อัลฮัมดุลิลละฮฺขอชุโกรในเนียะมัตและเตาฟีกในคำคืนนี้ ค่ำคืนที่ยิ่งใหญ่ ค่ำคืนที่ในประวัติศาสตร์อิสลามได้สร้างความกระจ่างชัดและกระจ่างแจ้งเกี่ยวกับสถานภาพของทายาทของท่านรอซูลุลลอฮฺ(ซล)ที่ได้ถูกประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่งโดยอัลลอฮฺ(ซบ) และรอซูลุลลอฮฺ(ซล) เพื่อป้องกันการหลงทางของประชาชาติอิสลามหลังจากการจากไปของท่าน
ค่ำคืนนี้เป็นค่ำคืน “มุบาฮะละฮฺ” ซึ่งโองการหนึ่งในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานที่ได้ถูกขนานนาม ว่า “โองการมุบาฮะละฮฺ” ถูกประทานลงมา นั้นคือโองการที่ 61 ซูเราะฮฺ อาลิอิมรอม
โองการอัลกุรอานจำนวนมากมีชื่อเฉพาะอันเป็นการบ่งบอกถึงสถานะภาพและเรื่องราวต่างๆของแต่ละโองการที่ถูกประทานมาให้แก่ประชาชาติมุสลิม โองการมุบาฮะละฮฺก็เป็นอีกโองการหนึ่งที่ถูกประทานลงมาจากอัลลอฮฺ(ซบ)ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญหนึ่งในประวัติศาสตร์อิสลาม
ลำดับเหตุการณ์
โองการนี้ถูกประทานลงมาหลังจากการพิชิตมักกะฮฺ ในฮิจญเราะฮฺศักราชที่เก้า เป็นชัยชนะของกองทัพอิสลามอย่างสมบูรณ์ในแผ่นดินฮิญาซ ซึ่งแผ่นดินฮิญาซในวันนั้นก็รวมบางส่วนของบาห์เรนและคูเวตในยุคปัจจุบันและประเทศข้างเคียงอีกหลายประเทศ ซึ่งมีนครมะดีนะฮฺเป็นศูนย์กลางและหัวเมืองสำคัญ หลังจากการพิชิตมักกะฮฺท่านนบี(ซล)ได้สถาปนาอิสลามอันยิ่งใหญ่ปกครองเหนือแผ่นดินฮิญาซ และเมื่อประชาชาติอิสลามที่เข้มแข็งได้เกิดขึ้น โองการต่างๆในอัลกุรอานที่ชี้ให้เห็นถึงอำนาจของรัฐอิสลามก็ทยอยประทานลงมา……
หนึ่งในโองการสำคัญที่นำไปสู่การมุบาฮะละฮฺ คือโองการที่อัลลอฮฺ(ซบ)สั่งให้ท่านนบีทำสงครามกับกาเฟรมุชริกีนทุก กลุ่มที่อยู่ในแผ่นดินอิสลามเพื่อให้เข้ารับอิสลามหรือจ่ายญิซยะฮฺ(ภาษีอิสลาม)
ประเภทของกาเฟร
อิสลามได้แบ่งกาเฟรเป็นสองกลุ่ม ซึ่งเป็นการแบ่งตามมาตรฐานของการปกครอง คือ “การเฟรฮัรบี” และ “กาเฟรซิมมี” กาเฟรฮัรบี คือ กาเฟรที่อยู่ในฮุกุมเป็นคู่สงคราม ซึ่งชีวิตและทรัพย์สินของเขาจะไม่ได้รับการปกป้องจากรัฐบาลอิสลาม ส่วนกาเฟรซิมมี มีเงื่อนไขหลักสามประการที่สำคัญคือ
1. ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของแผ่นดินอิสลาม
2. ไม่กระทำการใดๆที่เป็นการบ่อนทำลายสังคมอิสลามไม่ว่า พฤติกรรมและการกระทำใดๆ เช่น เป็นสายลับของศัตรูอิสลาม หรือชักชวนมุสลิมไปทำบาป ไม่ว่าจะเป็นการดื่มเหล้า ทำซินา ฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ของอัลลอฮฺ(ซบ)
3. การจ่ายภาษีเพื่อที่จะได้รับการคุ้มครอง หรือเรียกได้ว่าเป็นการเก็บภาษีอิสลามที่กาเฟรซิมมีจะต้องจ่ายให้กับรัฐบาลอิสลาม และจากการเก็บภาษีอันนี้จะทำให้ชีวิตและทรัพย์สินของกาเฟรซิมมีได้รับการคุ้มครองจากอิสลาม ไม่มีใครมีสิทธิ์ไปละเมิดชีวิตและทรัพย์สินของเขา ภาษีประเภทนี้เรียกว่า “ญิซยะฮฺ” ภาษีที่กาเฟรจ่ายเพื่อรับการคุ้มครองเมื่อเขาอยู่ในแผ่นดินอิสลาม
รายละเอียดของโองการนี้นั้นมีอย่างมากมาย ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของอิสลามและภาพลักษณ์ของอิสลามที่อัลลอฮฺ(ซบ)ทรงวาดให้เห็นไว้ เพราะโองการสุดท้ายที่อธิบายไว้นั้น เขาจะต้องจ่ายญิซยะฮฺอย่างนอบน้อมถ่อมตน ไม่ใช่จ่ายแบบตะกับโบรฺและความอหังการ
ปีแห่งการพบเจอและการเจรจา
เมื่อโองการนี้ถูกประทานลงมา ท่านนบีก็ได้มีการเจรจากับกลุ่มชนต่างๆ รวมทั้งผู้ที่รับอิสลาม มุชริกีน และอะฮฺลุล กิตาบ(ชาวคัมภีร์)
ในฮิจญเราะฮฺที่เก้า มีกองคาราวานต่างๆเข้าเมืองมะดีนะฮฺเพื่อเข้าพบกับท่านนบีผู้นำรัฐอิสลามที่ยิ่งใหญ่ในวันนั้น มีการเจรจา ถกปัญหา และต่อรองอะไรต่างๆอย่างมากมาย มีหลายคณะหลายขบวนได้ทำการรายงานตัว บางกลุ่มก็เข้ามารับอิสลามเป็นกลุ่มก้อนเป็นเผ่า เป็นหัวเมืองต่างๆ จนกระทั้งนักประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่าปีนี้ เป็น “ปีแห่งการพบเจอและการเจรจา”
เมื่อท่านนบี(ซล)ได้ส่งสาสน์ไปยังหัวเมืองต่างๆในแผ่นฮิญาซ (ชายแดนบาห์เรนในปัจจุบัน) มีเมืองๆหนึ่งเป็นเมืองที่ไม่ใหญ่มาก ชื่อว่าเมือง “นัจญรอน” ซึ่งเป็นถิ่นอาศัยของคริสต์เตียนจำนวนมาก ซึ่งอัลลอฮฺ(ซบ)ได้มีคำสั่งไว้ว่าบุคคลที่อยู่ภายใต้การปกครองของอิสลามมีทางเลือกอยู่สองทาง คือ 1.รับอิสลาม หรือ 2. ยอมจ่ายญิซยะฮฺ(ภาษีอิสลาม) เมื่อสาส์นของท่านบีได้ไปถึงชาวคริสต์เตียนแห่งเมืองนัจญรอน ซึ่งได้ส่งสาส์นไปยังหัวหน้าสูงสุดของคริสต์เตียนในเมืองนั้น โดยได้เขียนไปในนามของศาสดาของพระผู้เป็นเจ้าแห่งอิบรอฮีม….. ในนามศาสดาของพระผู้เป็นเจ้าของ มูซา…… ในนามศาสดาแห่งพระผู้เป็นเจ้าแห่งอีซาของบรรดาศาสดาต่างๆที่ชาวคริสต์เชื่อและศรัทธา เมื่อสาส์นของท่านนบีไปถึงชาวคริสต์เตียน พวกเขาก็ได้ปรึกษากันว่าจะทำอย่างไร ? เมื่อได้ตกลงกันแล้ว สิ่งหนึ่งที่พวกเขาเชื่อคือ มุฮัมมัด(ซล)เป็นบุรุษแห่งเหตุและผล มุฮัมมัด(ซล)ไม่ใช่บุคคลที่เผด็จการที่อยู่ในลักษณะของทรราช ก็ได้มีการตกลงกันว่าเราจะไปพบกับท่าน เพราะชาวคริสต์เตียนก็มีความมั่นใจในความรู้ของพวกเขา สามารถคุยกันด้วยเหตุและผล และสามารถที่จะทำให้เราชนะด้วยเหตุและผลได้และมุฮัมมัด(ซล)ก็ไม่มีความชอบธรรมใดๆในการใช้อำนาจใดๆได้
การที่พวกเขากล้ามาถกกับท่านนบี เพราะพวกเขารู้ในบุคลิกภาพของท่านนบี(ซล)เป็นอย่างดี ว่าท่านเป็นผู้นำที่มีความเมตตา ไม่ใช่เป็นผู้นำในลักษณะที่กระหายเลือด ซึ่งในเรื่องนี้มีรายละเอียดที่ควรแก่การศึกษาค้นคว้าเป็นอย่างมาก อิสลามไม่ได้เป็นศาสนาที่เผยแพร่ด้วยคมดาบ ….ไม่ใช่ศาสนาที่บังคับศรัทธา ในสาส์นของท่านนบีเราก็เห็นเสนอทางเลือกให้สองทาง ถ้ายังไม่รับอิสลามเพราะยังไม่สามารถที่จะเข้าใจได้และไม่สามารถที่จะศรัทธาได้ก็จงจ่าย ญิซยะฮฺ เท่านั้นเอง เมื่ออยู่ในแผ่นดินนี้แล้วก็ต้องยอมรับสิ่งหนึ่งสิ่งใด ดังนั้นเมื่อได้ตกลงกันแล้วว่าจะไปพบเจอคุยและถกกันด้วยเหตุด้วยผล ด้วยหลักฐาน ชาวคริสต์เตียนก็ได้จัดกองคาราวานของพวกเขา ประดับประดาจัดทิวแถว มีการแต่งตัวด้วยชุดที่สวยงาม มีการคลุมผ้าทองคำ โอ้อวดศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจของพวกเขา เพื่อเป็นการข่มขวัญและเสริมบารมีอะไรต่างๆ แล้วก็ได้มุ่งสู่เมืองมะดีนะฮฺ
เริ่มการถกเสวนา
ในการพบปะเบื้องต้นก็ไม่มีการตอบโต้ใดๆ พวกเขาได้ถามท่านนบีว่า ในเมื่อศาสนาของท่านเป็นศาสนาแห่งเหตุและผล แล้วทำไมท่านจึงยื่นคำขาดให้แก่เราในลักษณะเช่นนี้ เราต้องมาคุยกันก่อนว่า สัจธรรมนั้นอยู่กับท่านหรือว่าสัจธรรมนั้นอยู่กับเรา….!!! ไฉนท่านได้เสนอทางเลือกให้กับเราว่าจะยอมรับอิสลามหรือว่ายอมจ่ายญิซยะฮฺ โดยไม่มีการพูดคุยเลยกระนั้นหรือ
ในบางริวายัตรายงานว่าได้มีการถกกันเป็นเวลาหลายวัน ท่านนบี(ซล)ก็ได้ยกหลักฐานจนทำให้หลักฐานของพวกเขานั้นเป็นเท็จ หนึ่งในเนื้อหาและเรื่องราวในการถกที่มีอยู่ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน คือเรื่องของท่านนบีอีซา(อ) ที่ไม่ใช่บุตรของอัลลอฮฺ เราอยู่ในยุคปัจจุบันถือว่ามันเป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้อย่างง่ายดาย แต่ทำไมชาวคริสต์เตียนในยุคนั้นจึงเข้าใจกันอย่างยากลำบาก อัลกุรอานก็ถูกประทานลงมาให้ท่านนบีตอบกับชาวคริสต์เตียนแห่งเมืองนัจญรอน
เมื่อถามว่าทำไมจึงเชื่อว่าอีซาเป็นบุตรของพระเจ้า? พวกเขาก็ให้คำตอบว่า อีซา(อ)เกิดมาบนโลกนี้โดยไม่มีบิดา หรือว่ามุสลิมเชื่อว่านบีอีซามีพ่อ ก็ไม่ใช่……!! มุสลิมก็เชื่อว่านบีอีซา(อ)ไม่มีพ่อ โองการก็ได้ถูกประทานลงมา
إِنَّ مَثَلَ عِيسَىٰ عِندَ اللَّهِ كَمَثَلِ آدَمَ
ความว่า แท้จริงอุปมาของอีซานั้นดั่งอุปมัยของอาดัม (ซูเราะหฺ อาลิอิมรอน โองการ 59 )
ถ้าหากคนที่เกิดมาโดยไม่มีพ่อเป็นพระบุตรของพระเจ้าแล้ว คนที่สมควรเป็นพระบุตรของพระเจ้ามากกว่าคือนบีอาดัม เพราะนบีอาดัมถือกำเนิดมาโดยไม่มีทั้งพ่อและแม่ ส่วนท่านนบีอีซา(อ)ถึงแม้ไม่มีพ่อแต่ก็ยังมีแม่ที่ให้กำเนิด นี่คือหนึ่งในตัวอย่างของการถก แต่เรื่องราวจริงๆของการถกนั้นเป็นการถกด้วยเหตุและผลจนกระทั่งไปถึงจุดหนึ่งเมื่อเริ่มถกกันด้วยเหตุและผลไม่ได้ผล นั้นหมายความว่าคริสต์เตียนที่มี ปณิพานว่าจะถกกันด้วยเหตุและผล และรู้ว่าเหตุและผลของพวกเขาเริ่มใช้ไม่ได้
ในบางครั้งเหตุผลไม่ใช่เครื่องยืนยันถึงความถูกต้องเสมอไป….. !! นี่เป็นจุดหนึ่งที่สำคัญของโองการนี้ บางครั้งมนุษย์คิดว่าตัวเองสามารถให้เหตุผลได้ในการกระทำของเขา ไม่ได้หมายความว่าเขาจะถูกต้องเสมอไป เพราะเหตุผลมันมีทั้งเหตุผลที่ถูกและผิด ถ้าเราสังเกตจะเห็นว่าบางครั้งบรรดามุฟัซซิรีน(นักอรรถาธิบายอัลกุรอาน)ที่มีความละเอียดอ่อนในการอรรถาธิบายอัลกุรอานกล่าวว่า ทำไมในโองการนี้อัลลอฮฺ(ซบ) ถึงใช้คำว่า “ฟะมันฮาญะกะ” ก็หมายถึง “การขอเหตุผล” ซึ่งคำนี้ตามอัลกุรอานแล้วมีทั้ง ฮุจญัต (เหตุผล)ที่ถูกและเหตุผลที่ผิด ดังนั้นคริสต์เตียนที่จะถกกับท่านนบีนั้น ในเบื้องต้นเขาคิดว่าเหตุผลของเขานั้นถูกต้อง แต่เมื่อได้ทำการถกกับท่านนบีมุฮัมมัด(ซล) กลับพบว่าเหตุผลของเขานั้นอ่อนแอและไม่ถูกต้องก็เริ่มพาล จนกระทั่งไปถึงจุดหนึ่งเมื่อท่านนบียกเหตุผลและหลักฐานก็เริ่มมีการกล่าวหา
เป็นเรื่องง่ายของคนที่ปฏิเสธสัจธรรมเมื่ออยู่คนเดียวนั้นอาจจะคิดว่าเหตุผลของตัวเองนั้นดีกว่า เก่งกาจและอาจชนะฝ่ายตรงข้ามได้ แต่เมื่อเจอกับเหตุผลที่ดีกว่า หรือเมื่อเจอกับเหตุผลที่ถูกต้องสมบูรณ์กว่า บุคคลเหล่านี้ก็เริ่มพาล เริ่มที่จะกล่าวหาและใส่ร้าย
ติดตามอ่านต่อ สาบานพิสุทธิ์ (ตอนที่ 2)