี้ เราจะปลอดภัยในอีก 11 เดือนที่ตามมา ดังนั้น เราอย่าด่วนสรุปให้เดือนรอมฎอนเป็นเดือนแห่งการอดอาหารเพียงเท่านั้น เพราะหัวใจหลักของเดือนนี้เป็นเดือนแห่งการรับประทานอาหารทางจิตวิญญาณ ซึ่งต่างจากอาหารทางวัตถุ
อาหารทางวัตถุกินแล้วอิ่ม ณ ตอนนั้น ไม่มีวันอิ่มตลอดไป
ในขณะที่อาหารทางจิตวิญญาณนั้น เป็นอาหารที่กล่าวได้ว่า “ไม่มีวันอิ่ม” ดั่งเช่น คุณงาม ความดี และ ความรู้
คุณงาม ความดี และ ความรู้
สิ่งเหล่านี้ ตั้งแต่มนุษย์ถือกำเนิด จนถึงหลุมฝังศพ แน่นอนว่ามนุษย์ไม่มีวันหยุดในการแสวงหา
ดังนี้แล้ว เดือนรอมฎอนจึงเป็นเดือนแห่ง “การแสวงหาความรู้ และคุณงามความดี” ที่เรายิ่งจะต้องแสวงหาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แล้วเราจะประสบความสำเร็จ
บทเรียน EP 6
วันนี้เรามาทำความเข้าใจความหมายของคำว่า มุสตะกอร
อาหรับ : مستقر
เป็นคำที่ปรากฎอยู่ทั้งในซิยารัต และอัลกุรอาน ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่า มีความหมายลึกซึ้งเป็นอย่างมาก
ทีนี้ ก่อนที่เราจะลงในรายละเอียด จำเป็นต้องรู้ถึงความหมายพื้นฐานของประโยค
“อะฮฺลุลเบต คือผู้ที่ مستقر ในคำสั่งของอัลลอฮ์”
ประโยคนี้กล่าวได้ว่า มีความหมายที่ยิ่งใหญ่เป็นอย่างมาก ต่อมา เรามาดูความหมายแยกย่อยขึ้นไปอีก ดังนี้
มุสตะกิรรี مستقر เป็นพหูพจน์ของคำว่าว่า มุสตะกอร مستقر
และมุสตะกอร مستقر นั้น แปลว่า ปักหลักฐาน พำนัก อยู่
รากศัพท์คือคำว่า กอรรอ قَرِّ ซึ่งมีสองความหมาย
ความหมายแรก แปลว่า เย็น สงบนิ่ง รื่นรมย์ เยือกเย็น
ความหมายที่สอง แปลว่า อยู่ ปักหลักปักฐาน มั่นคง
ต่อมา เรามาดูความหมายของคำนี้ในแต่ละโองการอัลกุรอาน
โองการแรก จากซูเราะฮฺ อัซ ซัจญะดะฮฺ โองการที่ 17
فَلَا تَعْلَمُ نَفْسٌ مَّآ اُخْفِيَ لَهُمْ مِّنْ قُرَّةِ اَعْيُنٍۚ جَزَاۤءًۢ بِمَا كَانُوْا يَعْمَلُوْنَ
อรรถาธิบาย : เอกองค์อัลลอฮฺ (ซ.บ.) ได้เปิดเผยความลับว่า ในวันกิยามัต ไม่มีใครรู้ว่าพระองค์ทรงซ่อนอะไรไว้ให้เขา เกี่ยวกับความดีที่เขาทำ ซึ่งเมื่อพวกเขาเห็นแล้ว มันช่างเป็นสิ่งที่รื่นรมย์สายตา คือ “แค่ได้เห็น ก็มีความสุข”
บริบทข้างต้น คือ หนึ่งในสองความหมาย ที่ปรากฎอยู่ในอัลกุรอาน
ต่อมา …โองการที่สอง จากซูเราะฮฺฏอฮา โองการที่ 40
فَرَجَعۡنَٰكَ إِلَىٰٓ أُمِّكَ كَيۡ تَقَرَّ عَيۡنُهَا وَلَا تَحۡزَنَۚ
อธิบายความ : พระองค์ทรงกล่าวกับนบีมูซา (อ.) ถึงชีวิตของท่าน ขณะที่ท่านลอยอยู่ในลำธารนั้น กระทั่งท่านได้กลับมา
ถามว่า : ทำไมมารดาของท่านนบีมูซา (อ.) ได้นำท่าน ขณะเป็นทารกไปใส่ไว้ในตะกร้าแล้วพาไปลอยในลำธาร แน่นอนท่านทำเช่นนี้เพื่อพาทารกน้อยคนนี้หนีจากฟิรอูน
ทว่า การพาหนีเพราะฟิรอูนจะฆ่า กลับกลายเป็นว่า ปลายทางของทารกน้อยคนนี้ คือ วังของฟิรอูน !!!
จะเห็นได้ว่า บริบทในโองการนี้ชี้ชัดว่า นี่คือ งานของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ซึ่งถ้ามารดาของท่านนบีมูซา (อ.) เป็นสตรีที่ไม่มีความศรัทธา แน่นอนนางคงยอมรับไม่ได้ที่ลูกต้องไปอยู่ในวังของฟิรอูน
ความคลาสสิกในอิสลาม
อัลลอฮ์(ซ.บ)ตรัสว่า ในเมื่อฟิรอูนอยากจะฆ่า พระองค์จึงส่งทารกน้อยให้ฟิรอูนเลี้ยงทันที จะเห็นได้ว่า แบบแผนสุดคลาสสิกนี้ อาเล็มอุลามาอฺบอกว่า “อยากฆ่าเด็กใช่ไหม อัลลอฮ์ จึงเอาเด็กคนนี้ไปใส่ในมือคนที่อยากฆ่า ตั้งแต่นั้นมา ฟิรอูนจึงได้เลี้ยงนบีมูซา (อ.)
บริบทนี้ทำให้ได้เห็นความคลาสสิกประการแรก คือ ท่านนบีมูซา(อ)ถูกเลี้ยงอย่างดีและปลอดภัยเสมอมานับแต่วัยเยาว์
ความคลาสสิกประการต่อมา คือ ในช่วงท่านนบีมูซา(อ.) เป็นทารกน้อย อัลลอฮ์(ซ.บ)ทรงปิดปากท่าน มิให้ดื่มนมจากเต้าของสตรีอื่น กระทั่งได้รับนมจากเต้าของมารดาท่านเอง โดยมีท่านหญิงอาซียะฮฺคอยชุบเลี้ยงและปกป้องท่านจากทุกวิกฤติในความสงสัยของฟิรอูน
กระทั่งเมื่อนบีมูซา (อ.) โตเป็นหนุ่มกลับมาพร้อมกับนบูวัต ท่านก็กลายเป็นผู้ที่ผันชีวิตและอำนาจของฟิรอูนจนพลิกแผ่นดิน !!! ถึงตอนนี้ ฟิรอูนโกรธมาก และได้ทวงบุญคุณว่า ไม่ใช่เจ้าหรอกหรือ ที่ฉันเลี้ยง ดูแลมาตั้งแต่เด็ก
เกร็ดความรู้เพื่อเป็นลำนำชีวิต
สิ่งที่ต้องตระหนัก ความเป็นและความตาย เป็นสิ่งที่เอก อัลลอฮ (ซ.บ)ทรงกำหนด แม้นอยู่ในมือของฟิรอูน ก็ไม่ตาย และ ไม่ต้องกลัวตาย
ตัวอย่าง ประโยคหนึ่งใน “ดุอาอฺกุเมล” กล่าวไว้ลึกซึ้งมาก ความว่า
”يَا مَنْ بِيَدِهِ نَاصِيَتِي”
( ยามันบิยะดิฮีนาซิยะตี)
“โอ้พระผู้ซึ่งชะตากรรมของทั้งหมดอยู่ในหัตถาของพระองค์”
คำอธิบาย :ในการทำความเข้าใจ การดำเนินชีวิตของท่านนบีมูซา (อ.) มิใช่ว่าอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงกำหนดให้เพียงเฉพาะท่าน ทว่าพึงรู้เถิดว่า วิถีเหล่านี้พระองค์ได้กำหนดสู่คนทั่วไปด้วยเช่นกัน เพียงแต่มิได้ให้มนุษย์ทั่วไปมีปาฏิหาริย์แยกน้ำดั่งนบีมูซา(อ)ได้ กล่าวคือ พระองค์จะทรงกำหนดอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อมาทดสอบผู้ศรัทธา และหากเขาจะยากลำบากถึงขนาดอยู่ในมือของศัตรู ภายใต้ความศรัทธาและการกำหนดของพระองค์ เขาก็จะปลอดภัย และได้รับรางวัลอันยิ่งใหญ่
และแน่นอนว่า ในชีวิตของเรานั้น เราสามารถคิดได้ วางแผนได้…
แต่คนที่จะกำหนดนั้นคือ อัลลอฮฺ (ซ.บ.)
ฉะนั้น เราจะวางแผนอะไรก็ตาม ถ้าอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ไม่กำหนดให้ มันก็ไม่เป็นไปตามแผน
อย่างไรก็ตาม อย่าได้คิดว่า ถ้าเป็นเช่นนี้เราไม่ต้องวางแผน!!! ซึ่งแน่นอน เราวางแผนได้ แต่ไม่ต้องพะวงว่ามันจะประสบความสำเร็จไหม ? ถ้าอัลลอฮฺให้สำเร็จ มันก็สำเร็จ
กลับมาดูความหมายของซูเราะฮฺฏอฮา โองการที่ 40 อีกครั้งหนึ่ง
——————
إِذْ تَمْشِي أُخْتُكَ فَتَقُولُ هَلْ أَدُلُّكُمْ عَلَىٰ مَن يَكْفُلُهُ ۖ فَرَجَعْنَاكَ إِلَىٰ أُمِّكَ كَيْ تَقَرَّ عَيْنُهَا وَلَا تَحْزَنَ ۚ وَقَتَلْتَ نَفْسًا فَنَجَّيْنَاكَ مِنَ الْغَمِّ وَفَتَنَّاكَ فُتُونًا ۚ فَلَبِثْتَ سِنِينَ فِي أَهْلِ مَدْيَنَ ثُمَّ جِئْتَ عَلَىٰ قَدَرٍ يَا مُوسَىٰ
ความว่า : เมื่อพี่สาวของเจ้าเดินไป เธอได้พูด(กับพวกนั้น)ว่า ฉันจะชี้แนะผู้ที่เลี้ยงดูเขาแก่พวกท่านไหม? แล้วเราให้เจ้ากับไปหามารดาของเจ้า เพื่อที่จะได้เป็นที่รื่นรมณ์แก่สายตาของนางและไม่เศร้าโศกและเจ้าได้ฆ่าชายคนหนึ่ง แล้วเราได้ช่วยเจ้าให้พ้นจากความหนักใจ และเราได้ทดสอบเจ้าด้วยการทดสอบนานาชนิด แล้วเจ้าได้พำนักอยู่กับชาวมัดยันเป็นเวลาหลายปี ภายหลังเจ้าได้กลับมาตามกำหนด โอ้ มูซาเอ๋ย !
คำอธิบาย : เราได้นำเจ้ากลับไปหามารดา เพื่อจะให้เป็นที่รื่นรมย์แก่สายตาของนาง
ดังนั้น قَرَّ ในความหมายแรก จึงหมายถึง ความรื่นรมย์ทางสายตา ดังเช่นที่ท่านศาสดามูฮัมหมัด (ศ็อลฯ) ได้มองไปยังท่านหญิงฟาติมะฮฺ (ซ.) ประดุจแก้วตาดวงใจของท่าน
ต่อมา تقر ในความหมายที่สอง คือ ปักหลัก ปักฐาน อยู่ มั่นคง
ทีนี้ เรามาพิจารณา คำว่า ( قَرَّ) จากอายะอฺอัลกุรอานอีกหนึ่งซูเราะฮ์
ซูเราะฮฺอัลอะฮฺซาบ โองการที่ 33
وَقَرْنَ فِيْ بُيُوْتِكُنَّ
ความว่า : จงอยู่ให้เป็นที่ อย่าได้ออกไปข้างนอก เหมือนกับการออกไปในสมัยญาฮิลิยะอฺ
ในที่นี้ قَرْنَ หมายถึง การอยู่ ปักหลักปักฐาน อยู่อย่างสงบนิ่งในที่หนึ่ง
จากซูเราะฮฺนี้ ชี้ว่า นี่คือคำสั่งต่ออุมมุลมุอฺมินีนทั้งหลาย
“พวกเจ้าจงอยู่ในบ้านให้เป็นที่เป็นทาง อย่าออกไปไหน เพื่อมิให้ภรรยาของท่านย้ายที่อยู่”
ต่อมา ได้มีภรรยาถามด้วยความสงสัยในคำสั่งนี้
ท่านนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ)ได้กล่าวว่า
“หลังจากฉันไม่อยู่ จะมีฟิตนะฮฺหนึ่งเกิดขึ้นกับ ภรรยาของฉันคนหนึ่ง นางจะถูกหลอกไปร่วมสงคราม กระทั่งนางจะถูกสุนัขแห่งหมู่บ้านเอาอับเห่า ดังนั้น ใครก็ตามในภรรยาของฉันที่ถูกสุนัขแห่งเอาอับเห่า จงรีบกลับมาเสีย เพราะฟิตนะฮฺนั้นอาจจะยังสามารถหยุดยั้งได้”
“และแน่นอน ฉันกลัวว่าจะเป็นเธอ อาอิชะฮฺ”
ทว่า เมื่อกาลเวลาผ่านไป ในที่สุดมันได้เกิดขึ้นจริง เมื่อครานั้นท่านหญิงได้ตกอยู่ในสถานการณ์นั้น และพบว่ามันเป็นจริงแล้ว ท่านหญิงก็ได้ฉุกคิด ทว่าการหยุดยั้งฟิตนะอฺนั้นได้สายไปเสียแล้ว
ต่อมา ซูเราะอฺอัลฟุรกอน โองการที่ 76
خَٰلِدِينَ فِيهَاۚ حَسُنَتۡ مُسۡتَقَرّٗا وَمُقَامٗا
พระองค์ได้ทรงพูดถึงสรวงสวรรค์
ที่ที่พวกเราจะได้ “พำนักอย่างถาวร อย่างรื่นรมย์” مُسۡتَقَرّٗا
โดยปกติ ตลอดชีวิตมนุษย์นั้นจะต้องมีการเคลื่อนย้ายอยู่ตลอดเวลา ย้ายในที่นี้ไม่ใช่เพียงย้ายที่ แต่รวมถึงย้ายอาลัม เช่น ตั้งแต่อาลัมท้องมารดา อาลัมไขสันหลังบิดา มาจนถึงอาลัมดุนยา ก่อนไปสู่อาลัมบัรซัค
และเมื่อเราออกจากอาลัมบัรซัคแล้ว จะมีเพียงสองที่ที่เราต้องไปต่อ คือ นรก และสวรรค์ และแน่นอน ถ้าเป็นสวรรค์ นั่นก็จะเป็นที่พำนักอย่างถาวร ไม่ย้ายไปไหนอีก
และนี่คือความหมายของมุสตะกอรรอ مستقر
เพื่อจะชี้ว่า อะอฺลุลเบต คือ กลุ่มชนที่ مستقر
นั่นคือ “อยู่” ในคำสั่งของอัลลอฮฺ (ซ.บ.)
นั่นคือผู้ที่พร้อมจะปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะคำสั่งใด โดยปราศจากการขัดขืน
ความหมายนั้นกล่าวได้ว่าอยู่ในนามธรรม มิใช่รูปธรรม
และแน่นอน เรามิได้พูดถึงความหมายเดียว แต่เป็นการรวมกันของสองความหมาย
อย่างไรก็ดี ในบางครั้งอาจมีคำถามว่า ทำไมจึงต้องใช้คำว่า مستقر ไม่ใช้คำว่า طاعت
นั่นเป็นเพราะว่า مستقر นั้น คือการทำตาม รับคำสั่งอย่างมีความสุข
ดังความหมายในซูเราะฮฺ อัลฟุรกอน โองการที่ 76 ที่หมายความว่า การมองอย่างรื่นรมย์ในภาษาอาหรับ ส่วนในเปอร์เซีย ดวงตา เป็นการให้ความหมายเชิงสัญลักษณ์ คือ การมอง หรือรับรู้อย่างมีความสุข
นอกจากนั้น ในความหมายที่สอง ยังช่วยเสริมถึงความมั่นคงและไม่เปลี่ยนแปลงอีกด้วย
ดังนั้น หากจะกล่าวโดยสรุป
อะฮฺลุลเบตคือผู้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) อย่างเต็มหัวใจ และปราศจากการขัดคำสั่งแม้แต่น้อย
นี่คือ ความล้ำลึกของคำว่า مستقر ที่อะอฺลุลเบตมีต่อพระองค์นั่นเอง
เรามาเสริมอีกหนึ่งริวายัตจากท่านอิมามญะอฺฟัร อัศศอดิก (อ.)อ้างอิงจากบิฮารุลอันวาร เล่มที่ 66 หน้าที่223
ماكان من الايمان المستقرفمستقرالى يوم القيامة
คำอธิบาย : ท่านอิมาม ญะฟัร อัศศอดิก (อ.) ได้นำ คำว่า มุสตะกอร และ มุสเตาดะอฺ (مستودعا) มากล่าวถึงอิหม่านของมนุษย์
มุสเตาวดะอฺ (مستودعا) เป็นคำตรงข้ามของมุสตะกอร แปลว่า ไม่มั่นคง, ฝากเอาไว้, ไม่หนักแน่น
ผู้ที่มีอิหม่านแบบ مستقر
(มุสตะกอร)หรือ ผู้ที่มีอิหม่านมั่นคง) อิหม่านของเขาก็จะอยู่อย่างมั่นคง และเขาจะมีความสุขในการนับถือศาสนาตลอดกาล จนถึงวันกียามะฮ์
ส่วนผู้ที่มีอีหม่านแบบ مستودع (มุสเตาวดะอฺ)
อัลลอฮ์(ซ.บ.)จะทรง سلبه ปฎิเสธ หรือ ทำให้มันหมดไป
قبل الممات
และก่อนตาย อิมานของเขาจะหมดไป
การอธิบายให้เข้าใจง่าย
บุคคลใดที่มีอีหม่านแบบ مستودع อีหม่านแบบนี้ ปลิวก่อนตาย อย่าว่าแต่จะพาไปอะลัม บัรซัค
ดังนั้น วันใดที่เรานับถือศาสนาแล้วรู้สึกมีทุกข์ พึงระวัง มันจะปลิว
บุคคลใดที่มีอีหม่านมั่นคงและมีความสุขที่ได้นับถือศาสนา นั่นแสดงว่า เขา مستقر แล้ว
ดังนี้แล้ว อีหม่านที่ مستقر (มุสตะกอร) จึงอยู่ที่ อะฮ์ลุลบัยต์(อ.)
และนี่คือความหมายของมุสตะกอรในอิหม่านของชาวอะฮฺลุลเบต”
บทสรุปปิดท้าย ถ้าจะนับถือศาสนาให้อยู่รอดจนถึงวันกียามะฮ์ จงนับถือศาสนาอย่างมีความสุข•••
สรุปบทเรียนโดย อับบาส บุญรังสี
เรียบเรียงเพิ่มเติมโดย Hajjah Wanya